ยังสลัดคราบ ‘รัฐ’ ไม่หลุด

หนี้สินการบินไทย 354,494 ล้านบาท และทรัพย์สิน 349,636 ล้านบาท


ขี่พายุทะลุฟ้า : ชาญชัย สงวนวงศ์

หนี้สินการบินไทย 354,494 ล้านบาท และทรัพย์สิน 349,636 ล้านบาท

นั่นเป็นถ้อยใหญ่ใจความสำคัญในคำร้องยื่นศาลล้มละลายกลาง อันเป็นการแสดงฐานะหนี้สินล้นพ้นตัว เพื่อเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และศาลรับคำร้องไว้พิจารณาเมื่อวันที่ 27 พ.ค.ที่ผ่านมา

นัดไต่สวนนัดแรกวันที่ 17 ส.ค.เดือนหน้า

การเข้าสู่แผนฟื้นฟูกิจการดังกล่าว ทำให้หนี้สินที่มีทั้งหลายของการบินไทย ได้รับการคุ้มครองตามพ.ร.บ.ล้มละลาย และหนี้สินครบชำระจำนวน 10,200 ล้านบาท เมื่อวันที่ 21 พ.ค.ที่ผ่านมา ก็ได้รับการคุ้มครอง ไม่ต้องชำระด้วย

ในชั้นนี้ ก็ถือว่ามาถูกทางแล้วนะครับที่ 1) สลัดทิ้งฐานะรัฐวิสาหกิจการบินไทยให้เป็นเอกชนแบบที่มีกระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่เป็นพิเศษ แต่ในอนาคตก็จะต้องมีการลดทุนและเพิ่มทุน ซึ่งยังไม่รู้ว่ากระทรวงการคลังจะมีความสามารถเพิ่มทุนตามสัดส่วนได้มากน้อยแค่ไหน

2) ไม่เช่นนั้น ก็จะต้องเดินแนวทางถมเงินตามดำริแรกของกระทรวงการคลัง ซึ่งเริ่มจากเติมสภาพคล่อง 50,000 ล้านบาทโดยการกู้ และเพิ่มทุนจดทะเบียนอีก 80,000 ล้านบาท ซึ่งก็ยังไม่รู้ว่าใครจะมาให้กู้ และใครจะมาซื้อหุ้นเพิ่มทุน

ประการสำคัญที่สุดก็คือ จะเป็น ถมเท่าไหร่ ไม่รู้จักเต็มหรือไม่”

แต่แนวทางการปลดฐานะการบินไทยออกจากรัฐวิสาหกิจ เพื่อเข้าสู่การฟื้นฟูกิจการ ไม่ต้องไปรับความเสี่ยงจากภาวะ ถมไม่เต็ม” เช่นที่ว่านั้น และพอจะหวังผลได้ถึงการปรับโครงสร้างองค์กรให้เป็นมืออาชีพมากขึ้น

สลัดอิทธิพลทั้งทางตรงทางแฝงที่เกาะกินองค์กรตลอดมา 60 ปีให้เบาบางลงไปได้ไม่มากก็น้อย

ครับ การบินไทยยังมีทรัพย์สินดีที่มีอนาคตในการฟื้นฟูกิจการได้แน่นอน ไม่ว่าจะเป็นแบรนด์ “THAI” ที่แข็งแรงในเรื่องของงานบริการ ความปลอดภัย และการมี แบรนด์ รอยัลตี้” ที่แข็งแรงมากเช่นเดียวกันจากลูกค้าไทยและต่างชาติ แม้ราคาบัตรโดยสารจะสูงกว่าคู่แข่งสายการบินอื่น

แต่ก้าวเดินต่อจากนี้ของการบินไทย ต้องระมัดระวังในเรื่องของภาพลักษณ์ความน่าเชื่อถือให้มาก ๆ บนเส้นทางแห่งการฟื้นฟูกิจการนี้

ภาพลักษณ์อันพึงระวังมากที่สุดของการบินไทย ต่อจากนี้คือ การเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟู โดยปลอดจากอิทธิพลการเมืองและความเป็นรัฐราชการครับ

ในช่วงของการรอ แผนฟื้นฟูกิจการ” และรอ ผู้บริหารแผน” อยู่นี้ ภาครัฐไม่ควรจะจัดตั้ง องค์กรใหม่” ที่ไม่มีอำนาจหน้าที่ตามระบุไว้ภายใต้พ.ร.บ.ล้มละลายเลย อย่างเช่นการที่รัฐบาลจัดตั้งคณะกรรมการติดตามการดำเนินการแก้ไขปัญหาบริษัทการบินไทย ที่มีดร.วิษณุ เครืองามเป็นประธานและกรรมการครอบจักรวาลจากหน่วยราชการอย่างเนี้ย

ตั้งขึ้นมาทำไม เกี่ยวอะไรด้วยกับพ.ร.บ.ล้มละลาย หากไม่ทำคุณประโยชน์ใด ก็อาจกลายมาเป็นตัวถ่วง สร้างปัญหาให้การฟื้นฟูกิจการได้

คณะผู้ทำแผนฟื้นฟูกิจการ 7 คน ที่ยื่นต่อศาลล้มละลายกลาง ก็ยังมีคำถามถึงตัวบุคคลอยู่ 2 คน คือนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี และพล.อ.อ.ชัยพฤกษ์ ดิษยะศริน ประธานบอร์ดการบินไทย และประธานผู้ทำแผนฯ มีความเชี่ยวชาญทางใด

นอกจากนั้น ก็ยังมีนายไพรินทร์ ชูโชติถาวร ที่เพิ่งได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้ทำแผนและบอร์ดการบินไทยหมาด ๆ ก็ต้องยื่นใบลาออกฉุกเฉิน เพราะคุณสมบัติขัดกฎหมายป.ป.ช.ไม่อาจเข้ารับหน้าที่ได้ แสดงให้เห็นความหละหลวมในการแต่งตั้งบุคคลเป็นอย่างยิ่ง

บอร์ดการบินไทยชุดใหม่ ที่ยังมี “3 นายพล” ก็ยังมีคำถามอยู่ดีว่า จำเป็นต้องมีไหม มีความเป็น มืออาชีพ” มากน้อยเพียงใด

การบินไทยยุคกอบกู้ ควรต้องเป็น มืออาชีพ” เต็มตัว ไม่ตกอยู่ใต้อิทธิพลกองทัพและรัฐ-ราชการเหมือนเช่น 60 ปีตลอดมา

Back to top button