พาราสาวะถี
เริ่มกันไปแล้วตั้งแต่วันที่ 3 เมษายนที่ผ่านมากับประกาศเคอร์ฟิวห้ามออกจากเคหสถานตั้งแต่เวลาสี่ทุ่มถึงตีสี่ทั่วประเทศ เพื่อหวังสกัดตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 ให้ลดน้อยถอยลง อ่านสัญญาณจากการแถลงรายวันก็พอจะประเมินได้ว่าแนวโน้มน่าจะดีขึ้น เนื่องจากกลุ่มแพร่และรับเชื้อก้อนใหญ่คือสนามมวยลุมพินีและสถานบันเทิง น่าจะตรวจสอบตามกระบวนการสอบสวนโรคได้ครอบคลุมมากที่สุดแล้ว หากหลังจากนี้ตัวเลขผู้ติดเชื้อยังมากอยู่เรื่องที่ท่านผู้นำขู่ว่าจะเคอร์ฟิว 24 ชั่วโมงคงไม่มีใครตื่นตระหนก ตกใจอีกแล้ว
อรชุน
เริ่มกันไปแล้วตั้งแต่วันที่ 3 เมษายนที่ผ่านมากับประกาศเคอร์ฟิวห้ามออกจากเคหสถานตั้งแต่เวลาสี่ทุ่มถึงตีสี่ทั่วประเทศ เพื่อหวังสกัดตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 ให้ลดน้อยถอยลง อ่านสัญญาณจากการแถลงรายวันก็พอจะประเมินได้ว่าแนวโน้มน่าจะดีขึ้น เนื่องจากกลุ่มแพร่และรับเชื้อก้อนใหญ่คือสนามมวยลุมพินีและสถานบันเทิง น่าจะตรวจสอบตามกระบวนการสอบสวนโรคได้ครอบคลุมมากที่สุดแล้ว หากหลังจากนี้ตัวเลขผู้ติดเชื้อยังมากอยู่เรื่องที่ท่านผู้นำขู่ว่าจะเคอร์ฟิว 24 ชั่วโมงคงไม่มีใครตื่นตระหนก ตกใจอีกแล้ว
ความจริงสิ่งที่เป็นอยู่เวลานี้ ไม่ว่าจะเป็นการทำมาค้าขาย การไปทำงาน มันก็ค่อนข้างที่จะหยุดไปโดยปริยาย ไม่ต้องนับส่วนราชการเรื่องการทำงานที่บ้าน เพราะคนเหล่านี้ยังไงเสียก็ได้รับเงินเดือนครบเต็มตามจำนวนอยู่แล้ว ส่วนภาคเอกชนอยู่ที่ว่าการหยุดงานของแต่ละแห่งนั้นจะเป็นไปบนเงื่อนไขแบบไหน จ่ายเงินครบ แล้วประเมินสถานการณ์กันอีกที 1 เดือนข้างหน้า ถ้าเป็นแบบนี้มนุษย์เงินเดือนก็ไร้ปัญหา แต่ว่าประเภทหยุดแล้วไม่จ่ายเงินหรือจ่ายเงินไม่ครบโดยหักคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ตรงนี้แหละที่เป็นปัญหา
ถ้าจะถามว่าเลือกที่จะรักษาชีวิต หยุดการแพร่ระบาดหรือยังจะออกไปรับความเสี่ยง คนที่ไม่มีเงินถุงเงินถังคงต้องเลือกอย่างหลังมากกว่า เพราะการไม่มีจะกินและไม่รู้ว่าหลังสถานการณ์กลับมาเป็นปกติแล้ว ตัวเองยังจะมีงานทำอยู่หรือไม่ เป็นเรื่องที่น่ากังวลมากกว่า ซึ่งสิ่งเหล่านี้ถามว่ารัฐบาลมีมาตรการรองรับชัดเจนขนาดไหน ไม่ใช่เอาแต่ขู่ให้อยู่บ้านเพื่อชาติ บอกทุกครั้งว่าไม่มีใครอยากจะไปเผชิญชะตากรรมกับไวรัสร้ายตัวนี้ หากลองย้อนกลับไปเสียงส่วนใหญ่เรียกร้องเรื่องปิดประเทศ ปิดเมืองกันมาตั้งนานแล้ว
นั่นเป็นเพราะทุกคนกลัวเรื่องของการแพร่ระบาด แต่ภาครัฐโดยฝ่ายบริหารต่างหากที่กลัวอย่างอื่นมากกว่า อันหมายถึงภาวะเศรษฐกิจที่จะส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพทางการเมือง จึงเลือกมาตรการแบบเบาที่สุดไปหาหนัก จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์ที่สนามมวยและได้เห็นการแพร่กระจายของเชื้อเป็นวงกว้างนั่นปะไร ถึงได้เร่งดำเนินมาตรการอย่างเข้มข้น จนถูกค่อนขอดว่าตัดสินใจช้า คลอดมาตรการไม่ทันต่อวิกฤติและสถานการณ์ที่เป็นจริง
สิ่งเหล่านี้ในยามนี้ไม่ใช่เรื่องที่จะมาจับผิดและโทษใคร ในเมื่อทุกฝ่ายล้วนตั้งใจดีก็ต้องประสานความร่วมมือระหว่างกัน ภาคประชาชนพร้อมอย่างเต็มที่ในการปฏิบัติตามมาตรการที่รัฐได้ประกาศออกมา ไม่จำเป็นต้องขู่ว่า “สุขภาพนำเสรีภาพ” เพราะเหล่านั้นเป็นวาทกรรมทางการเมืองทั้งนั้น ขอให้ตั้งใจ สั่งการและปฏิบัติการด้วยหลักการบนผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน คนส่วนใหญ่ย่อมเห็นดีเห็นงามกันอยู่แล้ว
อย่างไรก็ตาม ความเป็นไปได้ในแง่ของความเข้มข้นเรื่องเคอร์ฟิวนั้น คงเป็นอย่างที่ วิษณุ เครืองาม แถลงไปเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมามากกว่ากล่าวคือ หากเคอร์ฟิว 6 ชั่วโมงแล้วไม่ได้ผลหรือมีผู้ฝ่าฝืน ก็จะพิจารณาขยับเป็น 8 ชั่วโมง 10 ชั่วโมงหรือ 12 ชั่วโมง หรือมากกว่านั้น คงต้องมาประเมินกันว่าช่วง 3-4 วันที่ผ่านมากับการมีกำลังตำรวจ ทหาร ตรวจตราอย่างเข้มงวดนั้น มีผู้ฝ่าฝืนมากน้อยขนาดไหน เพราะความจริงคนที่ฝ่าฝืนโดยไม่มีข้อยกเว้นจะมีความผิดตามโทษจำคุก 2 ปี ปรับถึง 4 หมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ
นับว่าเป็นโทษที่สูงไม่น้อยและในภาวะเช่นนี้มีโอกาสสูงที่จะไม่ได้รับการรอลงอาญา ยิ่งเจตนาฝ่าฝืนยิ่งต้องรับโทษหนักเพื่อไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่าง แต่ก็อีกนั่นแหละ ท่านผู้นำย้ำมาตลอดว่ามาตรการที่ใช้บังคับไม่อยากจะดำเนินการแบบรุนแรง โดยขอความร่วมมือจากประชาชนเป็นหลัก ซึ่งชัดเจนว่าตลอดช่วงระยะเวลาที่ผ่านมานั้น ประชาชนให้ความร่วมมือเป็นส่วนใหญ่ แต่ก็มีอีกไม่น้อยที่เพิกเฉยและคนเหล่านี้นี่เองที่จะเป็นตัวเพิ่มความเสี่ยงในการแพร่เชื้อให้กระจายในวงกว้างมากที่สุด
ส่วนมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ในแง่มุมเศรษฐกิจนั้น วงถกครม.นัดพิเศษเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาก็เคาะแล้วว่าต้องใช้เม็ดเงิน 1.6 ล้านล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 10 ของจีดีพี เพื่อดำเนินชุดมาตรการเยียวยาและดูแลเศรษฐกิจในระยะที่ 3 ตามคำบอกกล่าวของ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ สิ่งที่จะดำเนินการคือการเข้าไปเยียวยาและดูแลประชาชน ภาคธุรกิจในส่วนที่ยังขาด เพื่อให้ครอบคลุมครบถ้วน เสนอให้มีกิจกรรมเศรษฐกิจในช่วงที่ทุกอย่างติดขัด ดูแลไม่ให้เศรษฐกิจไทยหยุดชะงักในช่วงเวลา 3-4 เดือนข้างหน้า และดูแลภาคเศรษฐกิจการเงินเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาเศรษฐกิจในภาพรวม
สำหรับวิธีการที่จะใช้เงิน 1.6 ล้านล้านบาทตามมาตรการดังกล่าวนั้น สมคิดระบุว่าจะมีทั้งการเกลี่ยงบประมาณและการกู้เงิน โดยให้สำนักงบประมาณเกลี่ยงบร้อยละ 10 ของงบประมาณปี 2563 ในส่วนที่ยังเกลี่ยได้มาใช้ ไม่เกี่ยวกับงบเงินเดือนและงบที่ใช้ไปแล้ว ขณะที่วงเงินที่เหลือเป็นการกู้ยืม โดยจะออกเป็นพ.ร.ก.กู้เงินและส่วนหนึ่งจะเป็นการออกพ.ร.ก.เพื่อให้ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือแบงก์ชาติเอาเงินมาช่วยตามมาตรการของรัฐบาล
อย่างไรก็ตาม เรื่องของวงเงินและวิธีการนั้น ในการประชุมครม.วันนี้ (7เมษายน) คงจะมีคำตอบที่ชัดเจน คำถามที่ตามมาก็คือ มาตรการชุดที่ 3 ของรัฐบาลนั้น จะสามารถสร้างความมั่นใจให้ประชาชน ภาคธุรกิจ ให้ก้าวข้ามวิกฤตการณ์นี้ได้หรือไม่ แต่ก็น่าจะดีในระดับหนึ่ง เพราะมาตรการที่ออกมานั้นกระทรวงการคลังหารือกับแบงก์ชาติและสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือก.ล.ต.มาเป็นระยะเวลานานพอสมควรแล้ว
ทั้งนี้ ถ้าพิจารณาจากวงเงินเกลี่ยงบประมาณปี 63 คาดว่ารัฐบาลน่าจะได้เงินมาดำเนินการอย่างมากถึง 5 แสนล้านบาท ซึ่งเท่ากับว่าจะต้องมีการกู้เงินอีก 1 ล้านล้านบาท ตรงนี้ถือเป็นความท้าทายแม้จะเป็นภาวะวิกฤติ แต่หากประเมินผิดพลาดสิ่งที่จะตามมาหลังพ้นวิกฤติคือวิกฤติทางการเงินการคลังของประเทศ ด้วยเหตุนี้ท่านผู้นำจึงเน้นย้ำให้ฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้พิจารณากันให้รอบคอบ รอบด้านมากที่สุด ส่วนทางด้านสภาผู้แทนราษฎรนั้นไร้ปัญหา เพราะ ชวน หลีกภัย ตั้งเรื่องไว้รอแล้วถ้ารัฐบาลจะออกพ.ร.ก.กู้เงิน สภาพร้อมเปิดและพิจารณาได้ทันทีในวันที่ 22 พฤษภาคมนี้ บนข้อแม้ถ้าสถานการณ์ไม่เปลี่ยนแปลง