วิกฤติโควิด & วิกฤติธนาคาร

ตัวเลขงบการเงินไตรมาส 1/63 ของธนาคารพาณิชย์ต่าง ๆ จะเริ่มทยอยออกมาช่วงสัปดาห์นี้ จะเป็นสัญญาณบ่งชี้ชัดเจนว่าการปรับตัวของธนาคารกับกฎเกณฑ์อันเข้มงวด จากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ทั้งการคุมเข้มการปล่อยสินเชื่อรายย่อย การปรับปรุงค่าธรรมเนียมต่าง ๆ และแนวโน้มทิศทางดอกเบี้ยขาลง ที่ล้วนทำให้ศักยภาพการทำกำไรเป็นไปอย่างมีข้อจำกัด และกระทบผลเชิงลบจากกระแส Disrupt ตามพลวัตเทคโนโลยีทั้ง Digital Disruption หรือ Disruptive Technology นั่นเอง.!


พลวัตปี 2020 : สุภชัย ปกป้อง

ตัวเลขงบการเงินไตรมาส 1/63 ของธนาคารพาณิชย์ต่าง ๆ จะเริ่มทยอยออกมาช่วงสัปดาห์นี้ จะเป็นสัญญาณบ่งชี้ชัดเจนว่าการปรับตัวของธนาคารกับกฎเกณฑ์อันเข้มงวด จากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ทั้งการคุมเข้มการปล่อยสินเชื่อรายย่อย การปรับปรุงค่าธรรมเนียมต่าง ๆ และแนวโน้มทิศทางดอกเบี้ยขาลง ที่ล้วนทำให้ศักยภาพการทำกำไรเป็นไปอย่างมีข้อจำกัด และกระทบผลเชิงลบจากกระแส Disrupt ตามพลวัตเทคโนโลยีทั้ง Digital Disruption หรือ Disruptive Technology นั่นเอง.!

แต่การปรับตัวยังไม่ทันจะเข้ารูปเข้ารอยกันดี กลับต้องมาเจอการแพร่ระบาดของ “ไวรัสโคโรนา 2019” ตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมา ทำให้เศรษฐกิจถดถอยอย่างหนัก หลายบริษัทลดกำลังผลิตลง หลายบริษัทปิดตัวลง จนเกิดภาวะการผิดนัดชำระอย่างฉับพลัน..!! นั่นยิ่งทำให้ “งบการเงินธนาคาร” ต้องเผชิญกับดักกำไรมากขึ้นอีก

วิกฤติไวรัสโคโรนา 2019 กระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจอย่างกว้างขวาง รวมถึงธนาคารพาณิชย์ ที่ต้องรับบทบาทหลายด้านมากขึ้น ทั้งดูแลให้ความช่วยเหลือลูกค้าที่ต้องดำเนินการ ควบคู่กับการติดตามและบริหารจัดการคุณภาพสินเชื่อช่วงเศรษฐกิจผันผวนสูง ทำให้รายได้ของธนาคารพาณิชย์ ทั้งการปล่อยสินเชื่อ รายได้ค่าธรรมเนียมและบริการอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

มีการประเมินว่า..ตัวเลขกำไรไตรมาส 1/63 ของธนาคารพาณิชย์โดยรวม จะออกมาต่ำกว่า 40,000 ล้านบาท นั่นหมายถึงลดลงกว่า 30% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน ที่สำคัญไตรมาส 2/63 ยิ่งเจอแรงกดดันมากยิ่งขึ้นอีก

ตัวเลขกำไรสุทธิลดลง ถูกกดดันจากภาวะเศรษฐกิจอ่อนแอต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา ส่งผลกระทบต่อรายได้จากธุรกิจหลักเกือบทุกด้าน โดยเฉพาะรายได้ดอกเบี้ย ที่สะท้อนได้จากอัตราผลตอบแทนสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้สุทธิ (NIM) ที่ปรับลงชัดเจน หลังจากธนาคารต่าง ๆ มีการทยอยปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ช่วงที่ผ่านมา

ขณะที่อัตราการเติบโตของสินเชื่อเป็นไปแบบมีข้อจำกัด จากภาวะเศรษฐกิจอ่อนแออย่างชัดเจน กำลังซื้อหดตัว และนำไปสู่ความสามารถในการชำระคืนหนี้ลดน้อยลง

ส่วนอัตราการเติบโตของฐานเงินฝาก ถือว่าอยู่ในภาวะทรงตัวหรือเติบโตไม่มากนัก เนื่องจากมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำลง นั่นจึงทำให้ภาระต้นทุนดอกเบี้ยเงินฝากของธนาคารพาณิชย์ทรงตัวด้วยเช่นกัน

ปัญหาสำคัญช่วงเศรษฐกิจถดถอยเช่นนี้ ธนาคารพาณิชย์หนีไม่พ้นต้องเผชิญกับปัญหา “สินเชื่อด้อยคุณภาพ” มากขึ้น และกลายเป็นตัวเร่งตัวเลขหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) เพิ่มขึ้นอย่างน่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง

การประชุมคณะกรรมการกำกับดูแลการประกอบวิชาชีพบัญชี (กกบ.) เมื่อ 16 เม.ย. 63 ที่ผ่านมา มีมติอนุมัติแนวปฏิบัติทางการบัญชี ที่เป็นมาตรการผ่อนปรนชั่วคราว 2 ฉบับ เพื่อกำหนดแนวปฏิบัติทางการบัญชีรองรับผลกระทบ ที่อาจเกิดขึ้นต่อการจัดทำงบการเงินช่วงวิกฤติการแพร่ระบาดไวรัสโคโรนา 2019

สาระสำคัญของฉบับแรก คือ มาตรการผ่อนปรนชั่วคราวสำหรับสถาบัน การที่ให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย โดยสภาวิชาชีพบัญชี ผ่อนปรนทางบัญชีการจัดชั้นลูกหนี้ตามหลักการมาตรฐานบัญชี TFRS 9 (เครื่องมือทางการเงิน) เช่น การจัดชั้นลูกหนี้ Non-NPL เป็นชั้น 1 (stage1) ได้ทันที และให้คงลูกหนี้อยู่ชั้นเดิมต่อไปได้ ก่อนเข้ามาตรการช่วยเหลือ ยกเว้น การคำนวณหนี้สงสัยจะสูญจากวงเงินที่ยังไม่ได้ใช้ (Unused credit line) เป็นต้น

สาระสำคัญฉบับที่สอง คือ มาตรการผ่อนปรนชั่วคราวสำหรับทางเลือกเพิ่มเติมทางบัญชีเพื่อรองรับผลกระทบจากโคโรนา 2019 โดยผ่อนปรนชั่วคราวทางบัญชีให้ทุกกิจการเรื่องต่าง ๆ เช่น การคำนวณหนี้สงสัยจะสูญ การวัดมูลค่ายุติธรรม การเปลี่ยนแปลงสัญญาเช่า และการประเมินข้อบ่งชี้การด้อยค่าฯ เป็นต้น

การผ่อนปรนดังกล่าว ทำให้มาตรฐานบัญชีใหม่หลายฉบับ อาทิ TFRS 9 (เครื่องมือทางการเงิน) TFRS 13 (การวัดมูลค่ายุติธรรม) TFRS 16 (สัญญาเช่า มาตรฐานการบัญชี) TAS 12 (ภาษีเงินได้) TAS 36 (การด้อยค่าของสินทรัพย์) และ TAS 37 (ประมาณการหนี้สิน หนี้สินที่อาจเกิดขึ้นและสินทรัพย์ที่อาจเกิดขึ้น) มีผ่อนปรนบังคับใช้ตั้งแต่ 1 ม.ค. 63 ไปจนถึง 31 ธ.ค. 64

แน่นอนว่า “มาตรการผ่อนปรน” ที่ว่านี้..อาจช่วยสร้างเซนติเมนต์เชิงบวกระยะสั้นต่อธนาคารพาณิชย์ได้ไม่น้อย แต่นั่นเป็นเพียง การทำให้ “หายใจคล่องขึ้นชั่วคราว” ช่วงเป็นหวัดเพียงเท่านั้น..!!

Back to top button