อนาคตธนาคารกรีกพลวัต2015
แม้จุดวิกฤตของปัญหาหนี้กรีซจะผ่านมาแล้ว แต่รายละเอียดปัญหาของกรีซยังเพิ่งอยู่ในจุดเริ่มต้นสะสางกัน และจะต้องกระทำต่อเนื่องต่อไปอีกนานหลายปี หนึ่งในปัญหายากลำบากที่สุดและเร่งด่วนสุด คือ การแก้ปัญหาความล่มสลายของธนาคารพาณิชย์กรีกทุกแห่ง
วิษณุ โชลิตกุล
แม้จุดวิกฤตของปัญหาหนี้กรีซจะผ่านมาแล้ว แต่รายละเอียดปัญหาของกรีซยังเพิ่งอยู่ในจุดเริ่มต้นสะสางกัน และจะต้องกระทำต่อเนื่องต่อไปอีกนานหลายปี หนึ่งในปัญหายากลำบากที่สุดและเร่งด่วนสุด คือ การแก้ปัญหาความล่มสลายของธนาคารพาณิชย์กรีกทุกแห่ง
ความล่มสลายทางการเงินของบรรดาธนาคารพาณิชย์กรีก ไม่ใช่เรื่องใหม่ เป็นที่รู้กันมานานแล้ว เพราะขาดทั้งทุนและความสามารถที่จะดำเนินธุรกิจต่อไป
ก่อนหน้านี้เป็นที่ทราบกันดีว่า ธนาคารพาณิชย์ของกรีกทั้งหมด มีสุขภาพเลวร้ายพอๆ กับฐานะการคลังของรัฐบาลทีเดียว สอบไม่ผ่านข้อสอบว่าด้วยความแข็งแรงของธนาคาร หรือ Stress Test ตามมาตรฐานของ BIS แต่ที่ยังดำเนินการต่อมาได้ ก็เพราะรัฐบาลเอาเงินกู้ส่วนหนึ่งจากบรรดาเจ้าหนี้ หรือ ทรอยก้า มาหล่อเลี้ยงเอาไว้ เพื่อให้บริการประชาชน
วันที่ 3 สิงหาคมนี้เป็นต้นมา นับแต่เริ่มต้นเริ่มเปิดทำการใหม่ หลังจากถูกคำสั่งรัฐบาลกรีซให้หยุดทำการไปนานถึง 5 สัปดาห์ ปรากฏการณ์ที่ทุกคนได้เห็น แม้ไม่อยากเห็นแต่ก็ได้เกิดขึ้นคือ ผู้ฝากเงิน พากันแห่ไปถอนเงินสดแล้วปิดบัญชีในธนาคารจนหมดเกลี้ยง เพื่อเอาไปฝากไว้ในธนาคารพาณิชย์ของบัลกาเรีย ประเทศเพื่อนบ้านที่ใกล้สุดของกรีซ
ความไม่เชื่อมั่นของผู้ฝากเงิน ที่แสดงออกด้วยการแห่ถอนเงินฝากปิดบัญชีดังกล่าว ทำให้หุ้นธนาคารกรีกที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ 2 แห่งของเอเธนส์ ถูกนักลงทุนถล่มขายอย่างหนักต่อเนื่องทั้งสัปดาห์ ทั้งที่หุ้นอื่นๆนั้น ถูกถล่มขายทิ้งเพียงแค่ 2 วันแรกหลังตลาดหุ้นเปิดทำการ หลังจากนั้นก็มีแรงซื้อกลับ เมื่อราคาหุ้นถูกลงอย่างมาก
ธนาคารที่ถูกขายทิ้งในกระดานมากจนร่วงติดฟลอร์ 30% เกือบทุกวันต่อเนื่อง จนกระทั่งเป็นแรงถ่วงใหญ่ให้ดัชนีกลุ่มหุ้นธนาคารกรีก ร่วงลงมาเมื่อสิ้นสัปดาห์แรกที่ผ่านมามากถึง 80% โดยเฉพาะที่ถูกขายหนักกว่าใคร คือ ธนาคาร Hellenic Financial Stability Fund ธนาคารรัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่สุดของรัฐบาล ซึ่งเมื่อ 2 ปีก่อน ถูกรัฐบาลสั่งการให้นำเงิน 2.5 หมื่นล้านยูโรไปทุ่มซื้อหุ้นธนาคารพาณิชย์อื่นในกรีซทั้งหมด เพื่อกลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่
นักลงทุนเชื่อว่า หากพิจารณาจากฐานะงบการเงิน ธนาคารนี้จะอยู่ในข่ายล้มละลายก่อนใครเพื่อน และต้องถูกบังคับควบรวมกิจการกับธนาคารอื่นๆ เพื่อความอยู่รอด ซึ่งจะทำให้หุ้นไร้ราคา
การขายแบบยอมตัดขาดทุนไม่คิดชีวิตของนักลงทุนกรีกในหุ้นธนาคารทุกแห่งที่เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้น ถือว่ามีเหตุผลยอมรับได้ เพราะโดยข้อเท็จจริง ไม่อาจปฏิเสธได้เลยว่าฐานะของธนาคารพาณิชย์กรีกทุกแห่งเข้าข่ายล้มละลายกันแล้วจริงๆ
เรื่องนี้ บรรดาชาติเจ้าหนี้และรัฐบาลกรีซก็รู้ดี ดังนั้น แผนปฏิรูปสถาบันการเงินของประเทศจึงเป็นหนึ่งในแผนที่ต้องเกิดขึ้นมา ด้วยการให้ธนาคารพาณิชย์ทั้งหมด ทำการควบรวมกันเพื่อความอยู่รอดในอนาคต แต่ก่อนจะถึงเวลาเช่นนั้น จะต้องมีการดำเนินการตามสูตรสำเร็จคือ สำรวจทรัพย์สินของธนาคารทั้งหมดออกเป็นทรัพย์สินดี (good bank) และทรัพย์สินเลว (bad bank) แล้วดำเนินการให้ทุกแห่ง ทำการลดทุนเพื่อล้างขาดทุนสะสม แล้วก็อัดฉีดทุนใหม่เข้าไป ซึ่งเท่ากับเป็นการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างผู้ถือหุ้น และการบริหารอย่างเบ็ดเสร็จ
การชำระล้างระบบธนาคารดังกล่าว เท่ากับว่า ผู้ถือหุ้นธนาคารทุกแห่ง หากยังถือต่อไปจนธุรกรรมเสร็จเรียบร้อยจะพบว่า ใบหุ้นที่ถืออยู่ ไร้มูลค่าเกือบสิ้นเชิง หากไม่ตัดสินใจขายทิ้งในปัจจุบันอย่างยอมตัดขาดทุน
รัฐมนตรีคลังกรีซคนล่าสุด ระบุเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาว่ารัฐบาลและชาติเจ้าหนี้ กำลังหาทางร่างแผนการเพื่อให้การควบรวมและเพิ่มทุนใหม่ให้กับธนาคารทั้งหมด (ซึ่งคือการจัดรื้อระเบียบใหม่) ให้แล้วเสร็จภายในสิ้นปีนี้เป็นอย่างช้าสุด เพราะเป็นเรื่องเร่งด่วน เนื่องจากธนาคารพาณิชย์คือกลไกสำคัญเสมือนเส้นเลือดใหญ่ที่หล่อเลี้ยงระบบธุรกรรมทุกชนิดในโลกธุรกิจของประเทศ
เจ้าหน้าที่ทางการเงินของยูโรโซนประเมินว่า การปรับโครงสร้างและอัดฉีดทุนใหม่เพื่อปฏิรูปธนาคารกรีกให้กลับมาดำเนินงานปกติ จะต้องใช้วงเงินประมาณ 1-2.5 หมื่นล้านยูโร แต่อาจจะมากกว่านั้นก็ได้ เพราะต้องมีการตรวจสอบและประเมินค่าทรัพย์สินที่ยังมีอยู่ของธนาคารต่างๆ ให้ครบถ้วนเสียก่อน ทั้งทรัพย์สินดี (good bank) และทรัพย์สินเลว(bad bank)
ภายใต้แผนการดังกล่าว มุ่งที่จะทำให้กระทบกับผู้ฝากเงินน้อยที่สุดเป็นสำคัญ แต่นั่นก็เป็นคำพูดที่ง่ายเกินกว่าจะเชื่อ และคนกรีกส่วนใหญ่ก็ไม่เชื่อเอาเสียเลย เนื่องจากสูญเสียความเชื่อมั่นไปเสียแล้ว หลังจากเจ้าหน้าที่ไอเอ็มเอฟ ซึ่งเป็นหนึ่งในเจ้าหนี้สำคัญ ได้ระบุว่า การประเมินทรัพย์สิน และการทำ stress tests 1 จะไม่แล้วเสร็จภายในสิ้นปีนี้แน่นอน เพราะปัญหาที่สะสางซับซ้อนกว่าปกติ เนื่องจากธนาคารทกแห่งซุกซ่อนปัญหาหมักหมมไว้มาก
การล่มสลายและการฟื้นคืนสภาพใหม่ของธนาคารกรีกในอนาคต (ซึ่งหากคาดเดาไม่ผิด กลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่ในอนาคต ก็น่าจะเป็นกลุ่มทุนต่างชาติ ดังปรากฏการณ์ที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วทั่วโลก รวมทั้งในอาร์เจนตินา และไทย) ถือเป็นต้นทุนของการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจใหม่ตามแผนการปล่อยกู้ของเจ้าหนี้กรีซในครั้งล่าสุดนี้ ซึ่งเป็นความเจ็บปวดอย่างยิ่งของผู้ถือหุ้นธนาคารกรีกทุกราย ที่ตอนนี้ เริ่มตระหนักแล้วว่า ต้นทุนของการเข้าร่วมในความฝันของสหภาพยุโรป และยูโรโซน ที่ “ข้ามรัฐ” และ “ข้ามอุดมการณ์” เป็นสหพันธรัฐ หรือสหภาพขนาดใหญ่ที่ปลอดสงคราม ซึ่งทุกรัฐประชาชาติที่เป็นสมาชิกถูกผูกพันด้วยข้อกำหนดที่เชื่อมโยงกันรากฐานของ คำประกาศ เวนโตเตเน่ หรือ Ventotene Manifesto ในปี ค.ศ. 1941 มีมากเพียงใดภายใต้คำขวัญอันสวยหรูเป็นนามธรรมที่ว่า “โลกใหม่ของความเป็นไปได้ไร้ขีดจำกัด“
มุมมองของนักคิดและผู้นำสหภาพยุโรปและยูโรโซนที่ว่า วิกฤตของเงินของกรีซที่ผ่านไปและดำรงอยู่ เป็นบททดสอบสำคัญยิ่งของเอกภาพของยุโรป ย่อมแตกต่างอย่างสุดขั้วกับมุมมองของคนกรีกที่จะได้เห็นธนาคารพาณิชย์ที่เคยคุ้นเคยมายาวนาน ต้องล่มสลายไป และเปลี่ยนชื่อเสียงกันใหม่ในอีกไม่นานที่จะถึง
อนาคตของธนาคารพาณิชย์กรีก จึงตัดขาดอย่างสิ้นเชิง กับรากเหง้าของอดีตที่ผ่านมาอย่างถอนรากถอนโคน