พาราสาวะถีอรชุน
ประกาศเสียงดังฟังชัดผ่านคณะนักธุรกิจสหรัฐฯและอาเซียนที่เข้าพบเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า ตั้งตารอการเดินทางมาประจำการยังประเทศไทยของ เกล็น ทาวน์เซนด์ เดวี่ส์ เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทยที่เพิ่งได้รับการรับรองจากวุฒิสภาสหรัฐฯ โดย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา บอกว่าต้องการที่จะอธิบายถึงสถานการณ์ต่างๆ ของไทยแลนด์ให้ท่านทูตได้ฟังด้วยตัวเองดีกว่าไปฟังจากที่อื่น
ประกาศเสียงดังฟังชัดผ่านคณะนักธุรกิจสหรัฐฯและอาเซียนที่เข้าพบเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า ตั้งตารอการเดินทางมาประจำการยังประเทศไทยของ เกล็น ทาวน์เซนด์ เดวี่ส์ เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทยที่เพิ่งได้รับการรับรองจากวุฒิสภาสหรัฐฯ โดย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา บอกว่าต้องการที่จะอธิบายถึงสถานการณ์ต่างๆ ของไทยแลนด์ให้ท่านทูตได้ฟังด้วยตัวเองดีกว่าไปฟังจากที่อื่น
นอกจากนั้น หัวหน้าคสช.ยังแสดงความเข้าอกเข้าใจต่อท่าทีของพี่เบิ้มที่มีต่อรัฐบาลไทยด้วยว่า เพราะเป็นผู้นำด้านประชาธิปไตยแบบตะวันตกจึงต้องต่อต้านรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารเป็นธรรมดา ก่อนที่จะท่องคาถาบทเดิมคือ เข้ามาเพื่อปกป้องความเสียหายของประเทศไทยที่อาจจะเกิดขึ้นและเมื่อมาทำหน้าที่ก็ไม่ได้ทำให้ประเทศเสียหาย
บรรดากองเชียร์คนดีคงรีบยกมือหนุนกันหน้าสลอน ส่วนท่านทูตมะกันคนใหม่จะคล้อยตามคารมของบิ๊กตู่หรือไม่ต้องอดใจรอ เพราะกว่าจะเดินทางมาปฏิบัติหน้าที่น่าจะใช้เวลาจากนี้ไปอีกนานร่วมเดือน อย่างไรก็ตาม จากข้อความที่นายเดวี่ส์ทวีตผ่านทวิตเตอร์ส่วนตัว ดูเหมือนว่าไม่น่าจะมีอะไรดุเดือดเลือดพล่าน
ประสานักการทูตต้องมีฟอร์ม เนื่องจากเจ้าตัวหยอดคำหวานข้ามซีกโลกมาว่า ตัวเองพร้อมภรรยาอยากจะมาประจำการที่กรุงเทพมหานคร นครแห่งเทวดา เป็นอย่างมาก เรียกว่าทำการบ้านมาอย่างดี แต่หลังจากที่เดินทางมาแล้ว สิ่งหนึ่งซึ่งผู้มีอำนาจคงต้องอึดอัดใจอย่างเลี่ยงไม่ได้ คือการเดินสายพบปะกับนักการเมืองของไทย โดยเฉพาะสองพรรคการเมืองใหญ่
เพราะนี่ถือเป็นวิถีของทูตจากประเทศประชาธิปไตย ที่จะต้องไปถามไถ่สารทุกข์สุกดิบของนักการเมืองว่าเป็นอย่างไร ยิ่งในสถานการณ์ที่ฝ่ายการเมืองถูกจับขึงพืดเช่นนี้ น่าจะมีข้อมูลอะไรอีกหลายเรื่องที่ท่านทูตจะได้รับฟัง เมื่อท่านผู้นำยืนยันแล้วว่าไม่ได้ทำอะไรให้ประเทศเสียหาย ก็คงไม่มีอะไรให้ต้องหนักใจ ใครจะพูดอย่างไรไม่จำเป็นต้องหวั่นไหว
ที่น่าสนใจเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา มีการจัดเวทีหนักหัวใครถ้าฉันใช้ตรรกะวิบัติ โดยมีการเสวนาว่าด้วยการคิดอย่างมีปัญญาเพื่อลดดราม่าในสังคมไทย ซึ่ง อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เป็นคนกล่าวเปิดงาน งานอย่างนี้บอกไว้แล้วว่าเป็นเรื่องถนัดของคนพรรคการเมืองนี้ เพราะสิ่งที่พูดมาทั้งหมดถือว่าเป็นหลักการที่ต้องชื่นชม
โดยอภิสิทธิ์มองว่า สังคมไทยมักพูดถึงการสร้างคนให้เป็นคนดีและคนเก่ง แต่ไม่ได้มีการแลกเปลี่ยนกันว่าจะสร้างคนดีและคนเก่งอย่างไร ในมิติของสังคม เศรษฐกิจและการเมือง ทักษะที่จำเป็นคือการใช้เหตุผล สิ่งที่เห็นว่ามีความจำเป็นคือ การเรียนรู้ถึงความแตกต่างของข้อมูลในยุคโลกไร้พรมแดน ไม่ใช่ถูกนำมาสร้างความขัดแย้ง
ไม่เพียงเท่านั้น หัวหน้าพรรคเก่าแก่ยังย้ำต่อว่า การเมืองไทยยังจมอยู่กับอารมณ์และความรู้สึก ไม่มีการใช้เหตุผลแลกเปลี่ยนกัน สิ่งนี้ทำให้การเมืองไทยไม่มีคุณภาพ และต้องยอมรับว่าการเมืองไทยยังมีตรรกะที่วิบัติอยู่มาก หากไม่แก้ไขประเทศอาจตกอยู่ในสถานการณ์เดิมอีกครั้ง จึงมีคำถามตามมาว่า เหตุที่กังวลเช่นนั้น เนื่องจากพวกมวลมหาประชาชนยังเคลื่อนไหวกันอยู่ใช่หรือไม่
ความเป็นจริงที่อภิสิทธิ์และชาวคณะจะปฏิเสธไม่ได้เลยก็คือ ชนวนของความขัดแย้งส่วนหนึ่งนั้นเกิดมาจากการไม่ยอมรับกติกาประชาธิปไตย หันไปใช้การเล่นเกมการเมืองข้างถนน ถามว่าม็อบที่ตั้งต้นจนนำมาสู่การยึดอำนาจของคสช.นั้น เริ่มต้นจากจุดไหน เรื่องอะไรแล้วทำไมถึงบานปลายเป็นการหาเรื่องรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ไม่หยุดหย่อน
วาระซ่อนเร้นภายใต้การเคลื่อนไหวที่นำโดย สุเทพ เทือกสุบรรณ นั้นคนเขารู้กันทั้งบ้านทั้งเมือง เมื่อมาพูดในเวลานี้บนหลักการที่ฟังแล้วดูดี คนจึงหัวร่อต่อท่วงทำนองดังกล่าวของคนที่ได้ชื่อว่าเป็นหัวหน้าพรรคการเมืองเก่าแก่ แต่ในขณะเดียวกันทุกทีท่าที่ขยับกันอยู่เวลานี้ มีหลายกระแสเสียงเตือนไปยังผู้มีอำนาจให้จับตามองให้ดี
ต้องไม่ลืมกันว่า พรรคการเมืองบางพรรคนั้นออกลูกแพรวพราวมีฝ่ายเชียร์ มีฝ่ายแช่ง มีฝ่ายสนับสนุน และมีฝ่ายตรวจสอบ เพื่อสับขาหลอกทำให้คนหลงเชื่อว่าทุกย่างก้าวเต็มไปด้วยอุดมการณ์ หลักการ ทั้งที่ท้ายที่สุดแล้วเป็นแค่การสร้างภาพเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับพรรคของตัวเองในการกระทำแต่ละเรื่องเท่านั้นเอง หลายเหตุการณ์ที่ผ่านมาเป็นเครื่องพิสูจน์ได้ดี
วกกลับมาที่เวทีซึ่งอภิสิทธิ์ไปพูด ยังมี พิชัย นริพทะพันธุ์ อดีตรัฐมนตรีพลังงานที่เวลานี้ทำหน้าที่ทีมเศรษฐกิจของพรรคเพื่อไทย เจ้าของแนวคิดตรรกะวิบัติไปพูดด้วย โดยเจ้าตัวบอกว่า หากการปกครองยังไม่กลับสู่ระบอบเดิมอันหมายถึงเป็นประชาธิปไตยที่เปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วม เชื่อว่าเศรษฐกิจจะยังไม่ฟื้นตัว
ก่อนที่จะตามมาด้วยการเรียกร้องให้บิ๊กตู่รีบปรับเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีที่ดูแลงานด้านเศรษฐกิจโดยเร็วก่อนที่ปัญหาจะเพิ่มพูนมากไปกว่านี้ เช่นเดียวกับกรณีที่ต้องประกาศให้ชัดเจนเรื่องวันเลือกตั้ง หากปล่อยให้คาราคาซัง จะเป็นผลทำให้ความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของประเทศถูกฉุดลดลงไปเรื่อยๆ นี่คือตรรกะที่เป็นข้อเท็จจริง
ไม่เพียงเท่านั้นพิชัยยังมองไปถึงกระบวนการปฏิรูป ซึ่ง ไพบูลย์ นิติตะวัน สมาชิกสปช.กำลังเคลื่อนไหวล่ารายชื่อบรรดาสมาชิกเพื่อให้สนับสนุนแนวคิดตั้งคำถามปฏิรูปก่อนการเลือกตั้งควบคู่กับการทำประชามตินั้น โดยต้องการให้อธิบายว่าจะปฏิรูปอะไร และที่ผ่านมารัฐบาลได้ทำการปฏิรูปไปบ้างหรือไม่ ซึ่งข้อเรียกร้องดังกล่าวก็สอดรับกับถ้อยแถลงของ บุญเลิศ คชายุทธเดช สมาชิกสปช.ก่อนหน้านี้
มุมที่สอดคล้องต้องกันคือ จะปฏิรูปอะไรในห้วงระยะเวลา 2 ปีที่เสนอ แล้วความสำเร็จที่ว่าจะวัดจากอะไร เพราะความเป็นจริงก็คือการปฏิรูปทั้ง 18 ด้านที่สปช.เสนอไว้นั้นมันต้องใช้เวลาแน่นอนว่าไม่ทันในรัฐบาลนี้ จึงมีการเขียนกฎหมายและบรรจุไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่บังคับให้รัฐบาลชุดต่อไปต้องปฏิรูปต่อ มิเช่นนั้นจะมีความผิด ดังนั้น จึงมองไม่เห็นว่ามีมุมไหนที่จะต้องทำตามสิ่งที่ไพบูลย์รวมทั้งเทพเทือกเรียกร้อง เว้นเสียแต่ว่าจะรวมหัวกันมีวาระซ่อนเร้นอย่างอื่นนั่นก็อีกเรื่อง