วิกฤติ ‘อุตสาหกรรมน้ำมัน’
อุตสาหกรรมน้ำมันกำลังเผชิญวิกฤติที่รุนแรงสุดนับตั้งแต่เศรษฐกิจโลกตกต่ำครั้งใหญ่สุด เพราะว่าในขณะนี้โลกมีน้ำมันมากเกินไปและไม่มีใครต้องการซื้อ นั่นจึงส่งผลให้เกิดหายนะในตลาดน้ำมันเมื่อคืนวันจันทร์ที่ผ่านมา
พลวัตปี 2020 : ฐปนี แก้วแดง (แทน)
อุตสาหกรรมน้ำมันกำลังเผชิญวิกฤติที่รุนแรงสุดนับตั้งแต่เศรษฐกิจโลกตกต่ำครั้งใหญ่สุด เพราะว่าในขณะนี้โลกมีน้ำมันมากเกินไปและไม่มีใครต้องการซื้อ นั่นจึงส่งผลให้เกิดหายนะในตลาดน้ำมันเมื่อคืนวันจันทร์ที่ผ่านมา
มูลค่าสัญญาตราสารน้ำมันดิบเวสต์ เท็กซัส อินเตอร์มีเดียต (WTI) ที่จะส่งมอบในเดือนพฤษภาคม ปรับตัวลงถึง 300% และดิ่งเข้าสู่แดนลบจนปิดที่ -37.63 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันเช่นนี้ไม่เคยมีมาก่อนและยากที่จะอธิบายแต่ก็เป็นสัญญาณเตือนสำหรับอุตสาหกรรมน้ำมันว่าน่าจะได้เห็นความเจ็บปวดมากกว่านี้อีก
เหตุผลสำคัญที่ทำให้ราคาดิ่งแรงขนาดนั้นเพราะว่า ไม่มีขีดความสามารถที่จะเก็บน้ำมันดิบในโลกนี้แล้ว เมื่อสัญญาตราสารน้ำมัน หมดอายุลง ไม่มีใครต้องการรับมอบน้ำมันจริง ๆ และยังมีการคาดการณ์ว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นผลมาจากการบริหารความเสี่ยงที่ผิดพลาดหรือกองทุนอีทีเอฟจำนวนหนึ่งอยู่เบื้องหลังการเทขาย
ผลลัพธ์คือ ในขณะนี้อุตสาหกรรมน้ำมันได้ออกมาเตือนว่า จำเป็นต้องควบคุมการขุดเจาะน้ำมันอย่างจริงจังและการระบายซัพพลายที่มีอยู่มาก อาจยากกว่าที่ได้คาดไว้
สัญญาตราสารน้ำมัน WTI เดือนพฤษภาคมซึ่งหมดอายุลงในวันอังคารที่ 21 เม.ย. เป็นสัญญาเดียวที่มีการซื้อขายอย่างผิดปกติ แต่สัญญาที่ส่งมอบเดือนมิถุนายน ปรับตัวลง 15% และซื้อขายกันที่ประมาณ 21.40 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลเมื่อวันจันทร์ ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนต์ ซึ่งเป็นมาตรฐานระหว่างประเทศ มีการซื้อขายที่ประมาณ 25.90 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
แต่ในตลาดสปอต ราคาน้ำมันของอเมริกาเหนือสะท้อนปัญหาที่ผู้ผลิตต้องระบายน้ำมันดิบในตลาดที่ไม่มีผู้ซื้อ น้ำมันดิบไลต์ สวีทหลุยเซียน่าขายในราคา 5 ดอลลาร์กว่า ๆ เล็กน้อยแต่น้ำมันดิบในเขตแบคเคนในนอร์ทดาโคตา ขายในราคาติดลบ 38.63 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
นักวิเคราะห์โภคภัณฑ์ของแบงก์ ออฟ อเมริกา ชี้ว่า 60% ของดีมานด์น้ำมันมาจากการขนส่ง ยอดขายน้ำมันเบนซินลดลงมากกว่า 50% เที่ยวบินทั่วโลกลดลง 80 หรือ 90% การบริโภคล่มสลาย นั่นจึงทำให้วิกฤติในครั้งนี้แตกต่างจากวิกฤติในช่วงที่เศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ กลไกตลาดปกติที่ผู้บริโภคจะเข้าไปซื้อเมื่อราคาลดลง ไม่ทำงานเพราะการชัตดาวน์เนื่องจากไวรัส
ตราสารน้ำมันดิบ WTI เคยล่มสลายเพราะไม่มีที่ให้เก็บมาแล้วสองครั้งคือในปี 2529 และในปี 2551 แต่ในตอนนั้นราคาตราสารก็ต่ำกว่า 10 ดอลลาร์เท่านั้น และดีมานด์ก็เพิ่มขึ้นเมื่อราคาลดลง แต่ในครั้งนี้ดีมานด์ล่มสลาย ดังนั้นจึงขึ้นอยู่กับนโยบายของรัฐและตัวไวรัสเองว่าจะทำให้ดีมานด์ฟื้นตัวหรือไม่
เมื่อไม่กี่เดือนก่อน อุตสาหกรรมน้ำมันของอเมริกาอยู่บนปลายสุดของโลก ราคาน้ำมันอยู่ที่ประมาณ 60 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลในช่วงต้นปี และอเมริกาผลิตน้ำมันมากกว่าชาติใด ๆ จนแซงหน้ารัสเซียและซาอุดีอาระเบีย
การระบาดของไวรัสโคโรนาในจีนมากลบข่าวดีที่จีนและสหรัฐฯ ทำข้อตกลงการค้าชั่วคราวที่จะช่วยให้เกิดการเติบโตทั่วโลกแต่ผลที่ได้คือดีมานด์ลดลงอย่างรุนแรง แต่อุตสาหกรรมน้ำมันก็ยังไม่หยุดผลิต และโลกเริ่มมีน้ำมันมากเกินไป
ซาอุดีอาระเบียและรัสเซียยิ่งทำให้สถานการณ์เลวร้ายลงไปอีกเมื่อไม่สามารถตกลงลดการผลิตกันได้และผลที่ตามมาคือซาอุฯ เพิ่มการผลิตในเดือนมีนาคม แม้ว่าในเวลาต่อมาโอเปกและพันธมิตรตกลงลดกำลังการผลิต 9.7 ล้านบาร์เรลต่อวันแต่ก็ไม่เพียงพอที่จะช่วยระบายน้ำมันที่มีอยู่มากเกินให้หมดไปได้
ข้อตกลงของโอเปกและพันธมิตรจะเริ่มมีผลในเดือนพฤษภาคม แต่มีรายงานจากรอยเตอร์ว่า ซาอุดีอาระเบียจะเริ่มลดกำลังผลิตให้เร็วขึ้น
การผลิตน้ำมันได้ถึงจุดสูงสุด 13.1 ล้านบาร์เรลต่อวันในเดือนกุมภาพันธ์ แต่นักวิเคราะห์คาดว่าจะลดลงประมาณ 2.9 ล้านบาร์เรลต่อวันภายในสิ้นปี ในขณะนี้โกดังเก็บน้ำมันได้กลายเป็นโภคภัณฑ์ที่มีราคาและมีความชัดเจนว่า ภายในปลายเดือนเมษายนจะไม่มีที่เก็บน้ำมันดิบ
อุตสาหกรรมน้ำมันในชั้นหินของสหรัฐฯ ได้ใช้ความฉลาดและเทคโนโลยีเพื่อผันตัวเองเป็นผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่สุดของโลกในเวลาไม่ถึง 2 ทศวรรษ แต่ในขณะนี้อุตสาหกรรมน้ำมันสหรัฐฯ กำลังเผชิญกับความตึงเครียดทางการเงินอย่างรุนแรงมากสุดเท่าที่เคยมี จึงคาดว่าน่าจะต้องปิดบ่อน้ำมันและต้องไล่พนักงานออก โดยจะขึ้นอยู่กับว่าดีมานด์จะฟื้นตัวเร็วเพียงใด
บริษัทน้ำมันใหญ่ ๆ ในสหรัฐฯ เช่น โคโนโคฟิลิปส์ และคอนติเนนตัลได้ประกาศแล้วว่าจะลดการผลิต 25-30% และคาดว่าบริษัทอื่น ๆ จะลดตาม และคาดว่าจะมีอีกหลายบริษัทที่จะถูกบีบให้ปิดการผลิตไปเลย
นักวิเคราะห์คาดว่า บริษัทน้ำมันใหญ่ ๆ น่าจะยังอยู่รอดได้ แต่ประมาณ 25-30% น่าจะต้องปรับโครงสร้างหรือล้มละลายในช่วง 9-12 เดือนข้างหน้า
พิษสงของไวรัสโคโรนาร้ายแรงกว่าที่คาดการณ์ไว้มาก ขนาดอุตสาหกรรมน้ำมันที่ว่า “เจ๋ง” สุดแล้ว ยังจะ “เจ๊ง” เอาได้ง่าย ๆ