SCB ขาขึ้นกลางมรสุม
ราคาหุ้นธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB กลับมาบวกต่อเนื่องทำนิวไฮเหนือ 70 บาท ในรอบ 2 เดือนอีกครั้ง หลังจากที่งบการเงินไตรมาสแรกออกมาดีเกินคาด มีกำไรเติบโตพร้อมกับแสดงความสามารถในการบริหารหนี้เน่าได้ดีเกินคาด
พลวัตปี 2020 : วิษณุ โชลิตกุล
ราคาหุ้นธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB กลับมาบวกต่อเนื่องทำนิวไฮเหนือ 70 บาท ในรอบ 2 เดือนอีกครั้ง หลังจากที่งบการเงินไตรมาสแรกออกมาดีเกินคาด มีกำไรเติบโตพร้อมกับแสดงความสามารถในการบริหารหนี้เน่าได้ดีเกินคาด
กำไรสุทธิไตรมาสแรกของ SCB ที่ระดับ 9,250,999 หรือหุ้นละ 2.72 บาท ดีขึ้นกว่าระยะเดียวกันปีก่อนเล็กน้อย แต่ตัวเลขการเติบโตของเงินฝากโตแข็งแกร่ง 7.5% เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้วจากการที่มีสถานการณ์ไวรัส COVID-19 และการมีช่องทางออนไลน์ (Online Platform) กระตุ้นให้ภาคประชาชนหันมาออมเงินในรูปแบบของเงินฝากเพิ่มขึ้น สวนกระแสความผันผวนของตลาดเงิน
ราคาหุ้นและกำไรสุทธิที่งดงามเกินคาด ทำให้การยกเลิกรับซื้อหุ้นคืนไร้ปัญหา
SCB แจ้งยกเลิกโครงการซื้อหุ้นคืน มูลค่ากว่า 16,000 ล้านบาท หลังจากราคาหุ้นรีบาวด์ต่ำกว่าบุ๊กแวลูที่ระดับ116 บาทยาวนาน โดยได้เหตุผลว่า จากสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบันที่เป็นช่วงวิกฤติที่มีความผันผวนและความไม่แน่นอนสูง และยังไม่สามารถประเมินได้ว่าจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติเมื่อใดและเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมให้ธนาคารสามารถเข้าช่วยเหลือลูกค้าของธนาคารให้ก้าวผ่านวิกฤติเศรษฐกิจครั้งใหญ่นี้ไปได้อย่างดีที่สุด รวมถึงเป็นการทำให้ธนาคารมีความพร้อมในการขยายธุรกิจเมื่อมีโอกาสที่เหมาะสมจากวิกฤติด้วย
ในภาพรวม เงินฝากของธนาคารในไตรมาส 1 ปี 2563 เติบโตอย่างแข็งแกร่ง โดยมีจำนวนเงินรับฝากในไตรมาส 1 ปี 2563 อยู่ที่ 2.27 ล้านล้านบาท เติบโต 7.5% เมื่อเทียบจากไตรมาส 1 ปี 2562 และเติบโต 5.4% เมื่อเทียบจากสิ้นปี โดยส่วนหนึ่งมาจากการดำเนินการตามกลยุทธ์ด้านเงินฝากของธนาคารที่ต้องการเพิ่มการเติบโตของเงินฝาก โดยเฉพาะเงินฝากออมทรัพย์และเงินฝากเดินสะพัด หรือ CASA ทั้งปริมาณเงินฝากและจำนวนลูกค้า รวมถึงการสร้างช่องทางให้สะดวกสบายมากขึ้นจากช่องทางออนไลน์ (Online Platform) อาทิ ช่องทาง SCB Easy และพันธมิตรต่าง ๆ ของธนาคาร เป็นต้น
ในไตรมาสแรก มีลูกค้าทั้งกลุ่มบุคคลและกลุ่มธุรกิจได้มีการย้ายเงินฝากจากธนาคารขนาดกลางและเล็กมายังธนาคารไทยพาณิชย์เพิ่มขึ้นผ่านการเปิดบัญชี CASA กับทางธนาคารเพิ่มสูงขึ้น นอกจากนี้ลูกค้ามีการลดสัดส่วนการลงทุนทั้งตลาดทุนและตลาดพันธบัตรมายังเงินฝากเพิ่มสูงขึ้นโดยเฉพาะ CASA เนื่องจากความผันผวนที่สูงขึ้นมากทั้งตลาดทุนและตลาดพันธบัตร ขณะที่ลูกค้าธุรกิจมีการสะสมสภาพคล่องเพิ่มขึ้นในรูปเงินฝาก และการเลื่อนการลงทุนต่าง ๆ แล้วเปลี่ยนการลงทุนมาอยู่ในรูปแบบเงินสดหรือเงินฝากธนาคารเพื่อรักษาสภาพคล่องของบริษัท ส่งผลให้ ณ สิ้นไตรมาส 1 ของปี 2563 ธนาคารมีสัดส่วนเงินฝาก CASA เพิ่มขึ้นเป็น 73% จากสิ้นปี 2562 ที่มีสัดส่วนอยู่ที่ 67%
เงินฝากที่เติบโตดี จะกลายเป็นภาระ หากว่าการบริหารหนี้เสียย่ำแย่ แต่การที่กำไรสุทธิและตัวเลขหนี้เสียยังสวยงาม ทำให้สะท้อนความสามารถในการพลิกวิกฤติเป็นโอกาสของผู้บริหารได้ดี
SCB มีกำไรไตรมาส 1 อยู่ที่ 9,250 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาส 1 ของปีที่แล้วอยู่ที่ 1.03 % โดยรายได้ของไตรมาส 1 นี้อยู่ที่ 37,641 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.9% เมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปีที่แล้ว ขณะที่สัดส่วน NPL ล่าสุดอยู่ที่ 3.17% ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ 3.54%
รายได้หลักจากดอกเบี้ยสุทธิอยู่ที่ 25,777 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4% จากปีก่อน สาเหตุจากธนาคารในการปรับพอร์ตสินเชื่อด้วยการเพิ่มสัดส่วนของสินเชื่อที่ให้ผลตอบแทนสูง การปรับตัวลดลงของต้นทุนทางการเงิน และการรับรู้รายได้ที่สูงขึ้นของพอร์ตสินเชื่อที่อยู่อาศัยตามมาตรฐานบัญชีใหม่ซึ่งเริ่มนำมาใช้ตั้งแต่ช่วงต้นปี แม้ว่ามรสุมที่รุมเร้าจากฐานรายได้ดอกเบี้ยสุทธิยังคงได้รับแรงกดดันอย่างต่อเนื่องจากภาวะดอกเบี้ยขาลง และการหดตัวของยอดสินเชื่อรวมในไตรมาสแรกของปี รวมไปถึงรายได้ดอกเบี้ยลดลงหลังธนาคารได้ขายหุ้นของบริษัทไทยพาณิชย์ประกันชีวิตในปีที่ผ่านมา
รายได้เสริมจากส่วนที่มิใช่ดอกเบี้ยมีจำนวน 11,864 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 20% จากปีก่อน เป็นผลส่วนใหญ่จากรายได้ค่าธรรมเนียมประเภท recurring ที่ปรับตัวดีขึ้น ในไตรมาส 1 ของปี 2563 รายได้ค่าธรรมเนียมจากธุรกิจบริหารความมั่งคั่งขยายตัว 31% จากปีก่อน เป็นจำนวน 2,022 ล้านบาท และรายได้จากธุรกิจขายประกันผ่านธนาคารเพิ่มขึ้นห้าเท่าจากช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นจำนวน 3,159 ล้านบาทซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลจากความร่วมมือกับกลุ่มเอฟดับบลิวดีในการเสนอขายผลิตภัณฑ์ประกันชีวิต การขยายฐานรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยในไตรมาสนี้สามารถชดเชยผลกระทบของการคิดค่าธรรมเนียมแบบใหม่ตามแนวทางการกำกับดูแลของทางการเมื่อต้นปี และการชะลอตัวของปริมาณการทำธุรกรรมธนาคารในช่วงการแพร่ระบาดของ COVID-19
สำหรับ ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานมีจำนวน 16,393 ล้านบาท กลับสวนทางลดลง 8% จากปีก่อนเป็นผลจากการไม่มีค่าใช้จ่ายเกี่ยวข้องกับพนักงานตามกฎหมายแรงงานใหม่ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายครั้งเดียวที่รับรู้ในปีก่อน และการตัดค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานของบริษัทไทยพาณิชย์ประกันชีวิตออกจากงบการเงินรวมภายหลังที่ธนาคารได้ขายหุ้นออกไป โดยรวมแล้วอัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้ในไตรมาส 1 ของปี 2563 ของธนาคารจึงลดลงเป็น 43.6%
สำหรับกรณีหนี้เสียในไตรมาสนี้ SCB ได้ตั้งเงินสำรองจำนวน 9,726 ล้านบาท คิดเป็นอัตราส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพอยู่ในระดับเพียงพอที่ 140%
ความสามารถในการปรับตัวเพื่อทำกำไรในยามเผชิญมรสุมรอบด้านเช่นนี้ถือว่าไม่ธรรมดาจริง ๆ
การประกาศวางขุมกำลังบุคลากรสาขา รองรับลูกค้าขอรับคำปรึกษาหลัง Covid-19 คลี่คลาย ถือเป็นการรุกทางกลยุทธ์ที่มีนัยต่อเนื่องสะท้อนความมั่นใจของ SCB ได้ชัดเจน แม้ว่าจะได้มีการปรับลดประมาณการลง จากการทบทวนแผนการดำเนินงานปีนี้ในช่วงกลางปี เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลต่อความไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจไทยที่เผชิญกับความเสี่ยงกดดัน โดยคาดว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ทำให้แนวโน้มการเติบโตของสินเชื่อในปี 2563 เดิมที่ SCB ตั้งเป้าเติบโตไว้ที่ 3-5% ซึ่งยังคงต้องติดตามสถานการณ์ในช่วงไตรมาส 2/2563 และช่วงครึ่งปีหลังว่าความต้องการใช้สินเชื่อจะเป็นอย่างไร หลังจากที่ไตรมาส 1/2563 สินเชื่อของธนาคารหดตัวเล็กน้อย-1.4%
การทบทวนดังกล่าว มีมุมมองเชิงลบว่า แรงหนุนจากการขอใช้สินเชื่อซอฟต์โลนของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อาจจะไม่สามารถช่วยฟื้นภาพรวมได้ทั้งหมด เพราะทุกอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก อีกทั้งยังต้องติดตามว่าในช่วงครึ่งปีหลังสถานการณ์ต่าง ๆ จะกลับมาเป็นอย่างไรหลังจากที่ภาครัฐเริ่มคลายล็อกมาตรการต่าง ๆ แล้ว และโครงการลงทุนต่างๆจะมีทิศทางเป็นอย่างไร
ทั้งนี้ SCB จะเน้นการควบคุมสัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ให้มีประสิทธิภาพ จากความเสี่ยงที่เกิดขึ้นกระทบต่อเศรษฐกิจและภาพรวมทั้งหมด โดยออกมาตรการต่าง ๆ ในช่วงที่ผ่านมาเพื่อช่วยแบ่งเบาภาระให้กับลูกค้า ทำให้ธนาคารสามารถรักษา NPL ให้อยู่ในระดับที่สามารถบริหารจัดการได้ซึ่ง NPL ในช่วงไตรมาส 1/2563 ลดลงมาอยู่ที่ 3.17% และธนาคารจะควบคุม NPL ทั้งปีนี้ไม่ให้เกิน 3.4%
ส่วนการตั้งสำรองในปีนี้ตามที่ธนาคารได้วางแผนไว้ อัตราส่วนค่าเผื่อหนี้สูญและหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพ (Coverage ratio) จะอยู่ในระดับที่มากกว่า 130% เพื่อรักษาเสถียรภาพของธนาคารซึ่งในไตรมาส 1/2563 ที่เกินเป้าหมายแล้วที่ 140%
นั่นหมายความว่า ผู้บริหารของ SCB ยังคงมั่นใจในความสามารถทำกำไรจากการดำเนินงานปกติมากกว่าพึ่งพา“มายาของกำไรพิเศษ” แบบที่เคยเกิดขึ้นในปีที่ผ่านมา ที่กำไรจากการดำเนินงานลดลงจนต้องนำเอากำไรสุทธิจากการขายหุ้นไทยพาณิชย์ประกันชีวิตมาช่วยให้ตัวเลขไม่ขี้เหร่เกินไป เนื่องจากปัจจัยที่ควบคุมยากของทิศทางอัตราดอกเบี้ยขาลง และยอดสินเชื่อรวมลดลง
ราคาหุ้น SCB ที่ยังคงต่ำกว่าบุ๊กแวลู ของ SCB ถือว่ายังน่าเชิญชวนให้เข้าช้อนซื้อมากพอสมควรเลยทีเดียว แม้ว่าจะมีความเสี่ยงรออยู่มากมาย
เหตุผลหลักมาจากข้อเท็จจริงที่ว่าความกังวลเกี่ยวกับ “ราคาที่ต่ำแล้ว อาจยังต่ำไม่พอ” เริ่มถูกซึมซับไปเกือบหมดแล้วนั่นเอง