การบินไทย โอกาสสุดท้าย
แล้วอะไรที่ว่าแน่ระดับ “ของตาย” ก็เกิดการสะดุดได้เหมือนกัน
พลวัตปี 2020 : วิษณุ โชลิตกุล
แล้วอะไรที่ว่าแน่ระดับ “ของตาย” ก็เกิดการสะดุดได้เหมือนกัน
จากเดิมที่คาดหมายว่าแผนฟื้นฟูของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ THAI ซึ่งเป็นสายการบินแห่งชาติ จะได้เข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีในวันที่ (5 พ.ค. 63) สอดรับมติของคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ที่นายกรัฐมนตรีนั่งเป็นประธานเสียเอง ทำให้การ “ปล้นกลางแดด” ให้กระทรวงคลังเข้าไปค้ำประกันเงินกู้ (ทำนองเดียวกับท่อหายใจของคนป่วยอาการโคม่า) จำนวน 50,000 ล้านบาท ต้องติดโรคเลื่อน “สหสมภพ” ขึ้นมา
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม อ้างว่า คนร.ยังไม่ได้มีการจัดส่งมติ มายังกระทรวงคมนาคมที่เป็นเจ้าของเรื่อง และกระทรวงคมนาคมอยู่ระหว่างการพิจารณาการปรับปรุงแผนฟื้นฟูการบินไทยให้เป็นลักษณะของแผนปฏิบัติการ (Action Alan) ที่จะนำไปสู่การปฏิบัติได้จริง โดยมอบหมายให้เจ้าหน้าที่ร่วมกันดูในรายละเอียดของแผนฟื้นฟูการบินไทยที่มีการปรับปรุง ก่อนที่จะสรุปผลอย่างเป็นทางการก่อนเข้า ครม.อีกครั้งหนึ่ง
หลังจากเลื่อนเข้าครม. ก็มีรายงานข่าว (ปล่อย) ระบุว่า ที่ต้องดึงเรื่อง เพราะแผนฟื้นฟูของ THAI ไม่มีแผนการสร้างรายได้, แผนการบริหารหนี้, แผนรายจ่ายที่จะต้องดำเนินการตามกรอบเวลาให้เห็นภาพที่ชัดเจน
นอกจากนั้น ข่าวปล่อยยังระบุอีกว่า ตามแผนตามยุทธศาสตร์ที่จะดำเนินการทุกแผนของการบินไทย (ซึ่งผ่านคนร.แล้ว) ระบุว่ามีความเสี่ยงในขณะปฏิบัติงานทุกขั้นตอน ดังนั้นจึงทำให้มีข้อกังวลว่าหากแผนมีการดำเนินการและเกิดความเสี่ยงขึ้น จากการที่ภาครัฐบาลจะใส่เม็ดเงินเข้าไปช่วยเหลือ
ข่าวปล่อยดังกล่าวแม้ไม่บอกตรง ๆ ก็ตอกย้ำว่า มติ คนร.มีการพิจารณาที่ “เฮงซวย” อย่างยิ่ง
แม้มติ คนร.จะถูกถ่วงนานออกไป ไม่ว่าจะเพราะสถานการณ์ทางการเงินของ THAI จะเลวร้ายเกินกว่าที่คนร.ประเมิน หรือ เพราะการ “งัดข้อกันเอง” ระหว่างคนในรัฐบาลผสมสิบพ่อร้อยแม่ ก็ล้วนบ่งบอกถึงอาการ “หมากตาอับ”
จากการประเมินของ คนร.ก่อนหน้า ระบุว่า ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2563 (ม.ค.-มิ.ย.) บริษัทจะประสบปัญหาขาดทุนราว 18,038 ล้านบาท ขาดทุนมากกว่าปี 2562 ทั้งปีที่ขาดทุนรวมทั้งสิ้น 1.2 หมื่นล้านบาท โดย ณ สิ้นสุดเดือน มิ.ย. 2563 หรือในช่วง 6 เดือนแรก บริษัทจะมียอดกระแสเงินสดติดลบ 7,839 ล้านบาท มีหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ย (ไม่รวมค่าเช่าเครื่องบิน) 139,745 ล้านบาท และมีส่วนของผู้ถือหุ้น (ส่วนทุน) ติดลบ 6,273 ล้านบาท
ขณะที่กระแสเงินสด คาดการณ์ว่า ณ สิ้นเดือน มิ.ย. 2563 จะมีเงินสดติดลบถึง 7,839 ล้านบาท โดยจะเริ่มติดลบตั้งแต่เดือน พ.ค.นี้ (ไม่นับรวมเครดิตไลน์) และจะติดลบในเดือน มิ.ย.นี้ (นับรวมเครดิตไลน์) ทำให้ส่วนของทุนติดลบในไตรมาส 2 ของปี 2563 เป็นวงเงิน 6,273 ล้านบาท ขณะเดียวกันในรอบ 6 เดือนของปีนี้ จะมีหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ย (ไม่รวมค่าเช่าเครื่องบิน) 139,745 ล้านบาท
มติ คนร.เห็นด้วยในหลักการของแผนแก้ไขปัญหาทั้งระยะสั้นและระยะยาวของ THAI ภายใต้สถานการณ์ที่ปัจจุบันมีสภาพคล่องถึงเดือน มิ.ย.นี้เท่านั้น โดยจะเริ่มติดลบตั้งแต่เดือน พ.ค.นี้ (ไม่นับรวมเครดิตไลน์) และจะติดลบในเดือน มิ.ย. (นับรวมเครดิตไลน์) ทำให้ส่วนของทุนติดลบในไตรมาส 2 ของปี 2563 เป็นวงเงิน 6,273 ล้านบาท ขณะเดียวกันในรอบ 6 เดือนของปีนี้ จะมีหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ย (ไม่รวมค่าเช่าเครื่องบิน) 139,745 ล้านบาท
สภาพคล่องอันเลวร้ายเกิดจากการประเมินว่า ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2563 (ม.ค.-มิ.ย.) บริษัทจะประสบปัญหาขาดทุนราว 18,038 ล้านบาท เทียบกับสิ้นปี 2562 ที่มีส่วนของทุนเหลือเพียง 11,765 ล้านบาทแล้วทำให้มีส่วนของทุนติดลบ ภายในไตรมาส 2 อยู่ที่ 6,273 ล้านบาท
ตามหลักการบัญชีแล้ว THAI เข้าข่ายล้มละลายแล้วเมื่อสิ้นไตรมาสสองของปีนี้นั่นเอง
ข้อเท็จจริงดังกล่าว ทำให้กลบฝังข้อมูลที่บริษัทพยายามอ้างว่าช่วงปี พ.ศ. 2551-2557 บริษัทสามารถนำส่งรายได้เข้ารัฐ รวมแล้ว 5 พันกว่าล้านบาท
การกอบกู้ฐานะการเงินของ THAI เห็นได้ชัดว่าเป็นแค่ “แก้ผ้าเอาหน้ารอด” เท่านั้น เนื่องจากปัจจุบันบริษัทนี้ยังไร้กรรมการ และผู้บริหารระดับกรรมการผู้อำนวยการที่จะเข้ามาดำเนินการฟื้นฟูกิจการเลยด้วยซ้ำ
หากมติครม.มีการจัดสรรเงินกู้ที่กระทรวงการคลังเป็นผู้ค้ำประกันวงเงินกู้เพื่อให้ THAI เพื่อช่วยเสริมสภาพคล่องระยะสั้นให้กับบริษัทจนถึงสิ้นปี ซึ่งน้อยกว่าแผนเดิมที่ขอมา 70,000 ล้านบาท โดยจะให้การบินไทยไปเร่งเจรจาปรับโครงสร้างหนี้กับเจ้าหนี้ในประเทศ เช่น ธนาคารกรุงไทย ธนาคารออมสินและเจ้าหนี้ต่างประเทศ …ก็ไม่ใช่เรื่องเกินคาดเดา
ยิ่งสถานการณ์เปลี่ยนไปจากโรคเลื่อนที่ ครม. และข่าวลือว่าตัวเลขจริงเลวร้ายกว่าคาด ยิ่งทำให้ความคาดหวังว่าโอกาสที่ THAI จะเดินตามรอยการหาทางออกจากภาวะล่มสลายทางการเงินของสายการบินเจแปนแอร์ไลน์ หรือ JAL ของญี่ปุ่นเคยเผชิญมาก่อน ห่างไกลยิ่งขึ้น
ตำนานการล่มสลายและฟื้นฟูกิจการของ JAL เป็นกรณีศึกษาชั้นยอด หลังเข้าสู่ฐานะล้มละลายทางการเงิน ต้องขอรับการช่วยเหลือจาก Corporate Rehabilitation Law เข้าสู่ขบวนการปรับโครงสร้างหนี้ในต้นปี ค.ศ. 2010 เพื่อเอาเงินช่วยเหลือจากภาษีประชาชน 3.5 แสนล้านเยน และขอลดหนี้จากยอดภาระ 7.3 แสนล้านเยนลงไป 75% หรือ 5.215 ล้านเยน ด้วยการตัดลดทุนเหลือ 0 ลดต้นทุนผ่านระบบบบริหารเอกชนที่เรียกว่า Amoeba Management โละพนักงาน 1.57 หมื่นคน หรือ 30% ของยอดรวม และถอนตัวจากตลาดหุ้นโตเกียวไปสามปี แล้วไปเชื้อเชิญผู้เฒ่าอายุ 78 ปีอย่างนายคาสุโอะ อิโนมาริ ประธานยักษ์ใหญ่ธุรกิจถ่ายเอกสาร และทำมีดเซรามิก เคียวเซร่า มากอบกู้กิจการโดยที่เขาไม่มีประสบการณ์ทางธุรกิจการบินพาณิชย์เลย
การผ่าตัดครั้งใหญ่ ทำให้ JAL กลับมาระดมทุนในตลาดหุ้นโตเกียวรอบใหม่ในปี ค.ศ. 2012 ให้บทเรียนสำคัญที่น่าสนใจคือ
1) แม้การฟื้นฟูกิจการจะใช้ภาษีและการสูญเสียของผู้ถือหุ้นมหาศาล แต่ JAL ไม่เคยมีเรื่องฉาวทำนองการรับเงินสินบนใต้โต๊ะสั่งซื้อเครื่องบินที่ไม่สัมพันธ์กับตารางการบินและการตลาด ตรงข้ามกับ THAI ที่ถูก “โจรปล้นบ้านตนเอง” จากความจริงที่ต้องห้าม (แต่ปิดไม่มิด) ว่าด้วย การซื้อเครื่องบินผิด (ไม่สัมพันธ์กับตารางเที่ยวบิน) เพราะคนซื้อรวยเละจากค่าคอมฯ (ค่าการตลาดของผู้ขาย) การสั่งซื้อ (ที่มาซุกซ่อนอยู่ในตัวเลขค่าใช้จ่ายเรื่องน้ำมัน)
2) ไม่มีปัญหาเรื่องลดจำนวนพนักงานลงเพราะเจอพิษ “เด็กเส้น”
3) ระบบบริหารหลังล้มละลายที่เรียกว่า Amoeba Management ทำงานมีประสิทธิผล
บทเรียนอันยากลำบากจาก JAL คงไม่ได้ช่วยให้เห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์สำหรับ THAI แน่นอน
คำพูดล่าสุดของพลเอกประยุทธ์ ที่บอกว่าเป็นโอกาสสุดท้าย บอกนัยเชิงลบมากมาย