ช่วงเวลาวัดใจ 6 เศรษฐี
เอาเป็นว่าเราไม่เคยรับรู้มาก่อนว่าเมืองไทยเรานี้ ใครรวย 20 หรือ 50 อันดับแรก
พลวัตปี 2020 : วิษณุ โชลิตกุล
เอาเป็นว่าเราไม่เคยรับรู้มาก่อนว่าเมืองไทยเรานี้ ใครรวย 20 หรือ 50 อันดับแรก
รู้กันแค่ง่าย ๆ เท่าที่ข้อมูลที่มีว่า 6 รายชื่อต่อไปนี้ ล้วนเป็นเศรษฐีใหญ่
ส่วนจะใหญ่แค่ที่พอนั่งจับเข่าคุยนายกรัฐมนตรี …ว่ากันอีกที
เจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์แห่งกลุ่มซีพี-ทรู, เจ้าสัวคีรี กาญจนพาสน์ แห่งกลุ่มบีทีเอส, เจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี แห่งไทยเบฟ, เจ้าสัวประชัย เลี่ยวไพรัตน์แห่งกลุ่มทีพีไอโพลีน, เสี่ยชูชาติ เพ็ชรอำไพ แห่งกลุ่มเมืองไทยลิสซิ่งหรือ MTC และสาวสวยยังโสด ธิดา แก้วบุตตา แห่งกลุ่มศรีสวัสดิ์
ทั้ง 6 รายชื่อนี้เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในบริษัทที่มีตราสารหนี้ระยะสั้นที่เข้าข่ายให้ธปท.เข้าอุ้มตามพ.ร.ก.วงเงิน 4 แสนล้านบาท อุ้มโดยตรงเพื่อ “อุ้มคนรวย (แต่อ้างว่า) ช่วยรายย่อย” (หรือ Trickle-down Effect) กันทั้งนั้น (ส่วนจะยอมให้อุ้มหรืออยากให้อุ้มหรือไม่ อีกไม่นานก็รู้)
ที่ต้องเอ่ยถึงเศรษฐีทั้ง 6 คนนี้ ไม่ใช่เพื่อ “ฟื้นฝอยหาตะเข็บ” แต่เป็นการบอกเล่ากันธรรมดาว่าอะไรก็เกิดขึ้นได้
ในบรรดาข้อมูลตราสารหนี้ของบริษัทเอกชนที่คงค้างทั้งหมดสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ที่มียอดปรากฏในสมาคมตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) รวม 3.7 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นตราสารหนี้ (หุ้นกู้ระยะยาว) และตราสารหนี้ระยะสั้น (ตั๋ว B/E และ non-rating bonds) พบว่าตราสารหนี้ที่ครบกำหนดไถ่ถอนในสิ้นปี 2563นี้ ที่เข้าข่ายได้รับการโอบอุ้มจากธปท. ตามที่กำหนดไว้ใน พ.ร.ก.ดังกล่าว มีชื่อที่เกี่ยวข้องกับรายชื่อเศรษฐีทั้ง 5 คน ที่เป็นหนี้ระยะสั้นซึ่งจะต้องครบอายุไถ่ถอน
ตราสารหนี้ระยะสั้นของบริษัทที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐีทั้ง 6 ราย ล้วนเป็นตั๋วเงิน B/E ที่มีเรตติ้งกันทุกราย กล่าวคือ
บริษัท บีทีเอส กรุ๊ปโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) มีระยะสั้นเป็นตั๋วเงิน B/E ไม่มีหลักประกัน 19 รายการ เรตติ้ง A วงเงิน 13,980 ล้านบาท ครบกำหนดไถ่ถอน เดือนเมษายน 2563
บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) มีระยะสั้น เป็นตั๋วเงิน B/E 7 รายการ ไม่มีหลักประกันเรตติ้งA+ วงเงิน 18,150 ล้านบาท ครบกำหนดไถ่ถอนเดือนมีนาคม-เมษายน 2563
บริษัท ซีพีเอฟ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) มีทั้งระยะสั้น 7 รายการไม่มีประกัน เรตติ้ง A+ วงเงิน 5,500 ล้านบาท ครบกำหนดไถ่ถอน มีนาคม-มิถุนายน 2563
บริษัท ไทย เบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) มีตั๋วเงิน B/E ระยะสั้น 1 รายการไม่มีประกัน เรตติ้ง AA วงเงิน 2,000 ล้านบาท ครบกำหนดไถ่ถอน 23 เมษายน 2563
บริษัท ทีพีไอ โพลีน จำกัด (มหาชน) มีตั๋วเงิน B/E ระยะสั้น 8 รายการ ไม่มีประกัน เรตติ้ง BBB+ วงเงินรวม 1,565 ล้านบาท ครบกำหนดไถ่ถอนตั้งแต่เดือนมีนาคม-กันยายน 2563
บริษัทเมืองไทย แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) มีตั๋วเงิน B/E ระยะสั้น 15 รายการ ไม่มีประกัน เรตติ้ง BBB+ ทั้งหมดรวมวงเงิน 1,350 ล้านบาท ครบกำหนดไถ่ถอนเดือนมีนาคม 2563 ทั้งหมด
บริษัท ศรีสวัสดิ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) มีตั๋วเงิน B/E ระยะสั้น 2 รายการ ไม่มีประกัน เรตติ้ง BBB+ รวมวงเงิน 400 ล้านบาท รายการแรกครบกำหนดไถ่ถอน 22 เมษายน 2563 รายการหลังครบกำหนด 26 พฤษภาคม 2563
ทั้งหมดนี้ ล้วนเป็นตั๋วเงินที่มีเรตติ้งสูงทั้งสิ้นส่วนใหญ่ครบกำหนดไถ่ถอนไปแล้ว เหลือเฉพาะของราย ทีพีไอโพลีนที่จะทอดยาวไปถึงเดือนกันยายนปีนี้
ที่น่าสนใจคือตั๋ว B/E ระยะสั้นที่ครบกำหนดไถ่ถอนไปแล้วของบริษัทเศรษฐีทั้ง 6 ราย ไม่มีรายการไหนที่มีปัญหาไม่มีเงินมาชำระการไถ่ถอน แสดงว่าบริษัทใต้ร่มของทั้ง 6 ราย ไม่มีปัญหาขาดสภาพคล่อง
แล้วหากยึดตามข้อมูลที่คุณนวพร เรืองสกุล นำมาเปิดเผยว่า ตราสารหนี้ที่เรตติ้งสูง ๆ เหล่านี้ไม่น่าจะมีปัญหาในการต่ออายุหรือ roll over เพราะตลาดคงมั่นใจพอสมควรว่าเงินที่ลงทุนกับตราสารหนี้ของเศรษฐีเหล่านี้ ไม่น่า “โดนเบี้ยว”
คำถามก็คือ ช่วงเวลาจากนี้ไป เมื่อธปท.ออกมาตรการ “คุณพ่อรู้ดี” เพื่อออกมาอุ้มช่วยเหลือในกรณีขาดสภาพคล่องจนไม่สามารถชำระหนี้ได้ เจ้าสัวและเศรษฐีทั้ง 6 ราย จะมีใครหน้าไหนยอมกลืนน้ำลายตนเอง เสียเชิงถึงขั้นยอมรับการโอบอุ้มจากธปท. ซึ่งโดยนัยแล้วเท่ากับประกาศหน้าตาเฉยว่า “ข้าพเจ้า…บ่อจี๊เลี้ยว”
หากขืนทำแบบที่ว่า มาดเศรษฐีที่สร้างสมบารมีมายาวนานเกือบทั้งชีวิต หรือบางคนหลายชั่วคน ก็เป็นอันว่า “จอมปลอมทั้งเพ” ซึ่งลองคิดในแง่ศักดิ์ศรีของมนุษย์แล้ว ไม่น่าและไม่สมควรเกิดขึ้น
เรียกว่า ถ้าเกิดขึ้นเมื่อใด ได้เห็นกิ้งกือหกคะเมนแน่นอน
ถ้าเกิดสมมติกันว่า ในกรณีที่บรรดาเจ้าสัวและเศรษฐีทั้งหลายของประเทศไทยนอกเหนือกว่าทั้ง 6 รายที่เอ่ยชื่อมาในที่นี้ เกิดอาการ “คอแข็ง” ยินยอมกลืนเลือด มากกว่าสยบรับการโอบอุ้มจากธปท. คำถามก็ตามมาว่า ธปท.ในฐานะ “คุณพ่อรู้ดี” จะเอาหน้าไปซุกไว้ที่ไหน
อุตส่าห์วาดภาพน่าสะพรึงกลัวมากมายเพื่ออวดภูมิ ที่แท้ก็แค่……ตีตนไปก่อนไข้
นิทานเรื่องนี้ สอนให้รู้ว่า……