‘มรดกบาป’ ไวรัสโคโรนา
ในช่วงนี้เป็นช่วงที่หลายประเทศกำลังพิจารณาว่าสมควรจะเปิดเศรษฐกิจอีกครั้งหรือไม่หลังจากที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อใหม่เริ่มแผ่วลงในหลายประเทศ
รายงานพิเศษ
ในช่วงนี้เป็นช่วงที่หลายประเทศกำลังพิจารณาว่าสมควรจะเปิดเศรษฐกิจอีกครั้งหรือไม่หลังจากที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อใหม่เริ่มแผ่วลงในหลายประเทศ แต่อีกด้านหนึ่งก็มีความกังวลว่าหากเปิดเศรษฐกิจเร็วเกินไป โควิด-19 อาจจะกลับมาเป็นรอบที่สองซึ่งยากกว่าเดิมที่จะควบคุมความเสียหาย แต่ไม่ว่าจะตัดสินใจอย่างไร โควิด-19 จะทิ้งมรดกบาปที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้
Satyajit Das อดีตนายธนาคาร และผู้เขียนหนังสือ Banquet of Consequences, Extreme Money และ Traders, Guns & Money ได้สรุปไว้ในมาร์เก็ตวอตช์ ว่า แม้วิกฤติโควิด-19 ผ่านพ้นไป แต่มันจะทิ้งมรดกบาปไว้ดังต่อไปนี้
1) วิกฤติไวรัสโคโรนาจะทำลายความมั่งคั่งต่อไป
ในช่วงที่เกิดภาวะถดถอยครั้งใหญ่ในสหรัฐ การออม มูลค่าของที่อยู่อาศัย และการลงทุนได้หายไปประมาณ 10 ล้านล้านดอลลาร์ หลังจากวิกฤติโควิด-19 เงินออมที่ลดลงจะส่งผลกระทบต่อระดับการบริโภค แม้ในระยะยาว ราคาบ้านและหุ้นที่เพิ่มสูงขึ้นอาจจะช่วยฟื้นฟูความมั่งคั่งได้ แต่ก็จะเกิดขึ้นกับคนที่ไม่ได้ถูกบังคับให้ขายเท่านั้น ผลกระทบที่เกิดขึ้นจะสร้างความเสียหายมากสุดต่อคนที่อยู่ในกลุ่มเศรษฐกิจ-สังคมชั้นล่างที่ถูกบีบให้ใช้เงินมากกว่าที่สามารถออมได้
2) วิกฤติไวรัสโคโรนาจะทิ้งมรดกหนี้ไว้
ครัวเรือน ธุรกิจ และรัฐบาล ซึ่งหลายแห่งมีหนี้มากอยู่แล้ว จะต้องกู้เงินเพิ่มขึ้นอย่างรุนแรงเพื่อให้ครอบคลุมกับการขาดแคลนกระแสเงินสด และหลังจากที่รัฐบาลประมาณครึ่งหนึ่งถึงสองในสาม กู้เงินเพื่ออุดหนุนแผนกระตุ้นเศรษฐกิจ หนี้ก็จะเพิ่มขึ้นมาก ส่วนครัวเรือนและธุรกิจ ความจำเป็นที่จะต้องทำตามภาระผูกพันเรื่องหนี้ จะเข้มงวดกับการใช้จ่ายและการลงทุนในอนาคตเมื่อถูกบีบให้ลดการกู้เงิน และหากราคาสินทรัพย์การเงินและอสังหาริมทรัพย์ฟื้นตัวช้าก็จะยิ่งสร้างความเสียหายมากขึ้น
สิบปีหลังจากที่เกิดวิกฤติการเงินในปี 2551 เจ้าของบ้านยังคงติดหนี้จำนองมากกว่ามูลค่าของบ้าน ส่วนคนที่ผิดนัดชำระหนี้ ผลกระทบต่อคะแนนความน่าเชื่อถือจะจำกัดความสามารถในการกู้เงินในอนาคต ซึ่งจะจำกัดการเข้าร่วมในเศรษฐกิจ
อัตราดอกเบี้ยที่ต่ำและการดำเนินมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (คิวอี) ของธนาคารกลางจะทำให้รัฐบาลต่าง ๆ สร้างหนี้เพิ่มได้ แต่เนื่องจากหลายประเทศน่าจะมีหนี้ถึง 150% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) แล้ว มันจะชะลอการเติบโต ลดความยืดหยุ่นในการใช้จ่ายและทำให้ผู้กู้อื่น ๆ ไม่กู้เงินจากตลาดทุน อัตราการเติบโตที่ต่ำในอนาคตและระดับหนี้ที่สูงไม่ไปด้วยกันและจะบั่นทอนเสถียรภาพเงินตรา
3) ธุรกิจฟื้นตัวช้า
ธุรกิจขนาดเล็กส่วนใหญ่ขาดทุนสำรองที่เพียงพอต่อการใช้จ่ายมากกว่าหนึ่งเดือน หรืออย่างมากสุดหนึ่งไตรมาส เงินทุนที่ได้ลงทุนไปจะหายไป ผู้บริโภคอาจจะเปลี่ยนไปหาบริษัทอื่น ความล้มเหลวต่าง ๆ จะทำลายทรัพย์สินทางปัญญาที่อยู่ในเครือข่ายลูกค้า พนักงาน และกระบวนการต่าง ๆ และจะต้องใช้เวลาจึงจะทำให้การสูญเสียเหล่านี้กลับมาได้
ธุรกิจท่องเที่ยวและโรงแรม ซึ่งรวมถึงสายการบิน ก็มีหนี้ในช่วงที่เกิดวิกฤติ และเพื่อที่จะรักษาเงินสดไว้ บริษัทเหล่านี้จำนวนมากไม่ได้คืนเงินให้กับลูกค้าในการยกเลิกการจอง แต่ได้ให้บัตรกำนัลเพื่อใช้ในอนาคต เมื่อกิจกรรมเริ่มขึ้นอีกครั้ง บริษัทเหล่านี้จะมีต้นทุนที่จะต้องทำตามเงื่อนไขเหล่านี้โดยไม่ได้มีรายได้เพิ่ม
การเปลี่ยนแปลงดีมานด์ของผู้บริโภคที่เกิดจากวิกฤติไวรัสโคโรนาอาจกระทบต่อระดับกิจกรรมและธุรกิจบางแห่ง การประชุมทางไกลอาจเข้าไปแทนที่การเดินทางติดต่อธุรกิจ การทำงานจากที่บ้าน การช็อปปิ้งออนไลน์ และความบันเทิงที่โตมากขึ้นอาจเปลี่ยนแปลงดีมานด์อสังหาริมทรัพย์ คนอาจเลี่ยงการล่องเรือสำราญ และอาจจะไม่เต็มใจเดินทางไปต่างประเทศเพราะกลัวการล็อกดาวน์ในอนาคต
4) จะมีผลกระทบในทางลบในตลาดแรงงาน
แนวโน้มที่จะไม่ได้งานจริงจะทำให้หลายคนออกจากกำลังแรงงาน และไม่น่าจะมีการจ้างงานใหม่ต่อคนที่ว่างงานในระยะยาวและทักษะงานเสื่อมถอยลง ซึ่งจะไปเพิ่มดีมานด์สวัสดิการและทำเกิดต้นทุนทางสังคมมาก นายจ้างจะปรับกำลังแรงงานใหม่เพื่อให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้นเพื่อลดต้นทุนได้อย่างรวดเร็ดเมื่อเกิดวิกฤติในอนาคต งานฟรีแลนซ์ และสัญญารับเหมาช่วงจะมีมากขึ้น ความมั่นคงของตำแหน่งงานและรายได้โดยรวมลดลง ผลกระทบนี้จะตกอยู่กับผู้อพยพ ชนกลุ่มน้อย และกลุ่มคนที่มีค่าแรงต่ำ
5) หนี้รัฐบาลสูงขึ้นและรัฐจะเข้าไปเกี่ยวข้องมากขึ้น
ในส่วนนี้ยากที่จะเปลี่ยนแปลง สิทธิประโยชน์ที่จัดขึ้นในช่วงที่เกิดวิกฤติโควิด-19 อาจจะลดทอนลงได้ยาก บริการที่มีความจำเป็นหรือมีความสำคัญในเชิงกลยุทธ์อาจจะกลับไปอยู่ในความดูแลของรัฐบาลในบางรูปแบบ การให้ความช่วยเหลือทางการเงินอาจลดการแข่งขันและทำให้เกิด “ซอมบี้อุตสาหกรรม” เมื่อรัฐบาลหาทางรักษาการจ้างงานและบริษัทเอาไว้ การสนับสนุนรายได้อย่างกว้างขวางอาจลดแรงจูงใจในการออมหรือแม้แต่การทำงาน
6) คาดว่าประชาชนจะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม
บาดแผลจากวิกฤติจะกระทบต่อการสร้างครอบครัว (Family Formation) และภาวะเจริญพันธุ์ (Fertility) ซึ่งจะเปลี่ยนแปลงประชากรและเร่งให้เกิดซอมบี้อุตสาหกรรมที่กระทบต่อสังคมที่มีประชากรสูงอายุ ทัศนคติที่มีต่อการใช้จ่ายและการออมอาจจะเปลี่ยนไป หลังจากที่เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก คนเริ่มประหยัดมากขึ้นและระวังมากขึ้น โดยกลัวว่าจะเกิดความคลาดเคลื่อนใหม่ที่จะคุกคามต่อความอยู่รอด
รัฐบาลสามารถลดผลกระทบของมรกดบาปเหล่านี้ได้โดยการเอื้อการลงทุน และอำนวยความสะดวกในการจัดอบรม แต่ผลที่ตามมาจากมรดกบาปเหล่านี้อาจจะอยู่นอกเหนือการควบคุม ซึ่งจะนำไปสู่การฟื้นตัวอย่างเชื่องช้าและการเติบโตทางเศรษฐกิจลดลง