3 แบงก์ใหญ่ ตีเมืองขึ้นพม่า-อิเหนา

จัดว่าอยู่ในภาวะหืดขึ้นคอทีเดียว..!! สำหรับธุรกิจแบงก์บ้านเราที่ต้องเผชิญโจทย์ท้าทายรอบด้าน ตั้งแต่ถูกกระแสดิสรัปชั่น ทำให้การหาค่าธรรมเนียมไม่ง่ายเหมือนแต่ก่อน


สำนักข่าวรัชดา

จัดว่าอยู่ในภาวะหืดขึ้นคอทีเดียว..!! สำหรับธุรกิจแบงก์บ้านเราที่ต้องเผชิญโจทย์ท้าทายรอบด้าน ตั้งแต่ถูกกระแสดิสรัปชั่น ทำให้การหาค่าธรรมเนียมไม่ง่ายเหมือนแต่ก่อน

ตามมาด้วยกฎเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย หรือแบงก์ชาติที่เข้มงวดมากขึ้น ตลอดจนมาตรฐานบัญชีใหม่ (TFRS 9) ที่กดดันผลประกอบการ

ขณะที่การเติบโตของสินเชื่อค่อนข้างจำกัด จากภาวะเศรษฐกิจในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เติบโตในกรอบจำกัด…แล้วยังมีเชื้อไวรัสร้ายโควิด-19 ซ้ำเติมอีก

แต่แม้ไม่มีโควิด-19 แบงก์ก็เหนื่อย…จึงมีการขยับออกไปต่างประเทศเพื่อแสวงหาโอกาสใหม่ ๆ

เห็นได้ชัดจาก 3 แบงก์ใหญ่ นำโดยแบงก์ดอกบัว…ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BBL ที่ประเดิมออกไปตีเมืองขึ้นอินโดนีเซีย ด้วยการทุ่มเงินกว่า 9 หมื่นล้านบาทซื้อกิจการธนาคาร พีที เพอร์มาตา ทีบีเค ซึ่งเป็นแบงก์พาณิชย์ที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 12 ของอินโดนีเซีย

ทำให้ก่อนหน้านี้ เกิดข้อกังวลว่า จะได้ไม่คุ้มเสีย…จนผู้บริหาร BBL ต้องออกมานั่งยันนอนยันว่า ไม่เสียของแน่นอน

เนื่องจากลูกค้าของเพอร์มาตา ประมาณ 42% เป็นรายใหญ่ ใกล้เคียงกับ BBLที่เป็นลูกค้ารายใหญ่ราว 40% ซึ่งจะช่วยเสริมกันและกัน และใช้ประโยชน์จากเครือข่ายที่มีอยู่ในการขยายการลงทุน สอดคล้องกับกลยุทธ์ของ BBL ที่จะขยายธุรกิจในต่างประเทศและเชื่อมโยงไปสู่ภูมิภาคมากขึ้น

ขณะที่อินโดนีเซียมีประชากรกว่า 276 ล้านคน ใหญ่กว่าประเทศไทย 3.5 เท่า แต่อัตราการเข้าถึงบริการธนาคารถือว่ายังน้อยอยู่ที่ 36-39% เท่านั้น ทำให้ตลาดอินโดนีเซียอยู่ในช่วงการเติบโต

จึงถือเป็นโอกาสของ BBL ที่จะขยายฐานในตลาดอินโดนีเซีย…

ฟากแบงก์ม่วง ค่ายใบโพธิ์…ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB ก็เตรียมตีเมืองขึ้นเมียนมา…

หลังได้รับอนุมัติจากธนาคารกลางเมียนมาให้จัดตั้งธุรกิจแบบจดทะเบียนจัดตั้งนิติบุคคลตามกฎหมายเมียนมา (Subsidiary Bank) ทำให้สามารถเปิดธนาคารในรูปแบบบริษัทลูกที่มี SCB เป็นผู้ถือหุ้น 100% และสามารถประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์ได้เต็มรูปแบบเสมือนธนาคารท้องถิ่นในเมียนมา

ซึ่งภายใต้ Subsidiary License ทำให้ SCB สามารถเปิดสาขาในแหล่งธุรกิจที่สำคัญได้ถึง 10 สาขา ด้วยการนำเสนอโซลูชั่นทางการเงินที่ครบวงจร เช่น สินเชื่อ อัตราแลกเปลี่ยน ธุรกรรมการค้า ซัพพลายเชน และบริหารเงินสด เป็นต้น

โดย SCB ตั้งเป้าจะปล่อยสินเชื่อ 7 พันล้านบาท ภายในปี 2567…

ด้านแบงก์รวงข้าว…ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK ที่เพิ่งเปลี่ยนแม่ทัพคนใหม่ (แต่หน้าเก่า) ก็เป็นอีกแบงก์ที่บุกไปตีเมืองขึ้นเมียนมาเช่นกัน

แต่เคสของ KBANK จะต่างจาก SCB ตรงที่ไม่ได้เข้าไปเปิดสาขาเอง แต่ใช้วิธีส่งบริษัทลูกอย่างบริษัท กสิกร วิชั่น จำกัด เข้าไปถือหุ้น 35% ของธนาคารเอยาวดี ฟาร์มเมอร์ ดีเวลลอปเม้นท์แบงก์ หรือ เอแบงก์ (Ayeyarwaddy Farmers Development Bank A bank) แทน

ซึ่ง KBANK มองว่า ใช้เงินทุนน้อยกว่าและมีประสิทธิภาพมากกว่าการเข้าไปเปิดสาขาเอง

โดยสามารถรับรู้ส่วนแบ่งรายได้และกำไรได้ทันที อีกทั้งสามารถต่อยอดศักยภาพของเอแบงก์ เพื่อตอบโจทย์ลูกค้าเอสเอ็มอีและลูกค้าบุคคลในเมียนมา ผ่านช่องทาง 18 สาขา ที่ครอบคลุมทุกเมืองหลักได้อีกด้วย…

ก็น่าคิดว่า กลยุทธ์ตีเมืองขึ้นของ 3 แบงก์ใหญ่จะซักเซสแค่ไหน..?

แต่ที่แน่ ๆ ถ้าแบงก์ไม่ขยับทำอะไรเลย มีหวังผลประกอบการคงถดถอยลงเรื่อย ๆ เพราะหมดยุคที่จะสร้างกำไรสูง ๆ เหมือนในอดีตอีกต่อไปแล้ว

ไม่เชื่อก็คอยดูงบแบงก์ไตรมาส 1/2563 ที่จะเริ่มทยอยประกาศสัปดาห์หน้าละกัน…

…อิ อิ อิ…

Back to top button