ตำน้ำพริกละลายมหาสมุทร

หากจะจัดสรรเงินบางส่วนของเงิน  1 ล้านล้านดอลลาร์ ของ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ เพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 มาเป็นกองทุนมอบรางวัลใหญ่ให้แก่การค้นพบของนักวิทยาศาสตร์ทั่วโลก เพื่อเอาชนะในสงครามระหว่างมนุษย์กับจุลชีวะ …จะดีกว่า ต้นทุนต่ำกว่า และยั่งยืนกว่า หรือไม่


พลวัตปี 2020 : วิษณุ โชลิตกุล

หากจะจัดสรรเงินบางส่วนของเงิน  1 ล้านล้านดอลลาร์ ของ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ เพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 มาเป็นกองทุนมอบรางวัลใหญ่ให้แก่การค้นพบของนักวิทยาศาสตร์ทั่วโลก เพื่อเอาชนะในสงครามระหว่างมนุษย์กับจุลชีวะ …จะดีกว่า ต้นทุนต่ำกว่า และยั่งยืนกว่า หรือไม่

คำตอบน่าจะดีกว่า และสามารถทำได้ในทางปฏิบัติ

การแพร่ระบาดของโควิด-19 สะท้อนว่า มนุษย์ยังคงมีองค์ความรู้ที่แหว่งวิ่นและจำกัดว่าด้วยจุลชีววิทยา อันเป็นวิทยาการที่เกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตซึ่งมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า จนไร้ความสามารถที่จะพลิกกลับจากสิ่งที่เรียกว่า เชื้อโรคมหันตภัย” ให้กลายเป็น เพื่อนที่ทรงคุณค่า” ได้แบบที่หลุยส์ ปาสเตอร์ หรืออเล็กซานเดอร์ เฟลมมิง เคยทำได้มาก่อน

ในอดีต องค์ความรู้เกี่ยวกับจุลชีววิทยา หรือ microbiology  นับตั้งแต่ยุคคริสต์ศตวรรษที่17 ที่แอนโตนี ฟีลิปส์ฟาน เลเวินฮุก นักวิทยาศาสตร์ (ในอดีต ศาสนจักรคริสต์โรมันคาทอลิกติดตราประทับ เรียกว่า นักคิดต่อต้านพระเยซูคริสต์ (anti-Christ thinker)) ชาวดัตช์ได้ค้นพบการพัฒนากล้องจุลทรรศน์ ที่สังเกตเห็นและสามารถบรรยายองค์ประกอบของเซลล์โดยอาศัยกล้องจุลทรรศน์ของเขาที่สร้างขึ้นด้วยมือ นอกจากนี้เขายังเป็นคนแรกที่บันทึกผลสังเกตเส้นใยของกล้ามเนื้อ, แบคทีเรีย, เซลล์สืบพันธุ์เพศผู้ และการไหลเวียนของเลือดในหลอดเลือดฝอย แล้วพัฒนามาจนได้รับการต่อยอดเพิ่ม โดย หลุยส์ ปาสเตอร์ โรเบิร์ต คอค และ เฟอร์ดินานด์ โคห์น ล้วนมีคุณูปการมหาศาลในการยกระดับคุณภาพขององค์ความรู้ ก่อนที่จะตามมาด้วยการค้นพบยาเพนนิซิลินโดยบังเอิญแต่ยิ่งใหญ่ของอเล็กซานเดอร์ เฟลมมิง ซึ่งล้วนทำให้องค์ความรู้ด้านจุลชีววิทยารุดหน้าและแตกกระสานเป็นสาขาความรู้มากมาย

โควิด-19 สะท้อนว่าองค์ความรู้เหล่านี้ ยังไม่เพียงพอต่อการรับมือต่อการแพร่ระบาดของจุลชีวะที่เป็นตัวก่อให้เกิดการติดเชื้อป่วยและคร่าชีวิตขนานใหญ่ได้

ปรากฏการณ์ของการแพร่กระจายทฤษฎีสมคบคิด และการสาดโคลนป้ายสีเพื่อหาแพะรับบาปเกี่ยวกับการตัดต่อมพันธุกรรมจุลชีวะและสงครามชีวภาพที่เกิดขึ้นพร้อมกับการแพร่ระบาดของโรคร้าย สะท้อนให้เห็น “อสมมาตรของข้อมูลข่าวสาร และองค์ความรู้” ที่แหว่งวิ่นเท่านั้น

ภูมิปัญญาที่น้อยนิดดังกล่าว นอกจากไม่ใช่ทางออก (แถมยังสร้างปัญหาและจิตสำนึกที่หลงทางอีกด้วย) แล้วยังถือว่าไม่ได้เพิ่มพูนสติและปัญญาตามหลักกาลามสูตรอีกโสตหนึ่ง

ตราบใดที่มนุษย์ยังไม่สามารถเพิ่มพูนคุณภาพและปริมาณขององค์ความรู้ด้านจุลชีววิทยา (ผ่านกระบวนการจูงใจเชิงบวก เช่นตั้งรางวัล หรืออื่น ๆ ที่ทำได้หลากรูปแบบ) จนสามารถก้าวข้ามหรือลดอสมมาตรของข้อมูลและองค์ความรู้นี้ได้ ถึงขนาดสร้าง ฟาน เลเวินฮุกคนใหม่ หลุยส์ ปาสเตอร์คนใหม่ หรืออเล็กซานเดอร์ เฟลมมิงคนใหม่ได้วังวนของการแพร่ระบาดโรคร้ายโดยจุลชีวะทั้งหลาย ก็ยังจะเกิดซ้ำซากต่อไป

ที่ผ่านมา มนุษย์สามารถพัฒนาศักยภาพในความรู้ด้านฟิสิกส์และอื่น ๆ จนสามารถส่งดาวเทียมไปเยือนดาวและจักรวาล จับคลื่นโทรคมนาคมและเทคโนโลยีสารสนเทศมาสร้างภูมิปัญญาในการสื่อสารและปัญญาประดิษฐ์สารพัดแต่การแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ตอกย้ำว่าศักยภาพในการทำสงครามกับจุลชีวะ ยังล้าหลัง ต้องเร่งปรับปรุงอีกมากมาย

การทุ่มสรรพกำลังและทรัพยากรมหาศาล ไปแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจเฉพาะหน้า อาจเป็นความจำเป็น เพื่อลดความเสียหายระยะสั้น ซึ่งมีลักษณะตำน้ำพริกละลายมหาสมุทรมากกว่า   แต่ถ้าหากไม่ต้องการย่ำในวังวนเดิมของสงครามระหว่างมนุษย์กับจุลชีวะ น่าจะคิดใหม่ถึงการรุกเชิงกลยุทธ์กับสงครามต่อสู้จุลชีวะเพื่อสร้างประวัติศาสตร์ใหม่ในอนาคต ของมนุษย์

การทุ่มสรรพกำลังเพื่อเร่งยกระดับองค์ความรู้ด้านจุลชีววิทยา น่าจะเป็นการเกาถูกที่คัน และแก้ปัญหา หรือพบทางออกที่มีต้นทุนต่ำกว่า สร้างสรรค์กว่า และยั่งยืนกว่า

ทุนนิยมสามารถสร้างโลกให้ก้าวหน้าอย่างท่วมท้น แต่กลับดูเบาจุลชีวะ จนเปิดช่องให้มันผันเปลี่ยนกันเข้าโจมตีสร้างความเสียหาย ดังกรณีของโควิด-19 เป็นตัวอย่างชัดเจนล่าสุด ของการพึ่งพายุทธ์ศาสตร์ตั้งรับแบบวัวหายล้อมคอกที่ล้มเหลว

หากไม่ยอมทำหรือทำไม่สำเร็จ……เราอาจได้เห็นโศกนาฏกรรมตายหมู่เพราะจุลชีวะที่ผ่านมา 18 ครั้งซ้ำอีกพร้อมกับวาทะกรรมอันไร้สาระและไม่สร้างสรรค์ของทฤษฎีสมคบคิดเพื่อหาแพะ ที่ท้ายสุดก็ผ่านเลยไป

Back to top button