สปส. เงินลงทุน 2 ล้านล้าน

ช่วงนี้สำนักงานประกันสังคม (สปส.) ถูกกล่าวถึงบ่อยจริง ๆ


ลูบคมตลาดทุน : ธนะชัย ณ นคร

ช่วงนี้สำนักงานประกันสังคม (สปส.) ถูกกล่าวถึงบ่อยจริง ๆ

มากมายหลายประเด็น

ทว่า วันนี้จะเขียนเฉพาะประเด็นเกี่ยวกับเงินลงทุนของ สปส.

เพราะกำลังถูกเมาท์แบบร้อน ๆ

และอาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดได้ (เกี่ยวกับการลงทุน)

ล่าสุด “วิน พรหมแพทย์” ประธานเจ้าหน้าที่การลงทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ซีไอเอ็มบี-พรินซิเพิล จำกัด

ในฐานะที่เคยเป็นหัวหน้ากลุ่มลงทุน สำนักงานประกันสังคม (สปส.)

ได้ออกมาให้ข้อมูลเกี่ยวกับเงินลงทุนของ สปส.

ผ่าน Facebook ของตัวเอง

เริ่มต้น วิน บอกว่าหลายคนแสดงความกังวลเกี่ยวกับการลงทุนของกองทุนประกันสังคม

และตั้งข้อสังเกตว่า มูลค่าเงินลงทุนลดลงจากภาวะตลาดหุ้น

และแม้ตัวเองจะออกมา (จาก สปส.) เกือบ 5 ปีแล้ว ก็ขออนุญาตช่วยให้ข้อมูลเผื่อจะเป็นประโยชน์

ณ สิ้นปี 2562 กองทุนประกันสังคมมีเงินลงทุน 2,095,393 ล้านบาท

เงินจำนวนนี้ ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนใน “สินทรัพย์มั่นคง” (แต่ได้ดอกผลน้อย)

เช่น พันธบัตรรัฐบาล พันธบัตรรัฐวิสาหกิจ ประมาณ 80%

และมีส่วนที่ลงทุนใน (ตลาด) หุ้น (มีความเสี่ยงกว่า แต่ให้ผลตอบแทนในระยะยาวมากกว่า) ประมาณ 11% หรือประมาณ 200,000 ล้านบาท

มีการระบุว่า เงินจำนวน 2,095,393 ล้านบาท ที่ว่านี้

เป็น “เงินต้น” ที่จัดเก็บจากนายจ้าง ลูกจ้าง และรัฐบาล ประมาณ 1,400,000 ล้านบาท

และเป็น “ดอกผลจากการลงทุนสะสม” มากกว่า 660,000 ล้านบาท

หรือถ้าเทียบง่าย ๆ ว่าเรามีเงินต้น 100 บาท ตอนนี้กำไรสะสมก็มากกว่า 47 บาท

ข้อมูลที่ วิน อยากช่วยแบ่งปันก็คือ

1.หากเทียบมูลค่าเงินลงทุนในหุ้นในช่วง 1 ม.ค.–31 มี.ค. 2563

ก็อาจจะมีมูลค่าลดลงไปบ้าง

ทว่า เป็นการปรับลดลงตามราคาตลาด ซึ่งที่จริงมันก็คือ ดอกผลจากการลงทุนสะสมที่หดลงไป ส่วนเงินต้น 1.4 ล้านล้าน ก็ยังอยู่ครบ

2.หลายคนคงไม่ทราบว่า สำนักงานประกันสังคมเป็นผู้ลงทุนระยะยาว

และมีหุ้นหลายตัวที่ถือลงทุนมามากกว่า 10–15 ปี

บางตัวซื้อตั้งแต่  IPO และมีหุ้นหลายตัวมากที่ถ้านับเฉพาะ “เงินปันผลสะสม” ก็เกินมูลค่าเงินลงทุนไปหลายเท่า

3.หลายคนมองแต่ด้านตลาดหุ้นเพียงอย่างเดียว

และลืมไปว่า ในช่วงเวลาเดียวกัน ผลตอบแทนพันธบัตรปรับลง (แปลว่า ราคาพันธบัตรเพิ่มขึ้น) เงินลงทุนของกองทุนประกันสังคมที่มีอยู่ในส่วนตราสารหนี้ประมาณ 80% ก็มีมูลค่าเพิ่มขึ้นด้วย

ยังไม่นับดอกเบี้ยและเงินปันผลที่ได้รับระหว่างทางอีก

4.ถ้าดูข้อมูลที่เผยแพร่ใน website ก็จะพบว่า

ที่จริงในช่วง 1 ม.ค.–31 มี.ค. 2563 กองทุนประกันสังคมมีดอกผลจากการลงทุนสะสม “เพิ่มขึ้น” ประมาณ 10,000 ล้านบาทด้วยซ้ำ

ถ้าพูดในอีกแบบหนึ่ง หากสำนักงานประกันสังคมเก็บเงินมาแล้วไม่นำไปลงทุนเลย วันนี้เราก็จะมีเงินแค่ 1.4 ล้านล้านบาท ไม่ใช่ 2.0 ล้านล้านบาท

การนำเงินไปลงทุนจึงเป็นภารกิจที่ช่วยให้กองทุนมีความมั่นคงมากขึ้น

และทำให้มีดอกผลจากการลงทุนที่ช่วยต่อยอดให้มีเงินมาดูแลสิทธิประโยชน์ได้มากขึ้น

หลังการเขียนของ วิน

มีหลายคนเข้ามาโพสต์แสดงความคิดเห็น ในเชิงสนับสนุน

รวมถึง “เรืองวิทย์ นันทาภิวัฒน์” บุคคลที่อยู่ในวงการตลาดเงิน ตลาดทุนมานาน

เรืองวิทย์ บอกว่า เห็นด้วยกับคุณวิน พรหมแพทย์

พร้อมกับโพสต์ว่า “จริง ๆ แล้วการพิจารณาผลตอบแทนจากการลงทุนของกองทุนประกันสังคมควรจะดูย้อนหลัง 5, 10, 15 ปี แทนที่จะดูแค่ 1, 3, 5 ปี ครับ … การลงทุนที่เน้นตราสารหนี้ทำให้ผลตอบแทนระยะยาวต่ำกว่าที่ควรจะเป็น”

Back to top button