6 ปี 2.6 ล้านล้านบาท
ครับ ผมหมายถึงตัวเลขการขาดดุลงบประมาณรายจ่ายแผ่นดิน ในรอบ 6 ปีงบประมาณ นับแต่การยึดอำนาจของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2557 ที่ผ่านมา เป็นตัวเลขขาดดุลฯ ทั้งสิ้น 2,662,280 ล้านบาท
ขี่พายุทะลุฟ้า : ชาญชัย สงวนวงศ์
ครับ ผมหมายถึงตัวเลขการขาดดุลงบประมาณรายจ่ายแผ่นดิน ในรอบ 6 ปีงบประมาณ นับแต่การยึดอำนาจของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2557 ที่ผ่านมา เป็นตัวเลขขาดดุลฯ ทั้งสิ้น 2,662,280 ล้านบาท
งบประมาณรายจ่ายแผ่นดินปี 2558 (1 ต.ค. 57-30 ก.ย. 58) จำนวน 2,575,000 ล้านบาท เป็นงบประมาณขาดดุลทั้งสิ้น 250,000 ล้านบาท งบฯ ปี 2559 เพิ่มขึ้นมาเป็น 2,776,000 ล้านบาท เป็นงบฯ ขาดดุล 390,000 ล้านบาท งบฯ ปี 2560จำนวน 2,923,000 ล้านบาท เป็นงบฯ ขาดดุล 552,922 ล้านบาท
งบฯ ปี 2561 ไต่หลัก 3 ล้านล้านมาเป็น 3,050,000 ล้านบาท ขาดดุล 550,358 ล้านบาท งบฯ ปี 2562 จำนวน 3,000,000 ล้านบาท ขาดดุล 450,000 ล้านบาท และงบฯ ปี 2563 จำนวน 3,200,000 ล้านบาท ที่กำลังใช้อยู่ในปัจจุบัน เป็นงบฯ ขาดดุล 469,000 ล้านบาท
อนุมานว่า 6 ปี งบขาดดุลรวม 2.66 ล้านล้านบาท รัฐบาลก็คงต้องใช้วิธีการกู้มาโปะเต็มจำนวน เนื่องจากพฤติกรรมการใช้งบประมาณของหน่วยราชการ จะใช้เต็มจำนวนไม่ให้เหลือ เพื่อป้องกันไม่ให้ถูกตัดงบในปีถัดไป
ทั้งนี้เมื่อเทียบกับผลงานบริหารเศรษฐกิจของรัฐบาล จากการดำเนินนโยบายขาดดุลงบประมาณต่อเนื่องกันมา 6 ปี ก็พอจะเทียบเคียงกันได้ดังนี้
ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ปี 2557 โต 1.00% ปี 2558 จีดีพีโต 3.10% ปี 2559 จีดีพีโต 3.40% และปี 2560-2562 จีดีพีโต 4.0, 4.1 และ 2.4% ตามลำดับ ส่วนปี 2563 ผลงานที่ปรากฏในไตรมาสแรกที่ผ่านมา ซึ่งพิษโควิด-19 เริ่มอาละวาดหนักช่วงปลายเดือนมี.ค. จีดีพีติดลบ 1.8%
เศรษฐกิจโตได้คุ้มค่ากับนโยบายขาดดุลงบประมาณรวม 2.66 ล้านล้านบาท ที่เอาแต่แจกเงินเป็น “มหาประชานิยม” ไหม
และเมื่อมาเจอกับผลกระทบโควิด-19 เศรษฐกิจปี 2563 ก็น่าจะทรุดตัวรุนแรงสุดยิ่งกว่า “ต้มยำกุ้ง” ซึ่งกรณียังไม่มีโควิด แบงก์ชาติยังประมาณการจีดีพีจะติดลบ 5% เมื่อมาเจอโควิดจีดีพีอาจติดลบถึง 8% ประเทศไทย ไม่เคยเจอกับภาวะเศรษฐกิจที่เลวร้ายเช่นนี้มาก่อนเลย
ข้อน่ากังวลที่สุดต่อการขาดดุลงบประมาณเรื้อรัง แต่เศรษฐกิจขยายตัวในอัตราต่ำก็คือ กรอบความยั่งยืนทางการเงินการคลังของประเทศ ที่กำหนดเพดานการก่อหนี้สาธารณะไว้ไม่เกินร้อยละ 60 ของจีดีพี อันจะมีผลต่อฐานะการเงินการคลังของประเทศ
ด้วยปรากฏว่า ยอดหนี้สาธารณะคงค้างล่าสุด ณ วันที่ 30 เม.ย. 63 มีจำนวน 7,186,608.83 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 42.88 ของ GDP มูลค่า 16,879,000 ล้านบาท
เพดานการก่อหนี้ 60% ของจีดีพีคือ 10,127,400 ล้านบาท ฉะนั้นยังสามารถจะก่อหนี้เพิ่มได้ไม่เกิน 2,840,791 ล้านบาทเท่านั้น
ยังไม่ได้นับรวมพ.ร.ก.กู้เงิน 1.9 ล้านล้านบาท ซึ่งจะต้องมีการก่อหนี้สาธารณะโดยการออกพันธบัตร สถานะการเงินการคลังของประเทศก็ดูจะบีบรัด ปริ่ม ๆ จะเกินกรอบความยั่งยืนอยู่แล้ว
นายกรัฐมนตรีพล.อ.ประยุทธ์ ในการชี้แจงพ.ร.ก.กู้เงิน 1.9 ล้านล้านบาทในสภาผู้แทนราษฎรเมื่อเร็ว ๆ นี้ ก็ยังบอกว่า หนี้สาธารณะของประเทศยังอยู่ในระดับร้อยละ 59.66 เท่านั้น
ไม่รู้ว่าพูดออกไปด้วยความพลั้งเผลอหรือด้วยความไม่รู้จริง ๆ เพราะอีกไม่กี่จุดทศนิยมเอง ก็จะชนเพดานหนี้สาธารณะร้อยละ 60 แล้ว
ผลกระทบโควิดคงอยู่กับประเทศไทยไปอีกนาน ซึ่งหมายถึงเศรษฐกิจไทยจะทรุดตัวต่อไปยาวนานแน่ ความสามารถในการหารายได้ของรัฐบาลก็ย่อมจะลดลงแน่นอน และความสามารถในการก่อหนี้ก็จะลดลงตามไปด้วย
คิดไปแล้วก็เสียดายกับ 6 ปีที่เสียหายไปกับการละเลงนโยบายมหาประชานิยม ที่แจกเงินอย่างไร้สาระ โดยเศรษฐกิจก็ไม่ได้ฟื้นตัวแต่อย่างใดด้วย