พาราสาวะถี

ไม่ได้เกินเลยไปจริง ๆ กับข้อตำหนิรัฐบาลของหลายฝ่ายต่อการบริหารจัดการเรื่องผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ว่า ตัดสินใจช้ากว่าความเป็นจริงไปหนึ่งก้าวหรือหลายก้าวเสมอ ล่าสุด ก็เป็นประเด็นเรื่องของค่าไฟแพง ต้องให้คนออกมาโวยกันก่อนจึงจะเรียกประชุมแล้วเคาะมาตรการช่วยเหลือที่เห็นเนื้อเห็นหนัง ไม่ใช่แค่ลดค่าไฟจิ๊บจ๊อย 3 เปอร์เซ็นต์หรือใช้ไฟฟรี 90 หน่วยสำหรับบ้านเรือนที่ใช้มิเตอร์ไฟไม่เกิน 5 แอมป์


อรชุน

ไม่ได้เกินเลยไปจริง ๆ กับข้อตำหนิรัฐบาลของหลายฝ่ายต่อการบริหารจัดการเรื่องผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ว่า ตัดสินใจช้ากว่าความเป็นจริงไปหนึ่งก้าวหรือหลายก้าวเสมอ ล่าสุด ก็เป็นประเด็นเรื่องของค่าไฟแพง ต้องให้คนออกมาโวยกันก่อนจึงจะเรียกประชุมแล้วเคาะมาตรการช่วยเหลือที่เห็นเนื้อเห็นหนัง ไม่ใช่แค่ลดค่าไฟจิ๊บจ๊อย 3 เปอร์เซ็นต์หรือใช้ไฟฟรี 90 หน่วยสำหรับบ้านเรือนที่ใช้มิเตอร์ไฟไม่เกิน 5 แอมป์

เพราะมาตรการเหล่านั้น มันสวนทางกับสิ่งที่รัฐบาลรณรงค์และขอความร่วมมือกับประชาชน ซึ่งส่วนใหญ่ให้ความร่วมมือเต็มที่ นั่นก็คือ “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” ดังนั้นการที่รัฐบาลเคาะมาตรการให้ประชาชนจ่ายค่าไฟเท่ากับอัตราที่ใช้เดือนกุมภาพันธ์ 2563 ส่วนเกินจากเดือนกุมภาพันธ์ หากไม่เกิน 800 หน่วยประชาชนไม่ต้องจ่าย แต่หากเกิน 800 หน่วยแต่ไม่เกิน 3000 หน่วย ส่วนที่เกินประชาชนต้องจ่าย 50 เปอร์เซ็นต์ แต่หากเกิน 3000 หน่วย ส่วนที่เกินประชาชนต้องจ่าย 70 เปอร์เซ็นต์

จึงน่าจะเป็นแนวทางการช่วยเหลือที่ตอบโจทย์ประชาชนได้มากที่สุด เช่นเดียวกับการยกเว้นค่าไฟให้กับกลุ่มผู้ใช้ไฟไม่เกิน 150 หน่วยสำหรับมิเตอร์ไม่เกิน 5 แอมป์ จากเดิมยกเว้นให้ไม่เกิน 90 หน่วย ทั้งสองมาตรการหลังครม.อนุมัติแล้ว จะมีผลเป็นระยะเวลา 3 เดือนคือรอบบิลของเดือนมีนาคมถึงพฤษภาคมนี้ นี่เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของสิ่งที่ย้ำมาตลอดว่า รัฐบาลของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ชอบการคิดก่อนทำ แต่ทำไปก่อนแล้วค่อยมาคิดตาม มันจึงเต็มไปด้วยปัญหา

ส่วนประเด็นที่บอกว่าตัดสินใจช้ากว่าปัญหานั้น ไม่ได้คิดเองเออเอง เพราะวันก่อน สนธิ คชวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ชมรมนักวิชาการสิ่งแวดล้อมไทย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุว่า รัฐบาลชุดนี้จะคิดช้ากว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้น 1 ก้าวเสมอ ก่อนจะแถมพ่วงด้วยความเห็นที่ว่า สงสัยทีมงานอ่อน” ไม่เพียงเท่านั้น นักวิชาการรายนี้ยังยกเหตุการณ์ที่อธิบายถึงการตัดสินใจล่าช้าของรัฐบาลมาฉายภาพให้เห็นเป็นข้อ ๆ ด้วย

โควิด-19 ต้องรอให้คนในประเทศติดเชื้อจำนวนมากก่อนจึงประกาศล็อกดาวน์ หามาตรการป้องกันและหาคนพูดจารู้เรื่องมาแจ้งให้ประชาชนทราบ ต้องรอให้ไฟไหม้ป่าอนุรักษ์ที่เชียงใหม่เกือบหมดดอย จนเกิดฝุ่น PM2.5 ท่วมเมืองก่อน จึงค่อยคิดวิธีจัดการ ให้ประชาชนอยู่บ้านช่วยชาติ ทุกคนให้ความร่วมมือแต่ไม่มีอะไรสนับสนุนจนหลายคนแทบอดตาย ตอนหลังเลยแจก 5,000 บาท แต่ดันเลือกแจกอีก หน้าร้อนให้ทำงานที่บ้านลดติดเชื้อเพื่อชาติ ค่าไฟฟ้าแพงมหาโหดแบบผิดปกติ ประชาชนโวยวายจึงได้คิดและประกาศลดค่าไฟฟ้า 3 เดือน

แน่นอนว่า ด้วยกระบวนการคิดและตัดสินใจแบบนี้ มันจึงต้องย้อนไปตั้งคำถามถึงหลักการบริหารจัดการที่ดี ในฐานะผู้บริหารที่รายล้อมไปด้วยกูรู ผู้รู้รอบตัว จะต้องคาดการณ์สถานการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นภายหน้าทั้งในกรณี normal case และ worst case เพื่อวางแผนและกำหนดมาตรการ แต่ดูเหมือนว่าสิ่งที่ผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจและชาวคณะได้ทำมาตลอดคือ ตัดสินใจแบบกลัวความผิดพลาด ไม่กล้าที่จะเสี่ยงหรือดำเนินการในลักษณะที่แสดงให้เห็นถึงการตัดสินใจที่เฉียบแหลม เด็ดขาด

หรือว่าอาจจะเป็นเพราะเกรงจะถูกครหา กลัวว่าบรรดากองเชียร์จะด่าทอ ด้วยข้อหาเดินตามรอยแนวทางประชานิยมที่ระบอบทักษิณเคยทำไว้แล้วประสบความสำเร็จก่อนหน้า ซึ่งจะว่าไปสิ่งที่เห็นและเป็นมาตลอดระยะเวลาเกือบ 6 ปีที่ผ่านมานั้น ไม่ได้มีอะไรที่แตกต่างกัน เพียงแค่เปลี่ยนชื่อเรียกและเล่นแร่แปรธาตุในการบริหารจัดการเท่านั้นเอง มิหนำซ้ำ หลายเรื่องยังถูกตำหนิหนักหน่วงด้วยเหตุผลดำเนินนโยบายไม่สุดทางหรือเข้าข่ายเลือกปฏิบัติไปเสียฉิบ

ถ้าจำกันได้หลังการยึดอำนาจเมื่อ 6 ปีที่แล้ว ผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจพูดถึงเรื่องการแจกเงินหรืออะไรก็ตามที่เป็นการบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน โดยเฉพาะคนยากคนจนและกลุ่มเกษตรกร มองว่าการทำเช่นนั้นทำให้คนขี้เกียจ ไม่ทำงาน เป็นกาฝากสังคม สิ่งที่จะทำต้องสอนให้คนจับปลาไม่ใช่เอาปลาไปแจกให้คน สุดท้ายมันก็หนีแนวทางในอดีตไม่พ้น เพราะนี่เป็นความเป็นจริงของสังคมไม่ใช่เฉพาะประเทศไทย ในกรณีผู้ขาดโอกาสหรือฐานะยากจน เป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะต้องเข้าไปอุดหนุน

เห็นด้วยกับความเห็นของ ปิยบุตร แสงกนกกุล อดีตเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ที่นำเสนอว่า สิ่งหนึ่งที่คนเคยคิดมาตลอดว่าเป็นไปไม่ได้ หากแต่วันนี้มีการพูดถึงเยอะมากนั่นคือ เรื่องระบบเงินเดือนพื้นฐานชีวิต หรือ Universal Basic Income ระบบเงินเดือนพื้นฐานชีวิตจะทำให้คนมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ช่วยเรื่องการดำรงชีวิตพื้นฐานได้ ตอนนี้เราอยู่กับการต่อสู้ระหว่างความคิดความเชื่ออุดมการณ์ วาทกรรมและเรื่องเล่าที่จะทำให้เกิดนวัตกรรมใหม่ ๆ

จะอยู่กันแบบใช้เงินช่วยคนไม่กี่คนหรือจะช่วยเหลือคนส่วนใหญ่ และไม่ใช่อยู่ที่ว่ามีเงินทำได้หรือไม่ได้ แต่อยู่ที่รัฐบาลว่ามีเจตจำนงการตัดสินใจว่า เห็นความสำคัญของอะไรมากกว่ากัน ถ้ายังตัดสินใจเพื่อคนส่วนน้อยไม่กี่ตระกูลแต่ยึดอำนาจทั้งทางการเมืองเศรษฐกิจไว้อยู่ มันก็คือคณาธิปไตย หลังวิกฤตนี้คิดว่ามี 3 เรื่องใหญ่ที่จะต้องทบทวนคือ เศรษฐกิจใหม่ วิธีคิดนโยบายเศรษฐกิจต้องเปลี่ยนเป็นประชาชนมาก่อน ไม่ใช่ทุนใหญ่มาก่อน

อย่างไรก็ตาม ในความเห็นของปิยบุตรอาจถูกทักท้วงได้ว่ายังเจือปนไปด้วยการเมืองที่ยืนอยู่คนละขั้ว เพราะสิ่งที่เสนอต่อมาคือจะเริ่มคิดสร้างสวัสดิการใหม่ ๆ ระบบเงินเดือนพื้นฐานชีวิตต้องเริ่มพูดกันว่าจะอยู่ในระดับไหน การเมืองแบบใหม่ รัฐบาลเจอวิกฤตการณ์ความชอบธรรมตั้งแต่ฐานที่มาไม่ถูกต้อง และพอเกิดวิกฤตการณ์ก็ไม่มีความสามารถแก้ไขปัญหาสำคัญ ๆ ได้ ซึ่งคนส่วนหนึ่งอาจมองว่ากรณีของโควิด-19 ก็แก้ได้ในระดับหนึ่ง แต่คำถามก็คือเพียงพอที่จะทำให้ผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจและคณะ ใช้เป็นฐานสร้างคะแนนนิยมให้เดินหน้าต่อไปได้หรือไม่

Back to top button