ธรรมาภิบาล และสองมาตรฐาน
ถ้าผู้ควบคุมกติกาตลาดทุนอย่าง ก.ล.ต. ถูกฟ้องว่าขาดธรรมาภิบาลและสองมาตรฐานในการกำกับดูแล คำถามคงไม่ใช่แค่ “จะเอาหน้าไปหลบที่ไหนดี”
พลวัตปี 2020 : วิษณุ โชลิตกุล
ถ้าผู้ควบคุมกติกาตลาดทุนอย่าง ก.ล.ต. ถูกฟ้องว่าขาดธรรมาภิบาลและสองมาตรฐานในการกำกับดูแล คำถามคงไม่ใช่แค่ “จะเอาหน้าไปหลบที่ไหนดี”
การต่อสู้ในคดีบนศาล ระหว่างหน่วยงานรัฐอย่าง ก.ล.ต. และพนักงานอดีตผู้บริหารบล.เอเชีย เวลท์ จำกัด จบลงแล้วเมื่อศาลฎีกาวินิจฉัยให้ฝ่ายแรกแพ้ ในสัปดาห์ที่ผ่านมา หลังจาก “ลากยาว” นานกว่า 2 ปี เสมือนนั่งดูซีรี่ส์เกาหลีเรื่องที่เกี่ยวข้องกับ ดราม่าในห้องสืบพยานของศาล เรื่อง Ms. Hummurabi ที่สะท้อนความอ่อนหัดและความเขี้ยวของฝ่ายโจทก์และจำเลยในกระบวนพิจารณาของศาล
โดยพฤตินัยการตัดสินของศาลไม่ได้บอกว่าใครผิดใครถูก (เพราะคนที่กระทำเท่านั้นรู้ดีกว่าใคร) แต่โดยนิตินัยคนที่ชนะย่อมถือว่าได้รับความยุติธรรม ส่วนฝ่ายที่แพ้คดีคงต้องกลับไปทบทวนกันเพื่อไม่ให้ซ้ำรอยเดิม
บล.เอเชีย เวลท์ จำกัด ถือเป็น 1ใน 3 บล.ที่เข้ามามีส่วนขอแบ่งส่วนต่างในธุรกิจหลักทรัพย์ ที่สร้างความฮือฮาให้กับวงการ เริ่มตั้งแต่การถูก “รับน้องใหม่” แรง ๆ จากบรรดาเจ้าถิ่นเดิม แต่ด้วยเขี้ยวเล็บที่มีอยู่ก็พอเอาตัวรอดไปได้ แม้ผลประกอบการจะขี้ริ้วขี้เหร่พอสมควร
เบื้องหลังการ “รับน้องใหม่” เกิดขึ้นเพราะความต้องการสกัดกั้นการ “โตทางลัด” ที่ทำให้เกิดปฏิบัติ “แย่งตัว”พนักงานและผู้บริหารในลักษณะ “ย้ายเหล้าเก่ามาใส่ขวดใหม่” วุ่นวาย ตามปกติธรรมดา
หลังการรับน้องใหม่อันอื้อฉาว บล.นี้ก็สามารถรุกไล่สร้างส่วนแบ่งในตลาดดีดีพอสมควร และยังทำฟาร์มเพาะศัตรูเพิ่มเติม ผลพวงที่ตามมาของความสำเร็จ คือผู้บริหารถูก ก.ล.ต.กล่าวโทษว่าทำผิดกติกา
วันที่ 16 ตุลาคม 2558 นายชยันต์ อัคราทิตย์ และนางสาว ชญานี โปขันเงิน ได้รับหนังสือเชิญจาก ก.ล.ต. ไปให้ถ้อยคำ กรณีการซื้อขายหุ้นของบริษัทแห่งหนึ่งซึ่งจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่เกิดช่วงปี 2553 ซึ่งในทางพฤตินัยถือเป็นการแจ้งข้อกล่าวโทษเบื้องต้นเพื่อพิจารณาท่าทีว่าผู้ถูกกล่าวโทษจะ “มีเถียง” หรือไม่
ตามปกติแล้ว หากข้อกล่าวโทษไม่รุนแรง พนักงานและผู้บริหารบล.มักจะยอมรับสารภาพผิด เพื่อ “ลดครึ่งราคา” เพราะเป็นที่ทราบกันในวงการว่า เจ้าหน้าที่ ก.ล.ต.ไทยนั้น เหมือนกับ อัยการในซีรี่ส์เกาหลีคือ ไม่ชอบให้เถียง ยิ่งเถียงยิ่งถูกลงโทษแรง
บังเอิญทั้งนายชยันต์ และนางสาวชญานี ไม่ใช่ “คนทั่วไป” เพราะตามปูมประวัติก็ไม่ธรรมดา โดยคนแรกเป็นน้องชาย ดร.พิชิต อัคราทิตย์ อดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ.กองทุนรวมหรือ MFC ซึ่งเป็นประธานกรรมการของ เอเชีย เวลท์ด้วย (ต่อมา ดร.พิชิตลาออกไป และรับตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมระยะหนึ่ง)
ส่วนคนหลังโชกโชนกว่ามาก มีประวัติเปลี่ยนย้ายงานหลายครั้งในบริษัทหลักทรัพย์ต่าง ๆ เริ่มตั้งแต่บริษัทหลักทรัพย์ เคจีไอ (ประเทศไทย) จำกัด ย้ายมาบริษัทหลักทรัพย์ เอเชีย พลัส ก่อนโยกไปที่บริษัทหลักทรัพย์ ฟิลลิป และขยับมาที่บริษัทหลักทรัพย์ ฟินันเซีย ไซรัส จำกัด ก่อนจะมาเติบโตที่ เอเชีย เวลท์ โดยมักจะย้ายงานในลักษณะยกทีม โดยที่คือนายชยันต์ ร่วมทีมด้วยเนือง ๆ
การ “มีเถียง” จึงเกิดขึ้น เมื่อนายชยันต์ และนางสาวชญานี เรียกร้องให้ก.ล.ต. เปิดเผยพยานหลักฐาน ซึ่งทางก.ล.ต.ขอไม่เปิดเผยต่อสำนักงานข้อมูลข่าวสาร เกรงพยานจะถูกคุกคาม แล้วยังเถียงแรงขึ้นกว่าเดิม เมื่อก.ล.ต.ใช้อำนาจสั่งพักการเป็นบุคลากรในธุรกิจตลาดทุน ทั้งในตำแหน่งผู้บริหารและผู้แนะนำการลงทุนของนางสาวชญานีและนายชยันต์ เป็นเวลา 1 ปี มีผลตั้งแต่วันที่ 4 ส.ค. 2560
เหตุผลของ ก.ล.ต. ต่อข้อหา ปล่อยให้ลูกค้าต่างชาติ ขายหุ้นโดยไม่มีหุ้นอยู่ในมือ (ชอร์ตเซล) อ้างว่าถ้อยคำที่ให้การของทั้ง 2 อดีตผู้บริหาร ให้การขัดแย้ง บิดเบือนข้อมูลความจริง จากพยานหลักฐานที่ก.ล.ต. มี จึงมีความผิดในกฎหมายอาญา
หลังการกล่าวโทษ ก.ล.ต.ยัง “กัดไม่ปล่อยต่อเนื่อง” โดยทำการตรวจสอบบริษัทเพิ่มเติม พยายามขอรายละเอียดการรับส่งและข้อความรับส่งอีเมลของพนักงานทั้งบริษัท ขอรายละเอียดผลตอบแทนของผู้บริหารทั้งหมด โดยไม่ได้ระบุว่าการใช้ในการตรวจสอบประเด็นใด แล้วยังหนังสือถึงบริษัท เพื่อให้ตอบข้อซักถามของ ก.ล.ต. ว่าได้ดำเนินการกับอดีตผู้บริหารทั้ง 2 อย่างไรบ้าง
เมื่อถูกรุกไล่มากขึ้น นายชยันต์ และนางสาวชญานี ได้ตอบโต้ด้วยการยื่นฟ้องทางศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง เพื่อดำเนินคดีต่อนายรพี สุจริตกุล เลขาฯ ก.ล.ต.ที่เห็นชอบกับคณะกรรมการวินัย ในขณะนั้น ในมาตรา 157 ฐานความผิด เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ใดผู้หนึ่ง หรือปฏิบัติหรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต
คำฟ้อง อ้างเป้าหมายว่า ต้องการสร้างมาตรฐานในการจะพิจารณาลงโทษทางวินัยกับบุคลากรในตลาดทุนของก.ล.ต. ที่กระบวนการ ขั้นตอนต่าง ๆ ควรมีความชอบธรรมและโปร่งใสมากกว่านี้ และพยานหลักฐานที่ ก.ล.ต.ใช้กล่าวโทษ เป็นพยานหลักฐานที่ไม่ถูกต้อง ตามหลักนิติวิทยาศาสต์และตาม พระราชบัญญัติ ธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์
นี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ เป็นเรื่องชาชินเดิม เพราะก่อนหน้านั้นนางสาวชญานีและนายชยันต์เคยถูก ก.ล.ต.พักใบอนุญาตเป็นเวลา 1 ปี เนื่องจากปกปิดข้อมูลเพื่อช่วยเหลือผู้กระทำผิดการใช้ข้อมูลภายในการซื้อขายหุ้นบริษัทหลักทรัพย์ บีฟิท แต่ว่าทั้งสองได้ฟ้องกลับนายรพี สุจริตกุล อดีตเลขาธิการ ก.ล.ต. ระบุว่านายรพีสร้างหลักฐานเท็จในการสั่งลงโทษ แต่ศาลยกฟ้อง (โดยนายรพีไม่ได้ฟ้องกลับ)
คำฟ้องสะท้อนว่า คนทั้งคู่รู้ดีว่าตนทำอะไรอยู่ และรู้จักทางหนีทีไล่ทางกฎหมายมาโชกโชนชนิด “เขี้ยวลากดิน” ที่เผลอไม่ได้
ไม่แค่นั้น นางสาวชญานีออกหนังสือเวียน โจมตีนางภัทธีรา ดิลกรุ่งธีระภพ นายกสมาคมบริษัทหลักทรัพย์(ขณะนั้น) ซึ่งนั่งเป็นหนึ่งในคณะกรรมการวินัยของ ก.ล.ต. ด้วยเหตุผลว่าเลือกปฏิบัติ แล้วคนทั้งคู่ยังฟ้องละเมิดเรียกร้องค่าเสียหายจากคณะกรรมการวินัย ซึ่งเป็นผู้พิจารณาเรื่องการสั่งลงโทษตน ซึ่งคดีอยู่ระหว่างการพิจารณา
แถมยังเลยเถิดฟาดงวงฟาดงา ฟ้องสื่ออย่าง นายสุนันท์ ศรีจันทรา นักเขียนบทความอีกด้วยในข้อหาหมิ่นประมาท
การต่อสู้ในชั้นศาล ปรากฏว่า ในศาลชั้นต้น และอุทธรณ์ ก.ล.ต.เป็นฝ่ายชนะ แต่นายชยันต์และนางสาวชญานี ยังไม่ยอมแพ้ ยื่นสู้จนถึงชั้นฎีกา โดยระหว่างนั้น เมื่อครบคำสั่งพักงาน 1 ปี คนทั้งคู่ก็กลับเข้าสู่สังเวียนอีก โดยยกทีมเข้าทำงานในบล.คิงส์ฟอร์ต (แอพเพิล เวลธ์เดิม) พร้อมยึดอำนาจเบ็ดเสร็จเหนือกลุ่มผู้บริหารเดิมอย่าง ดร.ประสิทธิ์ ศรีสุวรรณ
เมื่อนายชยันต์ชนะ ดังนั้นในคดีทำนองเดียวกัน ก็คาดหมายล่วงหน้า (อาจจะถูกหรือผิดก็ได้) ว่า นางสาวชญานีก็น่าจะชนะคดีเช่นกัน
บทเรียนครั้งนี้ นอกจากผลแพ้-ชนะในคดีความแล้ว เท่ากับศาลช่วยตอกย้ำว่า ก.ล.ต. สามารถทำพลาดได้ ส่วนจะพลาดในทางเทคนิค หรือพลาดในสาระสำคัญ ต้องมีการทบทวนว่า ก.ล.ต.นั้นไม่ได้มีอำนาจล้นฟ้า และการ “มีเถียง”อาจจะเป็นการ “เตือนสติ” ในการใช้อำนาจ มิให้เกินเลย เพราะสามารถที่จะทำให้ “กระบองเหล็ก” ที่ถืออยู่กลายเป็น “กระบองลม” ได้ง่าย ๆ
แม้ศาลจะไม่ได้ชี้ชัดว่า ก.ล.ต. มีสองมาตรฐานในการปฏิบัติหน้าที่กำกับดูแลในฐานะผู้ควบคุมกติกา แต่ชัยชนะของนายชยันต์ อาจจะทำให้เกิดความเชื่อว่า ก.ล.ต.เป็นเช่นนั้นจริง
อย่างหลังสุด เป็นเรื่องท้าทาย เพราะหากขืนปล่อยเอาไว้ คนจะเข้าใจไขว้เขวทึกทักเอาเองว่า ก.ล.ต.กำลังนอนกอด “ธรรมาภิบาลจอมปลอม” และทำได้ถึงขั้น “สร้างหลักฐานเท็จ” ซึ่งเสียหายยิ่งนัก