TCAP รอการกลับมา
แม้ในระยะสั้น ผลประกอบการของ TCAP จะมีแนวโน้มอ่อนแอลงตามผลประกอบการของบริษัทลูกและบริษัทย่อย แต่ในระยะยาวเชื่อว่าจะเห็นการเติบโตที่ดี
คุณค่าบริษัท
จากบทวิเคราะห์ ประเมินกำไรสุทธิไตรมาส 2 ปี 2563 ของ บริษัท ทุนธนชาต จำกัด (มหาชน) หรือ TCAP จะมีการหดตัวจากช่วงไตรมาส 1 ปี 2563 จากสถานการณ์ไม่ปกติของโควิด-19 เนื่องจากกินเวลายาวนานตลอดทั้งไตรมาส ส่งผลต่อธุรกิจการเงิน
โดยแบ่งเป็นธุรกิจดังนี้ 1) ธุรกิจ THANI คาดยังประสบภาวะอ่อนแอ ตามการปล่อยสินเชื่ออย่างระมัดระวังมากขึ้น ในขณะที่บริษัทคงตั้งค่าใช้จ่ายสำรองเพิ่มขึ้น สำหรับรองรับความเสี่ยงในอนาคต 2) ธุรกิจ TNS (บล.ธนชาต) คาดทรงตัวจากไตรมาส 1 ปี 2563 ตามปริมาณซื้อขายยังทรงตัวอยู่ในระดับดี
3) ธุรกิจ TNI (ธนชาตประกันภัย) คาดปรับตัวลดลง เป็นไปตามภาวะตลาดรถยนต์ที่อ่อนแอ ซึ่งส่งผลกระทบต่อเบี้ยประกันใหม่ลดลง และ 4. ธุรกิจ TMB คาดจะเผชิญกับจุดต่ำสุด จากการปรับลดอัตราดอกเบี้ย รวมถึงการตั้งสำรองเพิ่มขึ้น ตามการเร่งตัวของ NPL นอกจากนี้คาดไม่มีกำไรพิเศษจากการขายเงินลงทุนช่วยหนุนเช่นเดียวกับไตรมาส 1 ปี 2563
ขณะที่ผลการดำเนินงานไตรมาส 1 สิ้นสุดวันที่ 31 มีนาคม 2563 บริษัทมีกำไรขยับขึ้นมาอยู่ที่ 4,315.58 ล้านบาท หรือ 3.86 บาทต่อหุ้น จากงวดเดียวกันของปีก่อน 2,015.67 ล้านบาท หรือ 1.76 บาทต่อหุ้น โดยมีสาเหตุหลักมาจากการรับรู้กำไรจากการขายเงินลงทุนใน AJT ซึ่งเป็นเงินลงทุนในบริษัท ธนชาต เอสพีวี 2 ส่งผลให้รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยปรับตัวเพิ่มขึ้น ในขณะเดียวกันรายได้ดอกเบี้ยสุทธิปรับเพิ่มขึ้นจากการขยายตัวของยอดคงค้างสินเชื่อเช่าซื้อของราชธานีลิสซิ่ง ประกอบกับการลดลงของค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานสุทธิ
ในขณะเดียวกัน บล.เอเชีย เวลท์ ปรับประมาณการกำไรสุทธิปี 2563 ขึ้นราว 28.5% จากการรวมผลกำไรจากการขายเงินลงทุนอายิโนะโมะโต๊ะจำนวน 3.7 พันล้านบาทเข้าในประมาณการ ทั้งนี้ยังคงสมมติฐานอื่น ๆ เช่นเดิม โดยมีอัตราการเติบโตสินเชื่อที่ 4.0% อัตราค่าใช้จ่ายต่อยอดขาย (Cost-to-Income ratio) ที่ 18.1% และอัตราส่วนค่าใช้จ่ายสำรอง (Credit Cost) ที่ 1.1%
นอกจากนี้บริษัทมีสภาพคล่องสูง พร้อมสำหรับการลงทุนในเวลาที่เหมาะสม ด้วยคาดว่า TCAP จะมีปริมาณเงินสดคงเหลือกว่า 1.5 หมื่นล้านบาท ก่อนหน้านี้บริษัทมีความตั้งใจขยายธุรกิจไปยังธุรกิจเกี่ยวเนื่องอื่น อาทิ ธุรกิจบริหารสินทรัพย์ โดยจะเน้นไปยังกลุ่มสินเชื่อรายย่อยที่ไม่มีหลักประกัน แต่การมาของโรคระบาด COVID-19 ทำให้บริษัทตัดสินใจชะลอและทบทวนแผนการลงทุนใหม่ทั้งหมด เพื่อคงสภาพคล่อง รองรับกับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต บริษัทรอจังหวะเข้าลงทุนเมื่อสถานการณ์กลับสู่ภาวะปกติ
ดังนั้นแม้ในระยะสั้น ผลประกอบการของ TCAP จะมีแนวโน้มอ่อนแอลงตามผลประกอบการของบริษัทลูกและบริษัทย่อย แต่ในระยะยาวเชื่อว่าจะเห็นการเติบโตที่ดี ทั้งจากธุรกิจ TMB และธุรกิจ THANI รวมถึงโอกาสการเติบโตใหม่ ๆ จากการเข้าลงทุนในธุรกิจอื่นเพิ่มเติม
พร้อมกับอัตราเงินปันผลตอบแทน (Dividend Yield) อยู่ในระดับน่าสนใจ โดยคาด Dividend Yield ปี 2563 อยู่ที่ 8.2% ต่อปี เทียบกับค่าเฉลี่ยกลุ่มแบงก์ที่ 6.6% ต่อปี แนะนำ “ซื้อ” ให้ราคาเป้าหมาย 51.00 บาท อิงค่า P/BV ที่ 0.9 เท่า
…
ผู้ถือหุ้นรายใหญ่
- บริษัท ไทยเอ็นวีดีอาร์ จำกัด 132,296,717 หุ้น 11.35%
- บริษัท เอ็ม บี เค จำกัด (มหาชน) 129,914,400 หุ้น 11.15%
- บริษัท ทุนธนชาต จำกัด (มหาชน) 116,512,900 หุ้น 10.00%
- STATE STREET EUROPE LIMITED 61,146,849 หุ้น 5.25%
- SOUTH EAST ASIA UK (TYPE C) NOMINEES LIMITED 29,658,400 หุ้น 2.55%
รายชื่อกรรมการ
- นายบันเทิง ตันติวิท ประธานกรรมการ
- นายศุภเดช พูนพิพัฒน์ ประธานกรรมการบริหาร, รองประธานกรรมการ
- นายสมเจตน์ หมู่ศิริเลิศ กรรมการผู้จัดการใหญ่, กรรมการ
- นายวิชิต ญาณอมร กรรมการ
- น.ส.สุวรรณภา สุวรรณประทีป กรรมการ