การบินไทย หลังฟื้นฟูฯ

หากไม่มีอะไรผิดพลาด


ลูบคมตลาดทุน : ธนะชัย ณ นคร

หากไม่มีอะไรผิดพลาด

วันนี้ (19 พ.ค.) ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) จะพิจารณาเรื่อง “การบินไทย” (THAI)

หลังจากวานนี้ (18 พ.ค.) ทั้งคลังและคมนาคม ต่างเห็นชอบตรงกัน (แบบมีเซอร์ไพรส์ เพราะก่อนหน้านี้คลังกับคมนาคมเป็นไม้เบื่อไม้เมากันมาตลอดเรื่องของการบินไทย) เพื่อให้การบินไทยเข้าสู่กระบวนการการฟื้นฟูภายใต้ พ.ร.บ.ล้มละลาย ต่อศาลล้มละลาย

ย้ำกันอีกครั้งว่า แนวทางการฟื้นฟูฯ ไม่ใช่เป็นการทำให้การบินไทยล้มละลาย

ทว่าเป็นการให้ศาลล้มละลาย เข้ามาจัดการเรื่องแผนฟื้นฟูฯ ของการบินไทย เรียกเจ้าหนี้ ลูกหนี้ มาคุยกัน

หรือคล้าย ๆ กับแนวทางการฟื้นฟูฯ ของ TPI (หรือ IRPC ในปัจจุบัน) เมื่อหลายปีก่อนหน้านี้

จะว่าไปแล้ว

แนวทางการฟื้นฟูฯ เขาก็มีสูตรในการจัดการ การแก้ไขอยู่นั่นแหละ

ทั้งศาล ที่ปรึกษาทางการเงิน หรือ เอฟเอ ต่างรู้แนวทางกันอยู่แล้ว

ประเด็นสำคัญที่หลายคนสงสัย และตั้งคำถามคือ การบินไทยจะยังคงเป็น “รัฐวิสาหกิจ” (ต่อไป)

หรือจะเปลี่ยนไปเป็น “เอกชน” แบบเต็มตัว

ล่าสุด ข่าวออกมาแล้วว่า คลังจะลดสัดส่วนการถือครองหุ้นต่ำกว่า 50% แล้วให้หน่วยงานที่ไม่ใช่รัฐวิสาหกิจเข้าไปถือหุ้น (เพิ่มทุน) แทน เช่น กองทุนวายุภักษ์

หากเป็นแบบนี้ นั่นหมายความว่า การบินไทย จะไม่ใช่รัฐวิสาหกิจอีกต่อไป

และล่าสุดของล่าสุด ทางสหภาพการบินไทย ออกมาคัดค้านแล้วในประเด็นดังกล่าว

คือ จะไม่ยอมให้คลังลดสัดส่วนการถือหุ้นลงมา

ก็ต้องจับตากันดูว่า จะเป็นอย่างไรต่อไป

ในประเด็นนี้ อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุข บอกว่า ตามหลักการแล้ว การเข้าสู่แผนฟื้นฟูกิจการจะทำให้ THAI ต้องหลุดออกจากการเป็นรัฐวิสาหกิจ

เหตุผลเพราะจะต้องมีการเจรจาตกลงกันระหว่างเจ้าหนี้และผู้จัดทำแผนฟื้นฟูฯ

และเมื่อเข้าสู่แผนฟื้นฟูฯ แล้ว อำนาจการบริหารทั้งหมดจะอยู่ที่ผู้บริหารแผนฟื้นฟูฯ

และศาลจะเป็นผู้แต่งตั้งตามคำแนะนำของเจ้าหนี้

อีกทั้งแผนฟื้นฟูฯ จะต้องได้รับความเห็นชอบจากเจ้าหนี้

เรื่องนี้ยังต้องใช้เวลาในการเกาะติด และดู “ความจริงใจ” ว่า จะให้การบินไทยหลุดพ้นจากรัฐวิสาหกิจหรือไม่

เพราะหากหลุดพ้นได้

ย่อมทำให้ความเสี่ยงที่ “ฝ่ายการเมือง” จะเข้ามาแทรกแซงผ่านการทำงานของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจหรือ สคร. เกี่ยวกับการตั้งคณะกรรมการ เป็นไปได้ยากขึ้น

เพราะที่ผ่านมา มักจะมีการส่งคนฝ่ายการเมืองพรรคโน้น พรรคนี้ เข้าไปนั่งบริหาร

แต่ก็ไม่ใช่หมายความว่า หากการบินไทยเป็นเอกชนเต็มตัวแล้ว

การเมืองจะเข้ามาแทรกแซงไม่ได้

เพียงแต่ว่า จะเข้าไปแทรกแซงได้ยากขึ้น

ส่วนแนวทางการ “ลดทุน” แล้ว “เพิ่มทุน” ก็คงเลี่ยงไม่พ้น

ใครเป็นผู้ถือหุ้นเดิมคงต้องยอมเจ็บตัวกันบ้าง

ส่วนเงินเพิ่มทุนใหม่ ที่ถูกใส่เข้ามาก็ต้องไม่ถูกนำไปโปะของเก่า แต่จะต้องนำมาใช้เพื่อการลงทุนใหม่ ๆ เท่านั้น

อีกประเด็นที่หลายคนติดตามคือ โมเดลธุรกิจใหม่ของการบินไทย หลังแผนฟื้นฟูฯ จะเป็นอย่างไร

เพราะหากยังเหมือนเดิม ก็คงไปแข่งขันกับเขาไม่ได้

อย่างตอนนี้สายการบินแถวตะวันออกกลาง เขาปรับรูปแบบธุรกิจกันไปไกลแล้ว

หรืออย่างในกลุ่มอาเซียน ทั้งของสิงค์โปร์ และมาเลเซีย ก็พัฒนาไปไกลแล้วเช่นกัน

ยิ้มสยามอย่างเดียวคงไม่เหมาะแล้วล่ะ

Back to top button