Sell in May (and go away)
ใกล้เข้าสู่เดือนพฤษภาคมของทุกปี
ลูบคมตลาดทุน : ธนะชัย ณ นคร
ใกล้เข้าสู่เดือนพฤษภาคมของทุกปี
การพูดเรื่อง Sell in May (and go away) ได้กลับมาอีกครั้ง
ว่ากันว่า Sell in May and Go Away คือปรากฏการณ์ที่ตลาดหุ้นเผชิญแรงขายในเดือนพฤษภาคม
และมีแนวโน้มราคาลดลง
พร้อมกับมีการยกสถิติย้อนหลังไป 10 ปี ดัชนีตลาดหุ้นไทยในเดือนพฤษภาคมปรับลดลงถึง 7 ปี จาก 10 ปี
หากคิดแบบความน่าจะเป็นก็คือ 70% นั่นแหละ
สำหรับ Sell in May and Go Away ไม่ได้เกิดมาจากตลาดหุ้นไทย
ทว่า จุดเริ่มต้นมาจากตลาดหุ้นต่างประเทศ ที่เป็นเหตุการณ์นักลงทุน “ขายหุ้นทำกำไร” ในช่วงเดือนพฤษภาคม
จากนั้นจะรอให้ตลาด “ปรับฐาน” ลงถึงจุดต่ำสุด และโดยสถิติจะใช้เวลาเป็นเดือนๆ จนกระทั่งเริ่มเห็นสัญญาณตลาดฟื้นตัว จึงค่อยเริ่มซื้อหุ้นอีกครั้ง
มีการยกสถิติจากผลศึกษาข้อมูลดัชนีสำคัญทั่วโลก 15 ปีย้อนหลัง พบว่ามีความน่าจะเป็นประมาณ 50% ที่ตลาดหุ้นจะปรับลดลงในเดือนพฤษภาคม แต่จะเกิดขึ้นกับตลาดหุ้นประเทศตะวันตก
รวมถึงตลาดหุ้นขนาดใหญ่ในเอเชีย เช่น ญี่ปุ่น ฮ่องกง อินเดีย
ในมุมมองของนักลงทุนรายใหญ่สาย VI “ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร” เคยกล่าวถึงเรื่องนี้ไว้อย่างน่าสนใจ
เขาบอกว่า ความเป็นจริงก็คือ จากการศึกษาตลาดหุ้นในสหรัฐฯ กลับพบว่าตลาดหุ้นในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงตุลาคมนั้นมักจะ “ขึ้น” มากกว่า “ลง”
ส่วนการศึกษาในตลาดหุ้นไทยนั้น ดร.นิเวศน์ บอกว่า “ไม่แน่ใจ”
แต่ก็คิดว่าเรื่อง Sell in May and go away นั้นไม่น่าจะเป็นจริง
หรือพูดง่าย ๆ เป็นเรื่องที่บังเอิญมีการพูดกันเล่น ๆ นานมาแล้ว และคนจะพูดต่อ ๆ กันไปทั้ง ๆ ที่ไม่เป็นความจริงเลย
ดังนั้น เรื่องนี้ไม่ควรจะไปยึดถืออะไรจริงจัง แต่เชื่อเถอะว่าในปีต่อไปคนก็จะพูด (เรื่องนี้) อีกเวลาถึงเดือนพฤษภาคม
มาดูความเห็นของนักวิเคราะห์กันบ้างเกี่ยวกับเรื่องนี้
กรภัทร วรเชษฐ์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและบริการการลงทุน บล.โนมูระ พัฒนสิน ได้กล่าวไว้น่าสนใจเช่นกัน
โดยระบุว่า บรรยากาศการลงทุนในสัปดาห์สุดท้ายของเดือนเม.ย. 63 จะยังเคลื่อนไหวผันผวน
สาเหตุเพราะนักลงทุนเตรียมปรับ Position ก่อนเข้าสู่เดือนพ.ค.
และตลาดหุ้นไทยมักเจอกับ “แรงขาย”
ประกอบกับเป็นช่วงนักวิเคราะห์ทยอยปรับลดประมาณการกำไรของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) และสภาพคล่องระยะสั้นเป็นลักษณะหดตัวมากกว่าภาวะปกติ
นักลงทุนนิยามช่วงนี้ว่า Sell in May and go away
เบื้องต้นประเมินกรอบการเคลื่อนไหวในเดือนพ.ค. มีแนวต้าน 1,300-1,320 จุด และแนวรับ 1,153-1,120 จุด
“หากย้อนหลังไป 10 ปีสถิติของ Sell in May ตลาดหุ้นไทยในเดือนพ.ค. ติดลบเฉลี่ย 0.50-3.00% เป็นการติดลบถึง 7 ปีในรอบ 10 ปี แม้ว่าค่าเฉลี่ยจะลดลงไม่มาก เพราะปี 2562 ตลาดหุ้นไทยรีบาวด์ขึ้นถึง 4% ดังนั้น หากตัดค่าเฉลี่ยของปี 2562 ออกไป ส่งผลให้ตลาดหุ้นไทยปรับตัวลดลงเฉลี่ยถึง 2% และมักเป็นเดือนต่างชาติขายหุ้นไทยมากที่สุด”
มาดูความคิดเห็นของฝั่งบล.เอเซีย พลัส กันบ้าง
นั่นคือ ปัญหาโควิดที่ยังอยู่อาจเป็นการตอกย้ำให้เกิดเหตุการณ์ Sell in May
และทำให้ “ซ้ำรอย” ในอดีตที่เดือนพ.ค. ตลาดหุ้นไทยมักจะปรับตัวแรงเสมอ หรือเฉลี่ยลดลงราว 2%
มีปัจจัยหลัก ๆ 3 ปัจจัยที่มักเกิดขึ้นซ้ำ ๆ ส่งผลให้เกิดปรากฏการณ์ Sell in May อยู่เสมอ คือ
1.เดือนพ.ค. เป็นช่วงประกาศงบบริษัทจดทะเบียนในไตรมาสแรก หากออกต่ำกว่าคาด จึงมีโอกาสที่จะถูก Sell on fact ได้
ยิ่งไปกว่านั้นในปีนี้นักลงทุนส่วนใหญ่ยังคาดว่ากำไรบริษัทจดทะเบียนปี 2563 น่าจะทำจุดต่ำสุดในไตรมาส 2 ทำให้ตลาดหุ้นในช่วงเดือนพ.ค. 2563 อาจไม่คึกคักมาก
2.เดือน พ.ค. เป็นเดือนที่เม็ดเงินลงทุนต่างชาติมักไหลออกจากตลาดหุ้นมากสุดเฉลี่ยสูงถึง 1.65 หมื่นล้านบาท
และ 3.เนื่องจากเดือนพ.ค. เป็นช่วงที่ตลาดหุ้นไทยขึ้นเครื่องหมาย XD และจ่ายปันผลงบปี 2562 เกือบหมดแล้วกว่า 408 ใน 488 บริษัท (คิดเป็น 83% ของบริษัทที่ประกาศจ่ายปันผล)
ทำให้นักลงทุนมีการโยกเงินกลับประเทศบางส่วน
รวมถึงก่อนขึ้นเครื่องหมาย XD ยังได้เก็งกำไรหุ้นแล้ว จึงไม่มีแรงซื้อที่เข้ามาหนุนตลาดเหมือนกับเดือนที่ผ่าน ๆ มา
ทั้งหมดนี้ คือทรรศนะคร่าว ๆ ของปรากฏการณ์ Sell in May and Go Away
ส่วนปีนี้จะเกิดขึ้นหรือไม่นั้น (อาจด้วยความบังเอิญ หรือเหตุผลปัจจัยบวก-ลบแต่ละปี)
อีกไม่กี่วัน เรามาลุ้นกัน