พาราสาวะถี
มีผลกันมาตั้งแต่หลังห้าทุ่มเมื่อคืนที่ผ่านมากับการเลิกเคอร์ฟิวตามที่ที่ประชุมศบค.ชุดใหญ่เคาะเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ขณะที่วันนี้ก็ประเดิมวันแรกของมาตรการผ่อนปรนระยะที่ 4 บรรดากิจการ กิจกรรมที่ได้รับการผ่อนคลายนั้นก็อย่างที่ปรากฏเป็นข่าวกันไปแล้ว มีเรื่องหนึ่งที่ไม่เห็นด้วยคือ กรณีบอกให้โรงเรียนที่มีนักเรียนไม่เกิน 120 คน ถ้ามีความพร้อมก็สามารถเปิดเรียนได้ตั้งแต่วันนี้เลย มันดูเหมือนเป็นการรวบรัดและมักง่ายยังไงชอบกล
อรชุน
มีผลกันมาตั้งแต่หลังห้าทุ่มเมื่อคืนที่ผ่านมากับการเลิกเคอร์ฟิวตามที่ที่ประชุมศบค.ชุดใหญ่เคาะเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ขณะที่วันนี้ก็ประเดิมวันแรกของมาตรการผ่อนปรนระยะที่ 4 บรรดากิจการ กิจกรรมที่ได้รับการผ่อนคลายนั้นก็อย่างที่ปรากฏเป็นข่าวกันไปแล้ว มีเรื่องหนึ่งที่ไม่เห็นด้วยคือ กรณีบอกให้โรงเรียนที่มีนักเรียนไม่เกิน 120 คน ถ้ามีความพร้อมก็สามารถเปิดเรียนได้ตั้งแต่วันนี้เลย มันดูเหมือนเป็นการรวบรัดและมักง่ายยังไงชอบกล
ทั้งที่ความจริงแล้ว โรงเรียนที่มีจำนวนนักเรียนร้อยดังว่านั้น ควรจะได้รับโอกาสนำร่องเปิดเรียนไปตั้งนานแล้ว เนื่องจากจำนวนเด็กที่มีไม่มาก ทำให้ไม่ยากต่อการบริหารจัดการ และหากดำเนินการไปก่อนหน้า ก็จะได้เป็นตัวอย่างให้โรงเรียนขนาดกลางและขนาดใหญ่ ใช้เป็นแนวทางว่า การเว้นระยะห่างในลักษณะไหนปลอดภัย การสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อย ๆ และทุกเรื่องที่วางแผนกันอย่างเข้มงวดนั้นได้ผลขนาดไหน
พอลากยาวมาถึงเวลานี้ จึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องไปเร่งรัดให้เปิดเรียน รอให้เปิดพร้อมกันในวันที่ 1 กรกฎาคมไปเสียทีเดียว จะได้วัดผลในคราวเดียวกันและประเมินกันว่าเรื่องขนาดของโรงเรียนเป็นปัจจัยเสี่ยงของการแพร่ระบาดของโควิด-19 หรือไม่ เช่นเดียวกันกับเรื่องการยกเลิกเคอร์ฟิว ความจริงมันไม่ควรจะมีตั้งแต่แรกหรือควรจะยกเลิกไปตั้งนานแล้วหรือเปล่า เพราะห้วงระยะเวลาที่บังคับห้ามออกนอกเคหสถานนั้น มันใช้คุมแค่พวกมั่วสุม ตั้งวงก๊งเหล้าเท่านั้น
ขณะที่อีกด้าน มันกระทบต่อผู้ประกอบอาชีพสุจริตที่มีความจำเป็นจะต้องออกจากบ้านในช่วงเวลาที่ห้ามออกนั้น ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่และเศรษฐกิจในบางด้าน กลายเป็นได้ไม่คุ้มเสียไปเสียฉิบ เพราะหากประเมินกันอย่างเป็นธรรม และเชื่อมั่นในมาตรการที่วางไว้ รวมไปถึงความร่วมมือและตระหนักรู้ถึงพิษภัยของเจ้าไวรัสร้าย ไม่ว่าการออกจากบ้านเวลาใดก็ต้องป้องกันและดูแลความปลอดภัยกันอย่างเต็มที่อยู่แล้ว ยิ่งหลังการผ่อนคลายจนถึงระยะที่ 3 ช่วงเวลานอกเคอร์ฟิวที่คนกลับมาใช้ชีวิตเกือบปกตินั้นน่ากลัวยิ่งกว่า
อย่างไรก็ตาม น่าสนใจว่า หลังการผ่อนคลายในระยะที่ 4 ไปแล้ว หากตัวเลขผู้ติดเชื้อในประเทศยังเป็นศูนย์ต่อเนื่องจนครบ 28 วันตามหลักวิชาการ ประเทศไทยจะเบาใจ สบายใจต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้หรือไม่ ซึ่งคาดว่าในส่วนของภาครัฐคงจะประเมินกันไว้แล้วว่า น่าจะลดความกังวลได้ในระดับหนึ่ง จึงมีการขยับเรื่องของการท่องเที่ยวภายในประเทศ ซึ่งถือเป็นสิ่งที่ดีเพียงแต่จะต้องไม่ให้เกิดเหมือนกรณีบางแสนขึ้นอีกเท่านั้น
ส่วนที่จะข้ามไปอีกสเต็ปคือ การเปิดให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามายังประเทศไทยนั้น ในลักษณะจับคู่ประเทศท่องเที่ยวหรือทราเวล บับเบิล นั้น มีคำถามว่า ถึงเวลาที่จะต้องดำเนินการได้แล้วหรือยัง หากพิจารณาตัวเลขผู้ป่วยติดเชื้อรายใหม่ที่ศบค.แถลงรายวันนั้น ก็จะเห็นได้ว่าล้วนแต่เป็นคนไทยที่เดินทางกลับมาจากต่างประเทศทั้งสิ้น ซึ่งเชื่อว่าคนไทยเหล่านั้นก็น่าจะป้องกันตัวเองได้ดีกว่าคนต่างชาติแต่ยังติดเชื้อได้ แล้วถ้าเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามามันจะมีความเสี่ยงมากกว่าหรือไม่ นี่เป็นสิ่งที่ต้องคิดหนัก
หากจะบอกว่าก็มาแล้วต้องเข้าสู่มาตรการกักตัวเหมือนที่ทำอยู่ ถามว่านักท่องเที่ยวคนไหนจะพร้อมที่จะต้องเดินทางมาถึงแล้วถูกกักตัวเป็นเวลา 14 วันเป็นอย่างน้อยหรือไม่ ถ้ารู้ว่าเดินทางมาแล้ว แต่ไม่ได้รับความสะดวกสบาย แม้จะเข้าใจกันว่าทุกอย่างต้องเป็นชีวิตวิถีใหม่ คงไม่มีใครอยากเดินทางมา เข้าใจว่าภาคการท่องเที่ยวประสบปัญหาหนัก ไม่ต่างจากรัฐบาลที่ขาดรายได้มหาศาล แต่หากไม่ชัวร์ ไม่ปลอดภัยร้อยเปอร์เซ็นต์ คิดหาหนทางอื่นเพื่อช่วยเหลือฟื้นฟูกันน่าจะดีกว่า
ภาพรวมของสถานการณ์โควิด-19 อยู่ในจังหวะที่น่าพอใจและทำให้ผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจอุ่นใจได้ว่า คงจะทำให้คนไทยจำนวนไม่น้อยชื่นชมและชื่นชอบต่อการดำเนินงานของรัฐบาล และน่าจะเคลมเป็นผลงานได้บ้าง แต่คงไม่ได้เป็นเช่นนั้น หลังจากสิ้นเดือนนี้ไปแล้วการหมดมาตรการเยียวยา ต้องไปดูว่าคนที่เดือดร้อนนั้นหายไปกี่มากน้อย นอกจากจะไม่มีเงินช่วยแล้ว หนี้ที่เคยพักชำระหรือได้รับการช่วยเหลือจากสถาบันการเงินก็จะกลับมาเข้าสู่โหมดปกติ เหล่านี้ยังเป็นเรื่องใหญ่ที่รัฐบาลจะต้องพิสูจน์ฝีมือ
ในจังหวะที่เกมการเมืองว่าด้วยการคาดหมายเรื่องปรับครม.ดูท่าจะร้อนแรง จึงเป็นห้วงเวลาที่ท่านผู้นำคงต้องคิดหนัก เนื่องจากถ้าต้องการจะเดินหน้าแก้ปัญหาเศรษฐกิจจากเงินฟื้นฟูที่กู้ไว้ 4 แสนล้านบาท โดยทีมงานเศรษฐกิจชุดใหม่ ก็ต้องรีบปรับเปลี่ยน เพื่อให้เกิดความชัดเจนและวัดผลความคาดหวังเชื่อมั่นจากประชาชน แน่นอนอีกเช่นกันว่า การที่พรรคสืบทอดอำนาจนัดเพื่อเลือกคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ในวันที่ 3 กรกฎาคมนั้น ก็จะเป็นเงื่อนเวลาที่น่าจะเห็นความเคลื่อนไหวในการปรับครม.ด้วยเหมือนกัน
ครั้งนี้ จะเป็นบทพิสูจน์อย่างหนึ่งว่า การแบ่งก๊ก จับกลุ่ม แยกก๊วนและแย่งส.ส.กันอุตลุดภายในพรรคสืบทอดอำนาจนั้น จะมีผลต่อการตัดสินใจเกลี่ยเก้าอี้รัฐมนตรีของท่านผู้นำหรือไม่ ที่น่าสนใจคือโควตากทม. ที่เดิมที 12 ส.ส.เมืองหลวงอยู่ภายใต้การดูแลของ พุฒิพงษ์ ปุณณกันต์ แต่ล่าสุดปรากฏว่ามี 5 ราย ย้ายค่ายไปสังกัดส.ส.เมียเจ้าของสื่อ ซึ่งถือว่าเป็นการตบหน้ากันฉาดใหญ่ เพราะใครก็รู้ว่าส.ส.เมืองกรุงของพรรคสืบทอดอำนาจนั้น ผ่านการเลือกและคัดสรร รับรองโดยพุฒิพงษ์และทีมงานทั้งสิ้น
บทสัมภาษณ์ล่าสุดของเจ้าตัวที่บอกว่ารอให้คิดได้ก่อนจึงน่าจะรู้สึกเสียใจ เป็นการยอมรับโดยดุษฎีว่า คนที่มาดึงเอาเด็กในคาถาไปอยู่ด้วยนั้น ไร้มารยาททางการเมือง แต่ก็เป็นสัจธรรมการเมืองที่ว่า ที่ใดมีอำนาจและผลประโยชน์ นักเลือกตั้งไม่ว่าจะหน้าเก่าหน้าใหม่ถ้าไม่หนักแน่นแล้ว ย่อมเปลี่ยนสีได้อยู่ตลอดเวลา ซึ่งสิ่งที่พุฒิพงษ์แสดงความเชื่อมั่นว่าหากปรับครม.ท่านผู้นำจะไม่มองจากโควตาของกลุ่มก๊วนในพรรค คงจะได้พิสูจน์กันว่าวันนี้ผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจยังเป็นคนเดิมหรือไม่
ด้านกลุ่มแคร์ที่ดูแลโดยหัวเรือใหญ่อย่าง “เสี่ยอ้วน” ภูมิธรรม เวชยชัย ล่าสุดเผยโฉม 7 แกนนำหลักอย่างเป็นทางการแล้ว ก่อนที่จะเปิดตัวกันอย่างเป็นเรื่องเป็นราวในวันที่ 17 มิถุนายนนี้ แค่ 2 รายชื่อที่ร่วมกับเสี่ยอ้วนอย่าง “หมอเลี้ยบ” นายแพทย์สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี กับ “หมอมิ้ง” นายแพทย์พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช คงอ่านกันได้ไม่ยากว่า หากจะไปตั้งพรรคการเมืองกันใหม่นั้น มีเป้าหมายอย่างใด นี่คือโมเดลพรรคการเมืองที่ถอดบทเรียนมาจากไทยรักษาชาติและอนาคตใหม่ และจะเป็นคู่แข่งสำคัญกับพรรคก้าวไกลอย่างแน่นอน