พาราสาวะถี
ติ๊ดชึ่งแบบมีลีลา ดูเหมือนจะดราม่านิด ๆ ในวันที่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา แถลงถึงการนำเอาการบินไทยเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูภายใต้พ.ร.บ.ล้มละลาย ท่านผู้นำบอกว่านี่คือ “การตัดสินใจที่ยากลำบากที่สุด” คงมีคำถามว่า ลำบากในเรื่องใด ถ้าด้วยเหตุที่สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการบินไทยเคยเป็นฐานสำคัญให้ม็อบชัตดาวน์ประเทศปูพรมนำพาท่านผู้นำมายึดอำนาจ ก็ต้องบอกว่าการปล่อยให้ระยะเวลาผ่านมาเกือบ 6 ปี ก็ถือเป็นการตอบแทนกันที่น่าจะเพียงพอแล้ว
อรชุน
ติ๊ดชึ่งแบบมีลีลา ดูเหมือนจะดราม่านิด ๆ ในวันที่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา แถลงถึงการนำเอาการบินไทยเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูภายใต้พ.ร.บ.ล้มละลาย ท่านผู้นำบอกว่านี่คือ “การตัดสินใจที่ยากลำบากที่สุด” คงมีคำถามว่า ลำบากในเรื่องใด ถ้าด้วยเหตุที่สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการบินไทยเคยเป็นฐานสำคัญให้ม็อบชัตดาวน์ประเทศปูพรมนำพาท่านผู้นำมายึดอำนาจ ก็ต้องบอกว่าการปล่อยให้ระยะเวลาผ่านมาเกือบ 6 ปี ก็ถือเป็นการตอบแทนกันที่น่าจะเพียงพอแล้ว
โชคดีที่มีสถานการณ์โควิด-19 จึงเป็นทางลงที่ท่านผู้นำใช้อธิบายกับคนในการบินไทยได้ไม่ยากว่าเหตุใดจึงไม่เลือกวิธีการทุ่มงบประมาณเข้าไปอุ้มเหมือนที่ผ่านมา เพราะท่านบอกว่าเงินที่มีต้องใช้ไปในการดูแลประชาชนคนตกทุกข์ได้ยากในเวลานี้ ถือเป็นการออกตัวและตอบโจทย์ของคนมือดีที่เขียนป้ายไปวางไว้หน้าการบินไทยเมื่อไม่กี่วันก่อนด้วยข้อความที่แสบถึงทรวงว่า “อุ้มการบินไทยไม่อุ้มประชาชน” พร้อมติดแฮชแท็ก เงินเยียวยาต้องถ้วนหน้า
นี่เป็นสถานการณ์ทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตยที่ผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจ จะต้องเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง บททดสอบที่ผ่านมานั้นยังถือว่าอยู่ในช่วงของการลองของ มีความเกรงใจกันอยู่บ้าง แต่ภายหลังการระบาดของโควิด-19 ไปทั่วโลก และรัฐบาลไทยได้ดำเนินมาตรการอันเข้มข้น คนเดือดร้อนกันไปทุกหย่อมหญ้า เมื่อคนไม่มีจะกิน ความอดอยากรออยู่เบื้องหน้า การเรียกร้องถามหาทั้งหนทางช่วยเหลือและวิธีการฟื้นฟูจึงเป็นของคู่กัน
ประเด็นนี้ไม่ต้องรอให้ใครมาบอก ท่านผู้นำรับรู้ด้วยตัวเอง มิเช่นนั้น คงไม่ระบายออกมาพร้อม ๆ กับการแถลงถึงแผนการฟื้นฟูการบินไทยว่า “สถานการณ์เศรษฐกิจรุนแรงกว่าโควิดมาก” นี่จึงเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมฝ่ายกุมอำนาจจึงวางแผนและเร่งผ่อนคลายกิจการ กิจกรรมต่าง ๆ ให้กลับมาดำเนินการได้ในระยะเวลาอันรวดเร็ว เพราะยิ่งนานวันภายใต้สถานการณ์โควิด-19 ที่คนส่วนใหญ่เข้าใจว่าคุมได้ ไม่มีเหตุผลใดที่รัฐบาลจะต้องมายึดยื้อให้คนต้องอยู่กับบ้าน ไม่ประกอบกิจการ ดำเนินกิจกรรมใด ๆ
แม้จะมีเดิมพันว่า หากการติดเชื้อรายใหม่กลับมาอยู่ในเลข 2 หลักหรือมากกว่านั้นอีกครั้ง ทุกอย่างต้องกลับไปเริ่มต้นกันใหม่ คนที่กำลังจะอดตายก็พร้อมจะเสี่ยง แต่เป็นความเสี่ยงที่ไม่ได้เดินดุ่ย ๆ เข้าไปรับการติดเชื้อ เพราะทุกอย่างภาครัฐโดยเฉพาะบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข ได้มีมาตรการป้องกันวางไว้หมดแล้ว โดยเฉพาะการทำความเข้าใจและได้รับความร่วมมือจากประชาชนเป็นอย่างดียิ่งต่อการป้องกันการแพร่และรับเชื้อไวรัสร้ายดังว่า
จะเห็นได้หลังการเปิดห้าง หากคนไม่มั่นใจในความปลอดภัยหรือเชื่อว่าตัวเองได้ป้องกันตามคำแนะนำของทางการอย่างเต็มที่แล้ว คงไม่มีการแห่แหนเข้าไปใช้บริการกันอย่างหนาแน่นจนบางแห่งต้องประกาศงดให้บริการกันทีเดียว จึงอยู่ที่ว่าหลังจากนี้ไปรัฐบาลโดยทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้วางกลไกของการตรวจสอบไว้แน่นหนาและมีประสิทธิภาพเพียงใด หากพบเห็นประชาชนที่หย่อนยานต่อการป้องกันตัวเองจะต้องมีมาตรการใดมาบังคับใช้หรือไม่
หากจะยึดเอาต่างประเทศเป็นตัวอย่างในบางประเทศที่พบว่าโควิด-19 กลับมาระบาดในระลอกที่ 2 เรื่องของสิ่งที่ประชาชนทุกคนควรต้องทำ เช่น การสวมหน้ากากอนามัย อาจจะไม่ใช่แค่การขอความร่วมมืออีกต่อไป แต่ต้องมีโทษตามกฎหมายสำหรับคนที่ละเลย จะเห็นได้แต่ละประเทศมีโทษปรับกันตั้งแต่หลักหมื่นยันหลักล้านบาท ในเมื่ออาศัยจิตสำนึกไม่ได้ ก็ต้องใช้มาตรการเด็ดขาดเพื่อสร้างสำนึกที่ดีต่อส่วนรวม จนกว่าโควิด-19 จะมีวัคซีนป้องกันและยารักษาโดยตรง
ไม่ใช่เรื่องแปลกที่หลังการประชุมครม.เมื่อวันอังคาร ท่านผู้นำปฏิเสธที่จะตอบคำถามทางการเมืองทั้งหมด ตั้งแต่ประเด็นขัดแย้งภายในพรรคสืบทอดอำนาจ ไปจนถึงปัญหาของการจัดการเรียนการสอนแบบออนไลน์ เพราะการเลือกที่จะเดินหน้าฟื้นฟูกิจการบินไทยในสถานการณ์ด้านข่าวสารเช่นนี้ ก็เป็นที่เด่นชัดแล้วว่า เพื่อเปิดพื้นที่ข่าว เบี่ยงกระแสแรงกดดันที่กำลังถาโถมเข้าใส่รัฐบาลอยู่ในเวลานี้ ทั้งที่มีเสียงชื่นชมต่อการดูแลแก้ปัญหาโควิด แต่เรื่องอื่น ๆ กลับถูกด่าจมหู
ปัญหาภายในพรรคสืบทอดอำนาจนั้น มันขึ้นอยู่กับว่านอมินีหรือหุ่นเชิดก่อนเลือกตั้งในนาม “สี่กุมาร” ติดลมบนแห่งอำนาจไปแล้วใช่หรือไม่ มองเห็นทิศทางที่จะสยายปีก สร้างฐานอำนาจทางการเมืองเพื่อตัวเองและพวกพ้องแล้วหรือเปล่า ถ้าเป็นเช่นนั้น การรุกคืบของ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ จากที่ก็บัญชาการด้วยตัวเองเป็นตัวจริงเสียงจริงตั้งแต่ก่อนพรรคจะตั้งไข่เสียด้วยซ้ำไป จึงเป็นการตัดไฟเสียแต่ต้นลม เพื่อไม่ให้เด็กมันหือ
ส่วนกระแสข่าวที่ว่า อุตตม สาวนายน และ สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ สองคนที่ถูกบีบให้ไขก๊อกจากหัวหน้าและแม่บ้านของพรรคสืบทอดอำนาจ จะไปตั้งพรรคการเมืองใหม่ โดยมีปีกของเมียเจ้าของสื่อและคนจากธุรกิจสื่อสารเป็นแกนนำในนาม “พรรคสร้างไทย” นั้น บอกได้คำเดียวว่า ผิดตั้งแต่คิดแล้ว เพราะยังมองไม่เห็นฐานคะแนนเสียงที่จะมาสนับสนุนและกลุ่มส.ส.ที่จะมาร่วมก๊วน อาจจะใช้กระสุนดินดำล่อได้ในยามที่มีหัวโขนในรัฐบาลเวลานี้ แต่หลังการเปลี่ยนแปลงถามว่าจะอาศัยพลังมาจากไหน
นักเลือกตั้งอาชีพไม่ได้มองแค่ผลประโยชน์เบื้องหน้าเท่านั้น แต่มองกันยาวไปถึงอนาคตด้วย มันจึงมีพวกเหยียบเรือสองแคม ตามคำโบราณก็ว่าไว้ คนพวกนี้ไว้วางใจไม่ได้เพราะผูกมิตรด้วยผลประโยชน์ส่วนตัวทั้งสิ้น แต่ทั้งหมดจะเกิดภาพชัดเจนขึ้นหลังจากที่สภาผู้แทนราษฎรผ่านความเห็นชอบเรื่องพ.ร.ก.กู้เงินและร่างพ.ร.บ.งบประมาณประจำปี 2564 ไปแล้ว เพราะเม็ดเงินรวมกันทั้งสองก้อนมหาศาลถึงกว่า 5 ล้านล้านบาท
แม้ว่าพ.ร.ก.กู้เงินจะมีไฟต์บังคับกำหนดเป็นเงื่อนตายไว้แล้วก็ตาม แต่ขึ้นชื่อว่านักการเมืองย่อมมีช่องทางหาผลประโยชน์กันได้อยู่แล้ว นั่นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่นักการเมืองภายในพรรคสืบทอดอำนาจจึงขยับกันโดยไม่เกรงใจท่านผู้นำว่าจะอยู่ในสถานการณ์หน้าสิ่วหน้าขวานเพียงใด เพราะต่างรู้ดีว่า หลังจากกฎหมายดังกล่าวผ่านสภาไปแล้ว นั่นคือช่วงเวลาที่จะมีการขยับ ปรับเปลี่ยนเก้าอี้ของรัฐบาลเรือเหล็ก จึงต้องรีบหาพวกเลือกข้าง หากแทงหวยผิดชีวิตอับเฉา อดอยากปากแห้งแน่นอน