การเมือง 3 เส้า เรื่องน้ำมัน
ข่าวผู้นำสหรัฐฯ และรัสเซียเห็นพ้องกันในการจัดการเจรจาเพื่อรักษาเสถียรภาพของตลาดน้ำมัน ส่งผลให้สัญญาน้ำมันดิบ WTI ที่ทำท่าจะหลุดต่ำกว่า 20 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ทำท่ากระเตื้องเพิ่มขึ้น เล็กน้อย
พลวัตปี 2020 : วิษณุ โชลิตกุล
ข่าวผู้นำสหรัฐฯ และรัสเซียเห็นพ้องกันในการจัดการเจรจาเพื่อรักษาเสถียรภาพของตลาดน้ำมัน ส่งผลให้สัญญาน้ำมันดิบ WTI ที่ทำท่าจะหลุดต่ำกว่า 20 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ทำท่ากระเตื้องเพิ่มขึ้น เล็กน้อย
ในทางกลับกันข่าวเกี่ยวกับภาวะสต๊อกน้ำมันดิบของสหรัฐฯ พุ่งขึ้นติดต่อกันเป็นสัปดาห์ที่ 10 เพราะผลพวงจากการใช้มาตรการที่เข้มข้นขึ้นของรัฐบาลสหรัฐฯ หลังจากทำเนียบขาวได้ออกรายงานคาดการณ์ว่า ชาวอเมริกันอาจเสียชีวิตจากโควิด-19 สูงถึง 100,000-240,000 ราย แม้ว่ารัฐต่าง ๆ ในสหรัฐฯ ได้ประกาศมาตรการให้ประชาชนเว้นระยะห่างทางสังคมแล้วก็ตาม
ราคาที่ร่วงลงต่ำสุดในรอบ 18 ปีของน้ำมันดิบ อาจจะฟื้นตัวได้หากผลลัพธ์เชิงบวกของความพยายามเลิกการทำสงครามราคาน้ำมันยุติลง แต่ไม่ง่ายเพราะตัวแปรที่สำคัญคือสหรัฐฯ ซาอุดีอาระเบีย และรัสเซียยังไม่สามารถหาข้อยุติได้
คำประกาศเมื่อต้นสัปดาห์จากทำเนียบเครมลินว่า ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐฯ และประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย เห็นพ้องกันในการจัดการเจรจาเพื่อรักษาเสถียรภาพของตลาดน้ำมัน โดยเจ้าหน้าที่ด้านพลังงานของทั้งสองประเทศจะจัดการเจรจาเกี่ยวกับภาวะตลาดน้ำมัน หลังจากราคาดิ่งลงแตะระดับต่ำสุดรอบ 18 ปียัง ไม่ใช่ข้อยุติอยู่ดี หากพิจาณาเงื่อนไขของทางออก
ตลอดเดือนมีนาคมที่ผ่านมา สัญญาน้ำมันดิบ WTI ร่วงลง 54.2% ซึ่งเป็นการร่วงลงในระยะเวลาหนึ่งเดือนที่รุนแรงที่สุดนับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2551 และหากพิจารณาไตรมาส 1/2563 ราคาดิ่งลง 66.5% หนักสุดนับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2526 หรือในรอบ 37 ปี ทำให้ผู้ผลิตน้ำมันเชลล์ออยล์ของสหรัฐฯ ยามนี้ขาดทุนอย่างรุนแรงถึงขั้นล้มระเนระนาด เพราะมีต้นทุน break-even โดยเฉลี่ยอยู่ที่ $36.50 ต่อบาร์เรล เนื่องจากแนวโน้มประสิทธิภาพการผลิตน้ำมันลดลง ส่งผลให้บทบาทของน้ำมันเชลล์ ในการเป็นตัวนำการขยายตัวของปริมาณการผลิตของสหรัฐฯ เริ่มหมดไป
ถ้าอเมริกาต้องการให้อุตสาหกรรมเชลล์ออยล์เป็นอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ การต่อรองให้เลิกสงครามราคาน้ำมันก็จำเป็น แต่จะทำได้ เป็นเรื่องแสนเข็ญ เพราะนอกจากการโน้มน้าวรัสเซียแล้ว ยังต้องหารือผลประโยชน์กับซาอุดีอาระเบีย ที่มีน้ำมันสำรองมากที่สุดเป็นอันดับ 2 ของโลก ที่กำลังเข้าตาจนเพราะรายได้จากน้ำมันหดหายไปมาก
หลังจากใช้มาตรการให้ชาติส่งออกน้ำมันลดการส่งออก ซาอุดีอาระเบียจำต้องเสียส่วนแบ่งในตลาดโลก ผลิตน้ำมันได้เพียงประมาณ 9-10 ล้านบาร์เรล/วัน หรืออันดับ 3 ของโลก ทำให้ภาระทางการคลังมีปัญหาไม่น้อย การยอมเลิกสงครามราคาน้ำมัน โดยไม่ได้อะไรติดมือเลย ย่อมยากเย็นพอสมควร
ส่วนรัสเซีย ซึ่งแหล่งน้ำมันมีปริมาณน้ำมันสำรองอยู่ประมาณ 1 แสนล้านบาร์เรล ล่าสุดมีกำลังการผลิตมากถึง 11 ล้านบาร์เรล/วัน เหนือกว่าซาอุดีอาระเบีย ทำให้หลายปีมานี้กลายเป็นประเทศผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่ของโลก และที่สำคัญมีต้นทุนการทางผลิตต่ำกว่า อีกทั้งยังไม่ได้อยู่ในกลุ่มโอเปก ต้องการให้สหรัฐฯ ยกเลิกการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ (จากกรณียูเครนหลายปีก่อน) แต่สหรัฐฯ ก็ยังยืนกรานไม่อ่อนข้อมาตลอด กำลังสบช่องต้องการใช้การเมืองน้ำมันให้เป็นประโยชน์
สงครามราคาที่จะยุติลง โดยที่รัสเซีย (ซึ่งเป็นชาติที่สร้างปมให้เกิดสงครามราคาน้ำมันครั้งล่าสุด) จะได้ประโยชน์สูงสุด เป็น “หนามคาใจ” พันธมิตรเก่าแก่ สหรัฐฯ-ซาอุดีอาระเบียอย่างยิ่ง
สหรัฐฯจะต้องเสียฟอร์มอย่างหนักหากยกเลิกคว่ำบาตรรัสเซีย ส่วนซาอุดีอาระเบียจะไม่สามารถมีอำนาจเหนือตลาดน้ำมันดิบเท่าเดิม เป็นเดิมพันที่สุ่มเสี่ยงไม่น้อย
รากเหง้าและเบื้องหลังความยิ่งใหญ่ของสหรัฐฯ (โดยผ่านค่าดอลลาร์) และซาอุดีอาระเบีย เริ่มต้นจากการถือกำเนิดของ ปิโตรดอลลาร์ ท่ามกลางวิกฤตน้ำมันครั้งแรก ค.ศ. 1973 หรือ พ.ศ. 2516 ซึ่งตัวแทนรัฐบาลและกลุ่มทุนอเมริกัน ทำการเจรจาลับกับรัฐบาลราชวงศ์ซาอูด ของประเทศซาอุดีอาระเบียเรียกกันว่าข้อตกลงร่วมมือทางเศรษฐกิจ U.S.-Saudi Arabian Joint Economic Commission โดยมีเงื่อนไขสำคัญว่า อเมริกาจะให้ความร่วมมือช่วยเหลือทางด้านเทคโนโลยีการผลิตน้ำมัน และทางทหารเพื่อปกป้องราชวงศ์ซาอูดให้อยู่ในอำนาจไปยาวนาน แลกกับการที่ซาอุฯ จะยอมขายน้ำมันให้กับสหรัฐฯ หรือบริษัทอเมริกัน หรือชาติอื่น ๆ ในรูปเงินดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งแล้วซาอุฯ ในฐานะที่เป็นแกนกลาง ก็โน้มน้าวให้ชาติสมาชิกโอเปกยินยอมขายน้ำมันสู่ตลาดโลกโดยใช้เงินดอลลาร์สหรัฐเป็นตัวกลางซื้อขายและซาอุฯ จะนำเงินทุนสำรองเงินตราระหว่างประเทศที่ล้นเกินไปซื้อพันธบัตรรัฐบาลอเมริกัน
ผลดีคือ ซาอุฯ ไม่มีปัญหาเงินเฟ้อ ส่วนอเมริกาสามารถก่อหนี้ได้เต็มที่ และรักษาดุลชำระเงินให้เป็นบวกตลอดเวลา (แม้ว่าจะมีภาวะ 3 ขาดดุล ประกอบด้วย ดุลการค้า ดุลบัญชีเงินสะพัด และดุลบัญชีงบประมาณ ในบางช่วง) ผ่านการซื้อพันธบัตร ตราสารหนี้บริษัทอเมริกัน หุ้น รวมทั้ง กิจการ ธนาคาร สถาบันการเงินและอสังหาริมทรัพย์
การที่กลุ่มโอเปกให้การซื้อขายน้ำมันในรูปดอลลาร์ มีผลทำให้มาตรฐานราคาน้ำมันโลก เป็นมาตรฐานดอลลาร์โดยปริยาย
ดอลลาร์สหรัฐกลายเป็นเงินสากลสำหรับธุรกิจพลังงานโดยอัตโนมัติ และไม่มีสกุลเงินไหนท้าทายค่าดอลลาร์ได้
ผลข้างเคียงที่ตามมา คือนอกจากเฟด จะเป็นธนาคารกลางที่มีอำนาจครอบงำโลก จากความสามารถของสหรัฐฯ ในการออกแบบให้ ค่าดอลลาร์สหรัฐเปลี่ยนสภาพจาก “เงินเลว” กลายเป็น “เงินดี” ที่โลกไม่สามารถปฏิเสธได้ แล้วยังทำให้ซาอุฯ เป็น “พันธมิตรที่ผิดฝาผิดตัว” ของอเมริกาโดยปริยาย
ไม่ว่าสงครามราคาน้ำมันดิบจะยุติลงอย่างไร หลังการเจรจาทรัมป์-ปูติน แต่เชื่อขนมกินไว้ก่อนว่า โลกอาจเกิดอาการเหวี่ยงแรงอีกครั้ง โดยมีรัสเซียบงการอยู่เบื้องหลัง ทำนองทฤษฎีสมคบคิด
เรื่องจะไม่มีอะไรเกิดขึ้นเลยเป็นไปไม่ได้