ทริสฯเทียบ TISCO–KKP
วานนี้หุ้น TISCO กับ KKP แจ้งงบการเงินไตรมาส 1/2563 กันออกมาแล้ว
ลูบคมตลาดทุน : ธนะชัย ณ นคร
วานนี้หุ้น TISCO กับ KKP แจ้งงบการเงินไตรมาส 1/2563 กันออกมาแล้ว
กำไรสุทธิถือว่าต่ำกว่าที่ตลาดคาดกันไว้
หลังการแจ้งงบการเงิน Q1 ในช่วงพักเที่ยง
หุ้น “ทิสโก้” เกิดการย่อตัวลงไปเล็กน้อย ก่อนจะดีดกลับมาได้ และปิด +0.75 บาท มาที่ 81.00 บาท
เพราะ ทิสโก้ ยังมีแรงหนุนจากเงินปันผล 7.75 บาท ขึ้น XD วันที่ 27 เม.ย.นี้
จากวันนี้ไปถึงวันศุกร์ น่าจะมีการไล่ราคากันอีก
ส่วน KKP แจ้งงบในช่วงเย็นวานนี้
กำไรต่ำกว่าคาดการณ์ (แม้กำไรจะเพิ่ม 20% ก็เหอะ)
เข้าใจว่าวันนี้เปิดตลาดมา ราคาน่าจะลงไปเคลื่อนไหวในแดนลบ
ไม่ว่างบการเงินของ 2 หุ้นแบงก์นี้จะออกมาอย่างไร
สิ่งหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ได้คือ อัตราผลตอบแทนเงินปันผลของ 2 หุ้นแบงก์ ทั้ง TISCO และ KKP ถือว่าน่าสนใจมาก
ล่าสุด “ทริสเรทติ้ง” มีการเปรียบเทียบจุดแข็ง-จุดอ่อน ของ TISCO และ KKP ไว้อย่างน่าสนใจ
ทริสฯ มองรายได้จากดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) ของ 2 แบงก์นี้แบบ “ไม่แย่นัก”
นั่นเพราะเป็นผู้นำธุรกิจ “สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์”
จุดแข็งคือ “กำหนดอัตราดอกเบี้ยคงที่”
และจะไม่มีการปรับตลอดอายุการทำสัญญาหรือช่วงเวลาที่ได้ตกลงกันไว้
และนั่นอาจจะทำราคาหุ้นของทั้งสองตัวปรับตัวลงน้อยกว่าระบบธนาคารพาณิชย์ ในช่วงที่ผ่านมา
TISCO ที่มีจุดเด่นเรื่องอัตราผลตอบแทนปันผลสูงราว ๆ 10% คือหุ้นละ 7.75 บาท
และจะขึ้นเครื่องหมาย XD วันที่ 27 เม.ย.นี้
ส่วน KKP ขึ้น XD เมื่อวันที่ 10 เม.ย. จ่ายเงินปันผลอีกหุ้นละ 2.75 บาท รวมทั้งปีแจก 4.25 บาทต่อหุ้น
แล้วแนวโน้มในปี 2563-2565 ล่ะ?
คาดว่า TISCO มีรายได้และกำไรส่วนใหญ่มาจากธุรกิจธนาคารทิสโก้ คือมากกว่า 50%
ในปี 2562 มีรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิค่อนข้างสูงที่ 32%
ส่วนเงินกองทุนขั้นที่ 1 ประมาณ 17-18% จากปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 16.4% และอัตรากำไรจากดอกเบี้ยสุทธิหลังหักต้นทุนทางเครดิตจะอยู่ที่ระดับ 3.4-3.6%
ทริสฯ มีการประมาณการว่าธนาคารทิสโก้จะจ่ายเงินปันผลให้แก่ TISCO ที่ระดับ 65-75% ของกำไรสุทธิและบริษัทก็จะจ่ายเงินปันผลให้ “ผู้ถือหุ้น” ในระดับเท่า ๆ กันด้วยเช่นกัน
ณ สิ้นปี 2562 ธนาคารทิสโก้มีอัตราจ่ายเงินปันผล 73.2% และบริษัทมีอัตราอยู่ที่ 79.6%
สำหรับ KKP ปีนี้สินเชื่อจะมีโอกาสติดลบ 10% ก่อนจะฟื้น 3-5% ในปี 2564-2565
อัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพต่อสินเชื่อรวมจะอยู่ที่ 4.1-4.6% ในช่วง 3 ปีนี้ และมีอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ประมาณ 14.0-15.5% อัตรากำไรจากดอกเบี้ยสุทธิหลังหักต้นทุนทางเครดิต 3.3-3.4%
KKP มี “จุดอ่อน” ที่ธุรกิจธนาคารขนาดเล็ก
แต่ “ธุรกิจตลาดทุน” มีความแข็งแกร่ง
โดย “บล.ภัทร” สร้างกำไรให้กลุ่มในสัดส่วนที่มีนัยสำคัญที่ 15% ในปี 2562
และยังมีความสามารถในการทำกำไรแข็งแกร่งในอีก 2-3 ปีข้างหน้า ทำให้ KKP มีแหล่งรายได้ เงินทุนและความสามารถในการทำกำไรสูงกว่าค่าเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ไทย
อัตราส่วนผลตอบแทนต่อสินทรัพย์รวมเฉลี่ย (ROA) ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา อยู่ที่ระดับ 1.94% ในปี 2562
ตัวเลขนี้ถือว่าสูงกว่าค่าเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ไทยซึ่งอยู่ที่ระดับ 1.2%
บล.ภัทรมีส่วนแบ่งทางการตลาดในด้านมูลค่าการซื้อขายหลักทรัพย์จะอยู่ที่ระดับประมาณ 10%
อัตราค่านายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์โดยเฉลี่ย ประมาณ 0.05%
อัตราส่วนค่าใช้จ่ายดำเนินงานต่อรายได้สุทธิจะอยู่ที่ระดับประมาณ 50-55%
ทริสฯ ยังคาด KKP มี ROA เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 1.4-1.6% ในระหว่างปี 2563-2565
และมีอัตรากำไรจากดอกเบี้ยสุทธิหลังหักต้นทุนทางเครดิตอยู่ที่ระดับ 3.7% ในปี 2562 สูงกว่าค่าเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ไทยซึ่งอยู่ที่ระดับ 2.0%
และยังคุมอัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพต่อสินเชื่อรวมให้อยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้
โดย ทริสฯ คาดไว้ว่าหนี้ดังกล่าว จะเพิ่มขึ้นเล็กน้อย 4.5% ณ สิ้นปี 2563 จาก 4.0% ณ สิ้นปี 2562
นี่คือ จุดแข็ง จุดอ่อน (แบบคร่าว ๆ) ของ 2 แบงก์เล็กในมุมมองของทริสฯ