ถึงครูอังคณา…แล้วไงต่อ
กรณี “ผ่ากึ่ง” ค่าเยียวยาคลื่น 2600 เมกะเฮิรตซ์ มูลค่า 3,235.83 ล้านบาท ระหว่างอสมทกับบริษัทเพลย์เวิร์ค ถึงครูอังคณาจนได้
ขี่พายุทะลุฟ้า : ชาญชัย สงวนวงศ์
กรณี “ผ่ากึ่ง” ค่าเยียวยาคลื่น 2600 เมกะเฮิรตซ์ มูลค่า 3,235.83 ล้านบาท ระหว่างอสมทกับบริษัทเพลย์เวิร์ค ถึงครูอังคณาจนได้
นั่นคือ นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา สั่งการรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ นายเทวัญ ลิปตพัลลภ ให้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง โดยมีปลัดสำนักนายกฯ เป็นประธาน
ให้เวลา 15 วัน แล้วสรุปรายงานมายังรัฐมนตรี เพื่อจะได้วินิจฉัยสั่งการต่อไป ส่วนจะมีการพักปฏิบัติงานผู้อำนวยการใหญ่อสมทระหว่างนี้หรือไม่ ยังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณา
ปัญหาคงมีทั้งในทางข้อกฎหมายและในทางข้อเท็จจริง!
ในทางข้อกฎหมายประการแรกในเรื่องของการยืนยันในหนังสือที่มีไปยังกสทช.ว่า กรรมการผู้อำนวยการใหญ่อสมทเป็นผู้มีอำนาจตามกฎหมายในการพิจารณาค่าเยียวยาและส่วนแบ่งค่าเยียวยากับเอกชน มิใช่อำนาจของคณะกรรมการบริหารอสมทนั้น
กรรมการผู้อำนวยการใหญ่มีอำนาจจริงหรือเปล่า และไม่ต้องผ่านความเห็นชอบจากบอร์ดอสมทจริงหรือไม่
ในประการที่สอง ตามที่นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา บอร์ดกสทช.ฝ่ายข้างน้อยตั้งประเด็นว่า สัญญาระหว่างอสมทกับบริษัทเพลย์เวิร์คให้ใช้คลื่นความถี่ระบบ MMDS เพื่อให้บริการโทรทัศน์บนเทคโนโลยีแบบบรอดแบนด์ไร้สาย (BWA) นั้น ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
ทั้งเคยมีการตรวจสอบ ปรากฏว่าไม่พบการใช้คลื่นความถี่ดังกล่าวแต่ประการใด
นอกจากนั้นนพ.ประวิทย์ ยังตั้งคำถามถึงความไม่ชัดเจนเรื่องความชอบด้วยกฎหมายว่า อสมทเป็นผู้ได้รับอนุญาตและมีสิทธิในคลื่น 2600 MHz ดังกล่าวตามกฎหมายหรือไม่
ในทางข้อเท็จจริง ก็ต้องสืบสาวราวเรื่องถึงความสมเหตุสมผลในการแบ่งจ่ายค่าเยียวยาให้แก่คู่สัญญาอสมทคือบ.เพลย์เวิร์คเป็นสำคัญว่า ทำไมถึงจะต้องได้ส่วนแบ่งค่าเยียวยาเท่า ๆ กันกับเจ้าของคลื่น
โดยเฉพาะประเด็นว่า เพลย์เวิร์คใช้เงินลงทุนไปเป็นจำนวนมากน้อยเท่าใด รูปแบบทางธุรกิจที่ทำมีอนาคตการเจริญเติบโตเท่าไหน จึงจะไปดูถึง “ค่าเสียโอกาส” ทางธุรกิจว่า เบ็ดเสร็จแล้ว สมควรจะได้เงินเยียวยาถึง 1.6 พันล้านบาทไหม
งบดุลบัญชีของบริษัทเพลย์เวิร์ค สามารถจะติดตามมาได้เพียง 3 ปีเท่านั้น เนื่องจากการดำเนินธุรกิจของบริษัทนี้มีลักษณะกะปริดกะปรอย ก่อตั้งปี 48 จะมาทำเคเบิลทีวีแบบอะนาล๊อกกับอสมทเอาเมื่อปี 53 และมาพลิกฟื้นอีกทีก็ในปี 61 ที่จะมีการเปลี่ยนธุรกิจเป็นโทรทัศน์บอกรับสมาชิกแบบบรอดแบนด์ไร้สาย
ผู้บริหารอสมทเองก็น่าจะรู้ว่าธุรกิจของคู่สัญญาตัวเองจะรุ่งเรืองหรืออับเฉาเพียงใด
งบปี 60 รายได้รวม 169,916016.26 บาท แบ่งรายได้ตามกติกา 9% ให้อสมท ก็แค่ 15.29 ล้านบาทเท่านั้น งบปี 61 รายได้รวม 235,035,650.68 ล้านบาท ส่วนแบ่งอสมทเพิ่มมาหน่อยเป็น 21.15 ล้านบาท และปี 62 รายได้รวมลดมาเป็น 188,373,008.17 ล้านบาท ส่วนแบ่งอสมทก็แค่ 16.95%
รายได้มันเดินหน้าถอยหลัง และส่วนแบ่งรายได้ของอสมทก็แค่กระจิ๊ดเดียว ถ้าไม่หลอกทั้งบมจ.ตัวเองและคู่สัญญาก็น่าจะรู้ดีว่า ค่าเยียวยาที่สมควรได้รับมันควรจะถึง 1.6 พันล้านบาท หรือจะเอากันตั้งคนละ 3.2 พันล้านบาท มันก็จะยิ่งเลอะเทอะไปกันใหญ่
กิจการของบริษัทเพลย์เวิร์คในรอบ 3 ปี (60-61-62) มันมีแค่ 59-26 และ 10 ล้านบาทตามลำดับเท่านั้น สัญญาณกำไรมีลักษณะเตี้ยลง ๆ เป็นสาละวันอย่างเห็นได้ชัด
มาคุยใหญ่คุยโตว่า กิจการมีการลงทุนใหญ่โต เพื่อจะรับค่าเยียวยามูลค่าสูง ก็ต้องมาดูกันที่ตัวเลขทรัพย์สินรวม ซึ่งก็ถดถอยลงเหมือนเช่นกำไรเหมือนกัน ดั่งปี 2560 ทรัพย์สินรวม 294.23 ล้านบาท ปี 61 ทรัพย์สินลดเหลือ 228.16 ล้านบาท และปี 62 ทรัพย์สินลดลงอีกเป็น 162.95 ล้านบาท
มันสมควรจะได้รับการเยียวยาเป็นคนละ 1.6 พันล้านบาท หรือคนละ 3.2 พันล้านบาท ยิ่งแล้วไปกันใหญ่ไหมเนี่ย
ยิ่งมามองถึงประวัติศาสตร์ทางกายภาพของบริษัทเพลย์เวิร์คตามปรากฏในระเบียนสรรพากร จากการสืบค้นของทีมงาน “ข่าวหุ้นธุรกิจ” ปรากฏว่ามีการย้ายที่ตั้งบริษัทมาแล้วถึง 4 แห่ง
ที่ตั้งบริษัทแห่งแรกปี 48 เป็นตึกแถวโทรม ๆ อยู่ซอยลาดพร้าว 30 กทม. ที่ตั้งแห่งที่ 2 เข้าไปอยู่ในหมู่บ้านเสรี ซอยรามคำแหง 24 มีลักษณะเป็นบ้านอยู่อาศัย หาใช่เป็นทาวน์โฮมหรืออาคารสำนักงานแต่อย่างใดไม่ และปี 62 ก็ขยับมาตั้งสำนักงานใหญ่ที่หมู่บ้านเสรี 9 ซอยพระรามเก้า 41
งานนี้ หากมิใช่ความเขลา ก็คงจะเป็น “ปาหี่” หลอกกินเงินหลวงกลางแดดเปรี้ยงล่ะครับ