‘แบงก์’ เซนติเมนต์เชิงลบ
จะว่าไปแล้ว
ลูบคมตลาดทุน : ธนะชัย ณ นคร
จะว่าไปแล้ว
แบงก์แต่ละแห่ง ที่จ่ายเงินปันผลระหว่างกาลนั้น ก็ไม่ได้มีจำนวนเงินมากนัก เมื่อเทียบกับงวดที่จ่ายรายปี
แต่สิ่งที่ทำให้ราคาหุ้นแบงก์ลงมาค่อนข้างมาก
นั่นมาจาก “เซนติเมนต์เชิงลบ”
เพราะมีการคาดการณ์ไปว่า แบงก์กำลังเผชิญกับปัญหาเลวร้ายหรือไม่
โดยเฉพาะเรื่อง “หนี้เสีย” จากสถานการณ์โควิด-19 จนนำไปสู่การตั้งสำรองฯ ที่อาจจะเพิ่มขึ้นอย่างมาก
แต่หากใครที่ติดตามข่าวจากการให้สัมภาษณ์ของนายแบงก์แต่ละแห่ง
รวมถึงบทวิเคราะห์ของบริษัทหลักทรัพย์ต่าง ๆ
เราจะไม่เห็นความกังวล (อย่างมาก) ดังกล่าวออกมาจากนายแบงก์ และนักวิเคราะห์
แม้นายแบงก์บางคนจะบอกว่า มีโอกาสที่หนี้เสียจะปรับเพิ่มขึ้นได้
ทว่า ก็ยังอยู่ในสถานการณ์ที่ควบคุมได้ และตัวเลขก็น่าจะเป็นไปตามที่พวกเขาประมาณการกันไว้
เช่นเดียวกับนักวิเคราะห์ที่ต่างทำสถานการณ์จำลองเอาไว้เช่นกันว่า กรณีเลวร้ายสุด แบงก์ไทยจะต้องเผชิญกับหนี้เสียอย่างไร พร้อมกับสรุปว่า แบงก์แต่ละแห่งน่าจะควบคุมได้
หรืออย่างมาก น่าจะกระทบกับกำไรที่ลดลงบ้าง
แต่ไม่ได้ถึงกับเลวร้ายอะไร เงินกองทุนติดลบ อะไรขนาดนั้น
เรามาดูตัวเลขสำคัญทางการเงินของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยกันอีกครั้ง
ณ สิ้นเดือนเมษายน 2563 ระบบธนาคารพาณิชย์ของไทยมีเงินกองทุนทั้งสิ้น 2,616,162 ล้านบาท
หรือคิดเป็นสัดส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงที่ 18.9%
ตัวเลขนี้นับว่ามีความเข้มแข็งกว่าเกณฑ์เงินกองทุนที่ต้องดำรงขั้นต่ำของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่กำหนดไว้ 11.0%แบ่งเป็น เงินกองทุนขั้นต่ำ 8.5% และ Conservation Buffer 2.5%
และที่สำคัญ
ตัวเลข 18.9% ที่ว่านี้ สูงกว่ามาตรฐานสากลของ Basel Committee on Banking Supervision (BCBS) 10.5%
ขณะที่ธนาคารพาณิชย์ของไทย มีการวางแผนเพื่อบริหารจัดการเงินกองทุนเป็นปกติประจำอยู่แล้ว
มีข้อมูลจากสมาคมแบงก์ได้ระบุไว้น่าสนใจเพิ่ม
นั่นคือ ธนาคารพาณิชย์ไทยยังมีสภาพคล่องอยู่ในระดับสูง เพียงพอสำหรับการดำเนินธุรกิจตามปกติ
รวมไปถึงรองรับการ “ชำระคืนเงินฝาก” กับประชาชน และ “หุ้นกู้” ให้กับนักลงทุน
ระบบธนาคารพาณิชย์ไทยมีสินทรัพย์สภาพคล่องที่ใกล้เคียงเงินสด เช่น พันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทยและพันธบัตรรัฐบาลถึง 4.38 ล้านล้านบาท เพียงพอรองรับความต้องการถอนเงินและใช้เงินในระยะสั้นจากทั้งภาครัฐและเอกชน
และยังสูงกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำของธนาคารแห่งประเทศไทยถึง 1.8 เท่า
เห็นตัวเลขกันแบบนี้แล้ว ก็น่าจะสบายใจได้
แต่การประกาศของแบงก์ชาติที่ออกมา ต้องบอกกันแบบตรง ๆ ว่า มีการสื่อสารที่ไม่ดี เพราะกลับ “สร้างความตื่นตระหนก” ให้กับนักลงทุนและประชาชน
มีการแชร์ข่าวออกไปจำนวนมาก ทั้งเตรียมขายหุ้นทิ้งบ้างล่ะ จะไปถอนเงินจากธนาคารบ้างล่ะ
ทำให้ในช่วงวันเสาร์-อาทิตย์ที่ผ่านมา ต้องมีการออกมาให้ข้อมูลจากหลาย ๆ ฝ่าย เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนและประชาชน เพื่อลดความตื่นกลัว
ซึ่งก็พอได้ผลในระดับหนึ่ง (บรรเทาการร่วงของราคาหุ้นแบงก์ และแพนิกได้บ้าง)
ส่วนเมื่อวานนี้ ที่ราคาหุ้นกลุ่มธนาคารยังปรับลง
และมีมูลค่าการซื้อขายค่อนข้างมาก
น่าจะมาจากกองทุนต่าง ๆ ได้ “ปรับพอร์ต”
พร้อมกับเตรียมโยกเงินเพื่อไปลงทุนยังหุ้นในกลุ่มอื่น ๆ ต่อไป