พาราสาวะถี

เป็นตัวเลขสองหลักที่สร้างความอุ่นใจให้กับคนไทยตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา กับการแถลงยอดผู้ติดเชื้อประจำวันของ นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศบค. แต่อย่างที่ย้ำมาตลอดต่อให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อนิ่งสนิทแล้วก็ยังไว้วางใจไม่ได้ เพราะหลายประเทศที่เคยต่อสู้กับโควิด-19 ไปก่อนหน้านี้ คิดว่าสถานการณ์น่าไว้วางใจแล้ว กลับมาพบผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นอีก ที่เห็นได้ชัดคือ ญี่ปุ่น ซึ่งผู้นำประเทศต้องออกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อรับมือ


อรชุน

เป็นตัวเลขสองหลักที่สร้างความอุ่นใจให้กับคนไทยตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา กับการแถลงยอดผู้ติดเชื้อประจำวันของ นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศบค. แต่อย่างที่ย้ำมาตลอดต่อให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อนิ่งสนิทแล้วก็ยังไว้วางใจไม่ได้ เพราะหลายประเทศที่เคยต่อสู้กับโควิด-19 ไปก่อนหน้านี้ คิดว่าสถานการณ์น่าไว้วางใจแล้ว กลับมาพบผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นอีก ที่เห็นได้ชัดคือ ญี่ปุ่น ซึ่งผู้นำประเทศต้องออกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อรับมือ

เห็นด้วยกับที่หมอทวีศิลป์บอก อยากให้ประชาชนได้พิจารณากันเอง ถึงเวลาที่จะต้องผ่อนปรนมาตรการตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินหรือผ่อนคลายตามการประกาศเคอร์ฟิวหรือไม่ เพราะหากการ์ดตกเมื่อไหร่ ไม่มีใครการันตีได้ว่า สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทยจะเป็นอย่างไร ด้วยเหตุนี้ เราจึงได้เห็นมาตรการของแต่ละพื้นที่ผ่านคำสั่งของผู้ว่าราชการจังหวัด เนื่องจากต่างรู้กันดีว่าความเสี่ยงในพื้นที่ดูแลของตัวเองนั้นมีมากน้อยเพียงใด

ไม่ใช่เรื่องที่ว่า ตัวเลขลดลงอยู่แค่หลักสิบแล้ว จะสบายใจกันได้ยิ่งกดตัวเลขผู้ป่วยน้อยลง ยิ่งต้องมีมาตรการค้นหาผู้ป่วยมากขึ้น ยิ่งตัวเลขน้อยยิ่งหย่อนไม่ได้ อย่าการ์ดตก เพราะตกเมื่อไหร่ก็มีความเสี่ยง ล่าสุด ก็มีคำเตือนมาจาก ศาสตราจารย์ลอว์เรนซ์ กอสติน ผู้อำนวยการศูนย์สาธารณสุขและสิทธิมนุษยชน องค์การอนามัยโลกหรือฮู ที่บอกว่า สหรัฐอเมริกาและประเทศในยุโรปอาจเผชิญกับคลื่นการระบาดของโรคโควิด-19 สูงสุดถึง 4 ลูก หากปล่อยให้แอฟริกาถูกไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ชนิดนี้ทำลายทั้งทวีป

การออกโรงหนนี้ก็พอที่จะเข้าใจได้ เป็นผลสืบเนื่องมาจากการที่ โดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐฯ ประกาศตัดความช่วยเหลือด้านการเงินแก่ฮู ที่สูงถึงปีละ 16,000 ล้านบาท ด้วยเหตุผลของความแค้นที่ทรัมป์บอกว่าฮูเข้าข้างจีนมากเกินไป  ทั้งที่ต่างก็รู้ดีว่านั่นเป็นเพียงข้ออ้างของผู้นำอเมริกันชน ที่ถูกโจมตีอย่างหนักถึงความไม่เอาไหนในการบริหารจัดการการระบาดของโควิด-19 ในสหรัฐฯ แต่คำเตือนของกอสตินแม้จะเจือปนด้วยผลประโยชน์ของฮู แต่ก็มีเหตุมีผลน่ารับฟัง

แม้สหรัฐฯ และยุโรปสามารถยับยั้งหรือควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้ แต่หากประเทศอื่น ๆ บนโลก ยังพบการระบาดอยู่ ซึ่งสังคมที่เชื่อมต่อกันไวรัสมรณะจะกลับมาระบาดในยุโรปและสหรัฐฯ อีกครั้ง ถ้าสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ในประเทศรายได้น้อยทั้งหลายเกินกว่าการควบคุม เราจะได้เห็นคลื่นระบาดโควิด-19 ลูกที่สอง ลูกที่สาม และแม้แต่ลูกที่สี่ก็อาจตามมา ทั้งหมดนี้อยู่ที่ว่าแต่ละประเทศจะมีความสามารถในการรับมืออย่างไร

แน่นอนว่า ในประเทศไทยจากสภาพอากาศที่เป็นอยู่ในเวลานี้ถือว่าเอื้อต่อมาตรการต่าง ๆ ที่ภาครัฐได้ดำเนินการมา เพื่อที่จะขีดวงการระบาดและทำให้ควบคุมสถานการณ์ของโรคได้ก่อนที่จะเข้าสู่ฤดูฝน ดังนั้น การประเมินผลของการใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินและเคอร์ฟิวที่จะเกิดขึ้นในสัปดาห์สุดท้ายของเดือนนี้ตามที่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ประกาศไปนั้น จึงน่าจะยังอยู่บนพื้นฐานของการเอาอยู่ เต็มที่คงได้เพียงแค่ผ่อนปรนต่อกิจกรรมบางอย่างเท่านั้น

หากมองสภาพที่รัฐบาลกำลังเผชิญอยู่เวลานี้ ลำพังการรับมือกับการระบาดก็ถือว่าหนักหนาสาหัสแล้ว แต่มาตรการด้านการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากมาตรการของรัฐบาล กลับดูท่าว่าจะสร้างปัญหาให้กับท่านผู้นำและคณะไม่ใช่น้อย จะหนักข้อขึ้นไปอีกหากในสัปดาห์หน้าที่จะเปิดให้ผู้พลาดหวังในรอบแรกได้ยื่นอุทธรณ์ผ่านระบบออนไลน์ของเว็บไซต์เราไม่ทิ้งกันนั้น จะสร้างความพึงพอใจให้กับประชาชนที่เสียความรู้สึกไปแล้วมากน้อยขนาดไหน

กลไกที่กระทรวงการคลังระบุว่าจะประสานความร่วมมือกับกระทรวงมหาดไทย ในการใช้เครือข่ายที่มีอยู่ช่วยตรวจสอบ ยืนยันสถานะของคนที่ยื่นอุทธรณ์อีกทางหนึ่งนั้น ต้องถามว่ามีความพร้อมขนาดไหน และจะทำให้ประชาชนเกิดความเชื่อมั่นได้อย่างไร ซึ่งพูดถึงในประเด็นนี้ก็เหมือนที่เคยเสนอไว้ตั้งแต่แรก ก่อนที่จะเดินหน้าแจก ควรที่จะมีการวางกรอบต่าง ๆ ไว้ให้ชัดเจน อย่างน้อยก็เป็นการทำให้คนที่เห็นแล้วว่าตัวเองขาดคุณสมบัติจะได้ไม่ต้องแห่แหนไปลงทะเบียนกันแบบล้นละทักอย่างที่เห็น

เช่นเดียวกัน ล่าสุด พลเอกวิทวัส รชตะนันทน์ ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน ก็มองไม่ได้ต่างจากที่อรชุนบอกไว้ การดำเนินโครงการเยียวยาไม่ควรรีบร้อนเพราะจะเกิดปัญหาเช่นปัจจุบัน ควรที่รัฐบาลโดยกระทรวงมหาดไทย จะเชิญหัวหน้าส่วนราชการในแต่ละจังหวัด กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน มาหารือเพื่อให้ได้ข้อมูลว่าใครที่เป็นผู้ที่เดือดร้อนจริงและอยู่ในเป้าหมายที่รัฐบาลพึงเยียวยา ซึ่งรัฐบาลโดยกระทรวงการคลังกำลังจะทำในขั้นของการอุทธรณ์ ซึ่งถือว่าช้าไปกว่าความรู้สึก (ผิดหวังอย่างแรง) ของประชาชนไปแล้ว

ไม่เพียงเท่านั้น ขณะที่ผู้คนยังสับสนอลหม่าน ก็เหมือนถูกกระทืบซ้ำทางความรู้สึกเข้าไปอีก เมื่อท่านผู้นำลั่นในการแถลงข่าวหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี มีเงินจ่ายเยียวยาแค่เดือนเมษายนเดือนเดียวเท่านั้น ส่วนที่เหลืออีก 2 เดือนต้องไปรอพ.ร.ก.กู้เงิน 1.9 ล้านล้านบาทผ่านความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาไปก่อน นั่นยิ่งทำให้คนที่กำลังคิดจะยื่นอุทธรณ์ต่างพากันท้อไปไม่น้อย และพอฟังรัฐมนตรีคลังกับโฆษกรัฐบาลชี้แจง ก็ยิ่งไปคนละทางกับสิ่งที่ท่านผู้นำบอกมา

สุดท้าย กลายเป็นว่าท่านผู้นำยอมรับความผิดพลาดในการสื่อสารของตัวเอง ด้วยการกล่าวขอโทษประชาชน และยอมรับด้วยว่าสิ่งที่พูดไปนั้นทำให้เกิดปฏิกิริยาที่รุนแรงตามมาของประชาชนผู้ได้รับผลกระทบ ก่อนที่จะยืนยันว่ามีเงินจ่ายเยียวยาเป็นระยะเวลา 3 เดือนแน่นอน ส่วนคำอธิบายที่ว่าสิ่งที่สื่อแค่ต้องการให้เข้าใจว่ามันใช้เงินยังไง ไม่ได้หมายความว่าไม่แน่นอนและจะไม่ให้เงินอีกแล้ว ดูเหมือนจะเป็นคำแก้ตัวที่ฟังไม่ขึ้นไปเสียแล้ว

นี่แหละบทเรียนของการสื่อสารที่หากยังเป็นผู้นำอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด เชื่อได้ว่าเราจะไม่ได้เห็นการกล่าวคำขอโทษในลักษณะนี้แน่นอน บนภาวะวิกฤติและประชาชนเดือดร้อนกันไปทั่วหน้านั้น ทุกสิ่งที่จะสื่อออกมาต้องเป็นไปด้วยความรัดกุม รอบคอบ ถึงขนาดที่ว่าไม่จำเป็นอย่าพูดกันเลยทีเดียว แต่การที่ท่านผู้นำตบท้ายว่า “ทราบดีว่าทุกคนเดือดร้อนและเดือดร้อนในเวลาเดียวกันด้วย ทั้งนี้ก็ต้องทยอยดำเนินการยืนยัน 3 เดือน โอเคไหม” ดูเหมือนจะเป็นการรับผิดแบบไม่เต็มใจ ประเภทมุกตบท้ายแบบนี้ก็ควรเลี่ยงเช่นกัน

Back to top button