ยักษ์นอกตะเกียงพลวัต2015
ก่อนอื่น ขอฟันธงล่วงหน้าเลยว่า คำว่า สงครามค่าเงิน ซึ่งเคยเป็นที่วิตกกังวลและตั้งวงถกกันใหญ่โตเมื่อหลายปีก่อน จะเริ่มต้นสิ้นสุดลงอย่างเป็นทางการเมื่อ เฟด หรือธนาคารกลางสหรัฐ ลงมติตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย หรือ เฟด ฟันด์ เรต จะเป็นเดือนกันยายน หรือธันวาคม ก็มีสาระเท่ากัน)
ก่อนอื่น ขอฟันธงล่วงหน้าเลยว่า คำว่า สงครามค่าเงิน ซึ่งเคยเป็นที่วิตกกังวลและตั้งวงถกกันใหญ่โตเมื่อหลายปีก่อน จะเริ่มต้นสิ้นสุดลงอย่างเป็นทางการเมื่อ เฟด หรือธนาคารกลางสหรัฐ ลงมติตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย หรือ เฟด ฟันด์ เรต จะเป็นเดือนกันยายน หรือธันวาคม ก็มีสาระเท่ากัน)
เหตุผลเพราะ สงครามค่าเงินเกิดขึ้นจากมาตรการกดค่าดอลลาร์สหรัฐอ่อนในยุคหลังวิกฤตซับไพรม์ และ เฟดเริ่มออกมาตรการ QE ออกมากระตุ้นเศรษฐกิจนานถึง 5 ปี เมื่อรากฐานของสงครามค่าเงินจบสิ้นลงเพราะเศรษฐกิจสหรัฐฯเข้าสู่ภาวะปกติจนไม่จำเป็นต้องใช้มาตรการผ่อนคลายทางการเงินต่อไป จึงต้องหันมาให้ความสำคัญกับ เป้าหมายเงินเฟ้อ แทน
หลังวิกฤตซับไพรม์ หน่วยงานรัฐของสหรัฐฯ โดยเฉพาะเฟดจำต้องงัดเอามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศโดยอัดฉีดเงินจำนวนมากลงในระบบเศรษฐกิจ ด้วยนโยบายอัตราดอกเบี้ยต่ำติดพื้น ผสมกับ การพิมพ์ธนบัตรออกมาเดือนละ 4.8 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐยาวนาน ผลลัพธ์คือ ปริมาณเงินที่ท่วมตลาด ทำให้ค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่าลง
ผลข้างเคียงยามนั้น สามารถแก้ปัญหาขาดดุลการค้า และทำให้เงินทุนในรูปของดอลลาร์สหรัฐไหลบ่าออกจากระบบ ไปค้นหาแหล่งลงทุนที่มีอัตราผลตอบแทนสูงกว่านอกสหรัฐฯ ที่เรียกว่า แคร์รี่ เทรด โดยผ่านกลไกตลาดอัตราแลกเปลี่ยน หรือ ตลาดปริวรรตเงินตรา ซึ่งเชื่อมโยงกันทั้งหมดทั่วโลก เป็นตลาดที่เปิดตลอด 24 ชั่วโมง
รวมความถึงตลาดหุ้นและตลาดตราสารหนี้ในชาติกำลังพัฒนา หรือ ตลาดเกิดใหม่ทั่วโลก ที่ได้รับฟันด์โฟลว์ไหลเข้าจนดัชนีตลาดเป็นขาขึ้นยาวนาน
ผู้เล่นในตลาดดังกล่าวทุกกลุ่ม นับแต่ผู้ทำการค้าระหว่างประเทศ นักลงทุนในตลาดสินค้าและบริการ นักเก็งกำไรค่าเงิน เข้ามีบทบาทโยงใยของโลกาภิวัตน์กันด้วยเงินหมุนเวียนประจำวันในตลาดซื้อขาย 5 ตลาด ประกอบด้วย 1) ธุรกรรมทางการเงิน ประมาณวันละ 1.005 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ 2) ตลาดป้องกันความเสี่ยงล่วงหน้า 1.714 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ 3) ตลาดล่วงหน้า 3.62 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ 4) ตลาดตราสารหนี้ และเงินกู้ระหว่างประเทศ ประมาณ 5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ 5) ตลาดซื้อขายน้ำมันล่วงหน้าประมาณวันละ 1.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ
ตลาดทั้งหมดนี้ ใช้เงินดอลลาร์เป็นตัวกลางในสัดส่วนสูงสุด (เฉพาะตลาดน้ำมันใช้ดอลลาร์อย่างเดียว) ทำให้ค่าดอลลาร์ในช่วงเวลาอ่อนตัว และแข็งตัว ส่งอิทธิพลที่แตกต่างกันรุนแรงกว่าสกุลอื่น
แม้ธรรมชาติของตลาดแลกเปลี่ยนเงินตราจะมีสภาพคล่องสูงจนเข้าใกล้ภาวะตลาดแข่งขันสมบูรณ์ แต่ก็หนีไม่พ้นต้องมีตัวแปรที่ควบคุมกลไกในฐานะ “เจ้าพ่อ” ซึ่งได้แก่ บรรดาธนาคารกลางของประเทศต่างๆ ที่เชื่อว่าตนเองสามารถควบคุมและเอาชนะตลาดได้ เพื่อภารกิจศักดิ์สิทธิ์รักษาเสถียรภาพค่าเงินตนเอง
เจ้าพ่อใหญ่สุด หนีไม่พ้น เฟด นั่นเอง ส่วนระดับรองลงไปคือ ธนาคารกลางยุโรป ธนาคารกลางเยอรมนี ธนาคารกลางญี่ปุ่น และรายล่าสุด ธนาคารกลางจีน
เจ้าพ่อเหล่านี้ เปรียบเสมือนอาละดินที่พยายามท่องคาถาควบคุมยักษ์ให้เข้าไปอยู่ในตะเกียง แต่ตลาดขนาดใหญ่มากและมีเดิมพันสูงก็เปรียบเสมือนยักษ์ที่ใหญ่และดื้อเกินไปที่จะกลับเข้าไปในตะเกียง
สาเหตุสำคัญ ก็เพราะระบบอัตราแลกเปลี่ยนโลกปัจจุบันคือระบบอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินแบบลอยตัว เพราะค่าของสกุลเงินต่างๆ ไม่ได้ถูกหนุนหลังด้วยโลหะมีค่าอย่างทองคำอีกต่อไป และไม่ได้อิงกับค่าดอลลาร์ตายตัว หลังจากที่สหรัฐฯฉีกข้อตกลงเบรตันวูดใน พ.ศ. 2512 เป็นต้นมา
เฟดตระหนักดีว่า ความสำคัญของค่าดอลลาร์อยู่เหนือเศรษฐกิจโลกมากเพียงใด ดังนั้น ยามใดที่เศรษฐกิจสหรัฐฯเข้มแข็ง การทำให้ค่าดอลลาร์แข็งค่าผ่านระบบอัตราดอกเบี้ย จึงเป็นความได้เปรียบที่ชาติอื่นไม่สามารถลอกเลียนได้ เป้าหมายหลักจึงขับเคลื่อนทำให้สหรัฐฯมีดุลบัญชีเดินสะพัด และดุลชำระเงินเป็นบวกช่วงตลาดขาขึ้น
ในยามเศรษฐกิจตกต่ำช่วงซับไพรม์ เฟดเคยอาศัยค่าดอลลาร์ต่ำและ QE ทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัดและดุลชำระเงินเป็นบวกมาตลอด แต่ในยามที่เศรษฐกิจกลับมาเข้มแข็งใหม่ จะใช้เครื่องมือเดิมไม่ได้อีก ต้องปรับมาฟื้นคืนบทบาทของดอลลาร์แข็งและอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น เพื่อให้เกิดผลสะเทือนตรงกันข้ามกันต่อตลาดอัตราแลกเปลี่ยน ตลาดน้ำมัน ตลาดเงิน ตลาดทุน หรือตลาดเก็งกำไร
ผลลัพธ์ของการแข็งค่าดอลลาร์ที่คาดเดาล่วงหน้าได้เลยอยู่ที่ ปัญหาฟันด์โฟลว์ไหลออกจากชาติต่างๆ ไปยังสหรัฐฯ ด้วยการทิ้งสกุลเงินท้องถิ่นต่างๆ ไปถือครองดอลลาร์ในมือ ไม่ใช่เพื่อการลงทุนโดยตรง แต่เพื่อการเก็งกำไรจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนที่จะเกิดขึ้น
ผลข้างเคียงที่เลี่ยงไม่พ้นคือ ราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์จะมีราคาตกต่ำลงเมื่อเทียบกับค่าดอลลาร์ ตลาดตราสารหนี้ที่จะปั่นป่วนเพราะบอนด์ยีลด์สูงขึ้น และตลาดหุ้นทั่วโลกจะต้องพลิกสถานการณ์เป็นขาลง รวมความถึงเศรษฐกิจของชาติต่างๆ จะทรุดฮวบรุนแรง
ที่อาจจะเลวร้ายสุดๆ คือ รัฐบาลบางชาติที่ล้มเหลวกับการต่อสู้กับค่าดอลลาร์ จนกระทั่งตัวเลขขาดดุลงบประมาณพุ่งกระฉูด ต้องก่อหนี้สาธารณะล้นพ้นตัว จนถึงขั้นล้มละลายทางการคลัง อาจหลุดจากอำนาจด้วยกระบวนการทั้งดีหรือร้าย
สำหรับตลาดหุ้นไทย นับจากนี้ต้องเผชิญกับการโจมตีของค่าดอลลาร์อย่างเลี่ยงไม่พ้น คำถามคือ นักลงทุนไทยแต่ละคนมีเครื่องมือสร้าง “ส่วนต่างของความปลอดภัย” ที่เบนจามิน แกรห์ม เคยเอ่ยถึงมากเพียงใด
นี่เป็นโจทย์ใหญ่ที่มีความหมายยิ่งนัก เมื่อต้องเผชิญกับยักษ์นอกตะเกียง ซึ่งเป็นตัวแปรที่ควบคุมไม่ได้ ยกเว้นเฟด