CPF เด่นสุดหุ้นกลุ่มไก่!?

เส้นทางนักลงทุน นายอนันต์ ศิริมงคลเกษม นายกสมาคมผู้ผลิต …


เส้นทางนักลงทุน

นายอนันต์ ศิริมงคลเกษม นายกสมาคมผู้ผลิตไก่เพื่อส่งออกไทย เปิดเผยว่า ในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2563 การส่งออกไก่ของไทยยังเติบโต (เพิ่มขึ้น 3% ถึง 4%) และหากมีการผ่อนคลายเรื่องล็อกดาวน์ตั้งแต่เดือน พ.ค. 2563 ก็จะทำให้การส่งออกกระเตื้องขึ้นหลังอ่อนแอลงในเดือน เม.ย. 2563

อย่างไรก็ตามมีการคาดยอดส่งออกไก่ในปี 2563 จะทรงตัวที่ 9.5-9.6 แสนตันได้เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน (มูลค่าส่งออกรวมราว 1.1 แสนล้านบาท) แม้ว่าจะมีแรงกดดันจากผลกระทบจาก COVID-19

สำหรับไทยเป็นผู้ผลิตไก่เนื้ออันดับ 8 ของโลก มีกำลังการผลิต 2.8 ล้านตันต่อปี และเป็นผู้นำด้านการส่งออกเป็นอันดับ 4 ของโลก

ทั้งนี้การเติบโตที่สำคัญของการส่งออกในปี 2563 คือ ตลาดจีน ซึ่งเป็นตลาดส่งออกไก่ของไทยอันดับ 3 รองจากญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป โดยสมาคมฯ คาดว่าการส่งออกไปจีนในปี 2563 จะอยู่ที่ 3.5-4.0 หมื่นตัน จากการประกาศรับรองโรงงานไก่อีก 7 แห่ง ซึ่งจะทำให้มีโรงงานที่ส่งออกไก่ไปจีนได้รวมทั้งหมด 21 แห่ง

ส่วนตลาดอันดับ 1 คือ ญี่ปุ่น มีปริมาณส่งออก 4.38 แสนตัน (มูลค่าราว 6 หมื่นล้านบาท) ลูกค้ากำลังรอดูสถานการณ์ และตลาดอันดับ 2 คือ สหภาพยุโรป มีปริมาณส่งออก 3.2 แสนตัน (มูลค่า 3.4 หมื่นล้านบาท) ยังรอการผ่อนคลายล็อกดาวน์

ด้านประเด็นที่ต้องติดตามและอาจเป็นความเสี่ยง คือ การที่สมาคมผู้แปรรูปสัตว์ปีก (AVEC) สมาคมผู้ค้าสัตว์ปีกแห่งสหภาพยุโรป และสมาคมผู้เลี้ยงและฟักสัตว์ปีกแห่งสหภาพยุโรป (ELPHA) ขอให้คณะกรรมาธิการยุโรป (European Commission) ปรับลดการนำเข้าไก่เนื้อจากบราซิล ไทย และยูเครน จำนวน 850,000 ตัน เพื่อแก้ปัญหาไก่ในประเทศมีโอเวอร์ซัพพลาย เรื่องนี้คณะกรรมาธิการยุโรปต้องมีการพิจารณาว่ามีความเป็นไปได้หรือไม่

และที่สำคัญจะกระทบต่อการค้าระหว่างประเทศหรือไม่ ซึ่งปัจจุบันลูกค้าในตลาดนี้ได้ชะลอการซื้ออยู่แล้ว เนื่องจากในยุโรปร้านอาหารต่างปิดตัวลงจากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ไทยส่งเข้าตลาด EU ลดลงอยู่แล้ว ตามความต้องการบริโภคที่ลดลงในช่วงนี้ และเรื่องนี้เป็นเรื่องในระดับของรัฐต่อรัฐที่จะต้องเจรจากันในการจำกัดหรือชะลอการนำเข้า เนื่องจากในสถานการณ์เช่นนี้ความต้องการย่อมลดลง เป็นปัญหาที่ทั้งโลกต้องเผชิญร่วมกัน

ในมุมมอง บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส คาดว่า อุตสาหกรรมไก่ส่งออกได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เช่นกัน แต่ยังน้อยกว่าอุตสาหกรรมส่งออกอื่น ๆ เพราะมีความจำเป็นในการบริโภค รวมถึงไก่เป็นแหล่งโปรตีนที่ราคาไม่สูง สำหรับอุปทานไก่ในประเทศที่เพิ่มขึ้นและราคาไก่ร่วงลง คาดว่าจะเป็นไปในระยะหนึ่ง แต่เมื่อประเทศต่าง ๆ ผ่อนคลายการล็อกดาวน์การส่งออกก็จะดีขึ้น ปริมาณไก่ในประเทศก็จะลดลงและราคาไก่สามารถกระเตื้องขึ้นได้ โดยคาดว่ามีโอกาสจะเกิดขึ้นในครึ่งหลังของปี 2563

ดังนั้นมีการแนะนำ “ซื้อ” บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF ราคาพื้นฐาน 38 บาท ส่วนที่แนะนำ “ถือ” บริษัท จีเอฟพีที จำกัด (มหาชน) หรือ GFPT ราคาพื้นฐาน 10.90 บาท และ บริษัท ไทยฟู้ดส์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TFG เป็น “Not rated”

เช่นเดียวกับ บล.ทรีนีตี้ คาดกำไรสุทธิสำหรับบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF ในไตรมาส 1/2563 ที่ 4,734 ล้านบาท ดีขึ้น 18% จากไตรมาสก่อน และ 11% จากงวดเดียวกันของปีก่อน โดยปัจจัยหนุนหลักในไตรมาสนี้ยังมาจากราคาหมูในเวียดนามที่ดีขึ้นต่อเนื่องมาจนสูงกว่า 80,000 ดอง/กก. (ในไตรมาสก่อนเฉลี่ยอยู่ที่ 64,000 ดอง/กก.)

ส่วนราคาสัตว์บกในไทยยังค่อนข้างทรงตัวจากไตรมาสก่อน โดยราคาหมูเฉลี่ยอยู่ที่ 61 บาท/กก. (เพิ่มขึ้น 1% จากไตรมาสก่อน, และลดลง 17% จากงวดเดียวกันของปีก่อน) และราคาไก่เฉลี่ยอยู่ที่ 35 บาท/กก. (ลดลง 1% จากไตรมาสก่อน, แต่เพิ่มขึ้น 3% จากงวดเดียวกันของปีก่อน) ในภาพรวมจึงคาดอัตรากำไรขั้นต้นจะดีขึ้นจากไตรมาสก่อนที่ 15.7% มาอยู่ที่ราว 16.3%

สำหรับผลกระทบจาก COVID-19 ค่อนข้างจำกัด โดยในจีนยอดขายอาหารอาจลดลงในช่วงสั้นแค่ไม่กี่สัปดาห์จาก Logistic ที่สะดุด แต่หลังจากนั้นยอดขายได้กลับมาเป็นปกติ ส่วนในไทยเห็นผลกระทบจากธุรกิจที่เป็น Food Service บ้าง แต่สัดส่วนยอดขายน้อยมากเมื่อเทียบกับรายได้รวม

แนวโน้มผลประกอบการในปี 2563 คาดว่าผลกระทบโดยรวมจาก COVID-19 จะค่อนข้างจำกัด แม้ว่าธุรกิจที่เป็นร้านอาหารและ Food Service จะได้รับผลกระทบบ้าง แต่ธุรกิจหลักอย่าง เช่น ฟาร์มสัตว์บกยังค่อนข้างดี โดยราคาหมูในเวียดนามในปัจจุบันจะอ่อนตัวลงมาอยู่ที่ราว 70,000 ดอง/กก. แต่ยังเป็นระดับที่ค่อนข้างสูง ส่วนราคาหมูในไทยปัจจุบันปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ราว 65-70 บาท/กก. ด้านราคาไก่อาจจะอ่อนตัวลงมาบ้างจากการส่งออกที่สะดุดในช่วงสั้นแต่คาดว่าจะฟื้นตัวได้ ทั้งนี้บริษัทยังคงเป้าการเติบโตของรายได้รวมที่ 5-8% จากงวดเดียวกันของปีก่อน แต่อาจมีการปรับลด CAPEX ในส่วนที่เป็นการขยายกำลังการผลิต รวมถึงเน้นการควบคุมค่าใช้จ่าย

ด้วยแนวโน้มผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นต่อเนื่อง และผลกระทบจาก COVID-19 ที่จำกัด จึงมองเป็นหุ้นเด่นในช่วงที่ผลประกอบการของบริษัทส่วนใหญ่อ่อนตัวลง คงคำแนะนำ “ซื้อ” คงราคาเป้าหมายที่ 39 บาท

ข้อมูลข้างต้น โดยเฉพาะคำแนะนำของบล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส ประเมิน จะเห็นได้ว่ามีเพียงแนะซื้อ CPF ตัวเดียวในหุ้นกลุ่มไก่ ดังนั้นมองว่าหุ้น CPF ยังเด่นสุดของกลุ่ม !!!

Back to top button