แรงเทรด ‘กองทุน’

“กองทุน” คือส่วนหนึ่งของกลุ่มนักลงทุนสถาบัน


ลูบคมตลาดทุน : ธนะชัย ณ นคร

“กองทุน” คือส่วนหนึ่งของกลุ่มนักลงทุนสถาบัน

จะว่าไปแล้ว นักลงทุนสถาบัน ประกอบด้วยกลุ่มนักลงทุนเยอะมาก หรือราว ๆ 20-21 ประเภท

ทว่ากลุ่มที่ใหญ่จริง ๆ เช่น กลุ่มบริษัทประกัน (ประกันชีวิต-ประกันวินาศภัย) กองทุนประกันสังคม กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ หรือ กบข.

ในส่วนของบริษัทประกันชีวิต ส่วนใหญ่การลงทุนในตลาดหุ้น จะเป็นการลงทุนระยะยาว ดักกินเงินปันผลเป็นหลัก

การ “ปรับพอร์ต” (หุ้น) แต่ละครั้ง ค่อนข้างเป็นเรื่องใหญ่

ต้องผ่านการพิจาณาของคณะกรรมการลงทุน และอีกหลายขั้นตอน

ปุจฉา : ถามว่า แล้วประกันชีวิตมีส่วนที่เล่นแบบ “เก็งกำไร” มีบ้างไหม

คำตอบ คือ “มี” แต่ไม่เยอะ

ขณะที่บริษัทประกันวินาศภัย จะมีพอร์ตลงทุนในหุ้นที่เป็นทั้งระยะสั้น และยาว

ประกันวินาศภัย จะรับเบี้ยประกันแบบมีผลปีต่อปี มีสินไหมให้เข้ามาเคลมเรื่อย ๆ

ดังนั้น การทำให้ตนเองมีความพร้อมด้าน “สภาพคล่อง” จึงเป็นเรื่องสำคัญ

ส่วนกองทุนประกันสังคม และ กบข. ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนระยะยาวเช่นกัน

แต่อาจจะมีบ้างที่ต้อง “ปรับพอร์ต” ที่อาจมีการเข้าซื้อเพิ่ม หรือลดการลงทุน หากประเมินว่ามี “ปัจจัยเสี่ยง” หรือแนวโน้มผลประกอบการของหุ้นนั้น ๆ หรือธุรกิจนั้น ๆ ดูแล้วไม่ค่อยดี

มาถึงกองทุน

กองทุน ก็มีทั้งลงทุนระยะยาว และสั้น

ทว่า ในแง่ของการเล่นแบบเก็งกำไร ก็จะมีมากกว่านักลงทุนประเภทอื่น ๆ ที่อยู่ในกลุ่มสถาบัน

การซื้อขายของกลุ่มนักลงทุนสถาบันทุกวันนี้ เราจึงมักเรียกแบบรวบยอดไปเลยว่า “กองทุน” หรือ “พี่กอง” นั่นแหละ

อย่างที่รับทราบกัน

หุ้นส่วนใหญ่ของกลุ่มนักลงทุนสถาบัน จะอยู่ในกลุ่ม SET50 เป็นหลัก (หรืออาจแทบทั้งหมด)

ส่วนกลุ่ม SET100 นั้น อาจจะมีบ้าง แต่ต้องเป็นหุ้นที่เจ๋งจริง ๆ

ข้อมูลนี้ จึงเป็นที่มาของคำถามที่ว่า แรงเทรดต่อวันของ “พี่กอง” หรือกองทุนนั้น เมื่อเทียบกับ และ “รายย่อย” ช่างแตกต่างราวฟ้ากับเหว

เพระเฉลี่ยต่อวันนั้น รายย่อยจะมีสัดส่วนการเทรดราว ๆ 55%

ยกตัวอย่าง เมื่อวันที่ 15 มิ.ย. 63 ตลาดหุ้นไทยปรับฐานค่อนข้างแรง ดัชนีปิดลบ 40.57 จุด

มูลค่าการซื้อขายวันนั้น คือ 83,379.76 ล้านบาท

แบ่งเป็นวอลุ่มของนักลงทุนทั่วไป หรือรายย่อย 45,669 ล้านบาท คิดเป็น 54.7% ของวอลุ่มเทรด

นักลงทุนต่างประเทศ มีวอลุ่ม 23,869 ล้านบาท คิดเป็น 28.6%

บัญชีบริษัทหลักทรัพย์ จำนวน 7,189 ล้านบาท คิดเป็น 8.6%

และนักลงทุนสถาบัน (กองทุน) จำนวน 6,652 ล้านบาท คิดเป็น 7.9% (เท่านั้น)

วันนั้น “ขายสุทธิ” ออกมาเล็กน้อย ประมาณ 1,240 ล้านบาท แต่สามารถสร้างแรงกระเพื่อมของดัชนีได้อย่างมหาศาล

สาเหตุเพราะหุ้นที่ถูกขายออกมา ต่างอยู่ในกลุ่ม SET50 ที่มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด หรือมาร์เก็ตแคปสูง เช่น PTT AOT CPALL และ GULF

รวมถึงหุ้นในกลุ่มธนาคาร เช่น BBL KBANK SCB

พอพี่กองสาดออกมาแบบนี้

ย่อมทำให้ “ดัชนี” ร่วงหนักแน่นอน จนเกิดการ “แพนิก” ที่รายย่อยจะต้องขายตามมา

และนำไปสู่การแพนิกใหญ่อย่างที่เห็นกัน

รายย่อย แม้ว่าจะมีวอลุ่มเทรดมากสุดในตลาดหุ้นขณะนี้

แต่ทำยังไงก็ไม่มีทางที่จะสู้กับแรงขาย หรือแรงซื้อของกองทุน และ “พี่หรั่ง” หรือต่างชาติได้

นั่นจึงเป็นที่มาของการที่มีการพูดกันว่า กองทุน คือ “เจ้ามือ” หรือผู้คุมเกมในตลาดหุ้นตัวจริง แม้วอลุ่มเทรดต่อวันจะไม่ถึง 10% ของวอลุ่มเทรดรวม

เราลองนึกภาพของกลุ่มคนซัก 100 กว่าคนแล้วกัน ที่นั่งอยู่ในป้อมปราการ

ป้อมนี้มีทั้งปืนใหญ่ เรดาร์ ทีมงานผู้เชี่ยวชาญ แถมยังใช้ดาวเทียมช่วยในการกำหนดพิกัดอีก เพื่อโจมตีคู่ต่อสู้

กับอีกฝ่ายหนึ่งที่มีนักรบเป็นแสนคน

แต่กลับไม่สามารถกำหนดการต่อสู้ไปในทิศทางเดียวกันได้ มีแค่ปืนเล็กยาว เครื่องไม้ เครื่องมือ บุคลากรก็ไม่พร้อม ขึ้นอยู่กับความสามารถส่วนบุคคลเป็นหลัก

คุณคิดว่าใครคือผู้คุมเกมรบในครั้งนี้ล่ะ

Back to top button