3 วัน ธปท.กดดัชนี 41 จุด
วานนี้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 0.50%
ลูบคมตลาดทุน : ธนะชัย ณ นคร
วานนี้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 0.50%
เรื่องนี้ถือว่าเป็นไปตามที่นักวิเคราะห์คาดกันไว้
เพราะ กนง.เพิ่งจะปรับลดดอกเบี้ยลง 0.25% เมื่อครั้งล่าสุดวันที่ 24 พ.ค. 63
ในปีนี้ กนง.จะเหลือการประชุมอีก 4 ครั้ง
เริ่มจากวันที่ 5 ส.ค. 63, 23 ก.ย. 63, 18 พ.ย. 63 และ 25 ธ.ค. 63
บรรดานักวิเคราะห์ และศูนย์วิจัยของสถาบันการเงินต่างคาดการณ์ไว้ค่อนข้างตรงกัน
กนง.จะลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงมาอีก 1 ครั้ง หรือ 0.25% (คงเหลือ 0.25%) อย่างแน่นอน ก่อนสิ้นปีนี้
ส่วนจะปรับลงในการประชุมวันไหน
งานนี้ต้องไปลุ้นกันต่อ
มีประเด็นที่น่าสนใจเพิ่มเติมจากการประชุม กนง.เมื่อวานนี้
คือ มีการปรับลดคาดการณ์ตัวเลขจีดีพีปีนี้ลงจากเดิม -5.3% เป็น -8.1%
แน่นอนว่า การประเมินตัวเลขที่ว่านี้ เป็นการคาดที่ต่ำมาก ๆ
และต่ำกว่าทุกสำนักวิจัยด้านเศรษฐกิจทั้งฝั่งรัฐบาล และเอกชน
ไม่แน่ใจว่า แบงก์ชาติเองนั้น ประเมินจีดีพีไว้ต่ำเกินไปหรือไม่ (ที่ผ่านมามักจะเป็นแบบนี้)
จนสร้างความ “ตื่นตระหนก” (อีกครั้ง) ให้กับนักลงทุน
ตลาดหุ้นเปิดมาภาคบ่าย ดัชนีร่วงลงไปเกือบจะทันที
หุ้นขนาดใหญ่หลายกลุ่มต่างถูกเทขายออกมา
แม้จะมีแรงซื้อกลับเข้ามาเป็นบางช่วง
โดยเฉพาะการไล่ซื้อหุ้นแบงก์ (ขนาดใหญ่) กลับเข้าพอร์ต เพราะมองว่าได้รับประโยชน์จากแบงก์ชาติคงดอกเบี้ยนโยบาย
แต่ก็ยังไม่สามารถดึงดัชนีกลับมาได้
การลงของดัชนีตลาดหุ้นไทยวานนี้
ทำให้ในช่วง 3 วันที่ผ่านมา
การขยับของแบงก์ชาติ มีส่วนต่อการกดดัชนีตลาดหุ้นไทยลงมา 41-42 จุด
วันจันทร์ 22 มิ.ย. การร่วงลงของหุ้นกลุ่มแบงก์จากเรื่อง ถูกสั่งงดจ่ายเงินปันผลระหว่างกาล ดัชนีวูบลงมาถึง 18.64 จุด
และเมื่อวานนี้ดัชนีลงมาอีก 23.00 จุด จากพิษปรับลดจีดีพี
จะว่าไปแล้ว
หากวานนี้แบงก์ชาติปรับลดคาดจีดีพี การส่งออก และตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญ ๆ ลง
พร้อมกับลดดอกเบี้ยนโยบายลงมา 0.25% (แบบไม่ต้องรอการประชุมที่เหลือนั้น)
ตลาดหุ้น ก็อาจจะยังพอมีข่าวดีที่เป็น Positive surprise ได้บ้าง
แต่แบงก์ชาติก็คือแบงก์ชาติ
เป็นแบงก์ชาติที่มีความเป็นตัวตน (เอง) สูงมาก
ประเด็นเรื่องดอกเบี้ยนโยบายนั้น แม้สำนักวิจัยของสถาบันการเงินจะค่อนข้างฟันธงว่าต้องลดอีกแน่นอน
แต่ก็มีบางสำนักฯ ที่มองว่า ไม่น่าจะปรับลดแล้วล่ะ
เช่น ล่าสุด ค่ายกสิกรไทย มองว่า กนง. จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ 0.50% ในช่วงที่เหลือของปีนี้
เหตุผล คือ 1.ข้อจำกัดด้านเงินสมทบเข้ากองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) ทำให้อัตรานำส่งเงินเข้ากองทุน FIDF ต่ำสุดที่เป็นไปได้อยู่ที่ 0.20% จึงจำกัดการลดดอกเบี้ย
2.อัตราดอกเบี้ยนโยบายปัจจุบันใกล้ศูนย์และต่ำที่สุดในเอเชีย
และนั่นทำให้ขีดความสามารถนโยบายการเงิน (Policy space) จำกัด
3.ความเปราะบางในตลาดการเงินที่อาจเกิดขึ้นจากภาวะดอกเบี้ยต่ำยาวนาน
และ 4.ยังมีมาตรการภาครัฐวงเงิน 1 ล้านล้านบาทที่จะช่วยพยุงและฟื้นฟูเศรษฐกิจ จึงอาจยังไม่มีความจำเป็นต้องเร่งลดอัตราดอกเบี้ยเพิ่มเติม
แต่ปัจจัยเสี่ยงสำคัญคือการระบาดของไวรัสรอบที่ 2 ในไทย อาจมีผลต่อการตัดสินนโยบายการเงิน
ทุกครั้งการขยับ (หรือไม่ยอมขยับ) ของแบงก์ชาติ
มักจะมีผลต่อตลาดหุ้นเสมอ
และส่วนใหญ่จะเป็นไปในทางลบเสียด้วยสิ