ได้เลือกตั้งไม่ได้ประชาธิปไตยใบตองแห้ง

คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญกำลังจะให้ประชาชนทำข้อสอบที่มี choice ให้เลือกแค่ 2 ข้อคือ 1. ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญแล้วให้ คสช.ปกครองต่อไปโดยไม่รู้อนาคต หรือ 2. กลับสู่เลือกตั้งแต่รัฐบาลรัฐสภาไม่มีอำนาจ ต้องอยู่ใต้ “โปลิตบูโร” คณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ ซึ่งออกประกาศ “ขออภัยในความไม่สะดวก” ได้ทุกเมื่อ


ทายท้าวิชามาร: ใบตองแห้ง

 

คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญกำลังจะให้ประชาชนทำข้อสอบที่มี choice ให้เลือกแค่ 2 ข้อคือ 1. ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญแล้วให้ คสช.ปกครองต่อไปโดยไม่รู้อนาคต หรือ 2. กลับสู่เลือกตั้งแต่รัฐบาลรัฐสภาไม่มีอำนาจ ต้องอยู่ใต้ “โปลิตบูโร” คณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ ซึ่งออกประกาศ “ขออภัยในความไม่สะดวก” ได้ทุกเมื่อ

ไม่เพียงเท่านั้น รัฐบาลนี้ยังจะได้ตั้งส.ว. 123 คนค้ำอำนาจไปอีก 3 ปี จะมีคณะกรรมการปฏิรูปด้านต่างๆ คอยชี้นิ้วให้รัฐบาลเลือกตั้งทำตาม จะมีองค์กรอิสระที่ครบวาระแล้วแต่งตั้งโดย สนช.ชุดนี้ อยู่ไปอีก 6 ปี 9 ปี

ถามจริง จะมีรัฐบาลเลือกตั้งไปทำไม นอกจากมีไว้เป็นเจว็ดเป็นพิธีกรรม อำนาจต่างๆ ก็ถูกลบล้างโดยร่างรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายที่ออกในยุครัฐประหาร เช่น เสนอนโยบายไม่ได้ ถ้าศาลตีความเป็น “ประชานิยม” เมื่อไหร่อาจถูกยุบพรรคตัดสิทธิ ย้ายทหารไม่ได้ ย้ายตำรวจไม่ได้ ขณะที่ ผบ.เหล่าทัพ ผบ.ตร. ขึ้นไปอยู่เหนือรัฐบาล ไม่รู้ใครสั่งใคร ไม่รู้ใครรับผิดชอบกันแน่

ถ้าร่างรัฐธรรมนูญผ่าน สปช.ยังจะเพิ่มข้อสอบให้ชาวบ้านมึน ข้อ 2 ก.รับร่างรัฐธรรมนูญไปก่อนแต่เลือกตั้งทีหลัง ระหว่างนี้ให้อยู่ใต้คสช.อีก 2 ปี ข้อ 2 ข. เลือกตั้งเลยแต่นอกจากมีโปลิตบูโรยังบังคับให้พรรคการเมืองร่วมกันตั้งรัฐบาลปรองดองแห่งชาติ ใช้ ส.ส. 4 ใน 5 ไม่ต้องบอกก็รู้ว่าสามารถมี “นายกฯ คนนอก” ซึ่งใช้คะแนนเสียง 2 ใน 3 เท่านั้น

ตรรกะวิบัติทั้ง 2 ข้อ ข้อแรก คสช.มาจากการยึดอำนาจ ห้ามประชาชนวิพากษ์วิจารณ์ ถ้าจะให้ลงประชามติอยู่ต่อ 2 ปี ก็ต้องเปิดให้ชาวบ้านวิจารณ์ได้ ไม่งั้นจะลงประชามติทำไม

ข้อสอง จะเอาประชามติบังคับขืนใจพรรคการเมืองให้จับมือกันตั้งรัฐบาล ทั้งที่พรรคการเมืองก็มาจากเลือกตั้ง สมมติประชามติ 18 ต่อ 12 ล้านบังคับให้ร่วมรัฐบาลกัน แต่ 2 พรรคใหญ่หาเสียงยืนยันไม่ร่วมรัฐบาลกันแล้วได้คะแนน 12 ล้านกับ 10 ล้าน ถามว่า 18 ล้านแรกกับ 22 ล้านหลังใครใหญ่กว่า

คนระดับปรมาจารย์กฎหมายมหาชนคิดได้ไง เอามติมหาชนไปขัดมติมหาชน 

คณะกรรมาธิการหรือใครก็ตามที่บงการ กล้าวางเดิมพันเพราะเชื่อว่านิสัยคนไทยประนีประนอมหยวนยอมง่าย คนไทยกลัว choice ข้อแรก ทั้งทางการเมืองเศรษฐกิจ กลัวว่าถ้า คสช.ปกครองต่อไป ระหว่างยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ก็อาจขัดแย้งรุนแรงแตกหัก อาจนำไปสู่การนองเลือดอีก หรืออาจเกิดวิกฤติรูปแบบไหนยังไม่รู้ ขณะที่ทางเศรษฐกิจถ้าไม่มีเลือกตั้ง ต่างชาติไม่ยอมรับ ก็จะยิ่งยากลำบากในภาวะเช่นนี้

ทางเลือกที่ให้จึงดูเหมือน “หมูไปไก่มา” อยากเลือกตั้งไหมล่ะ ถ้าอยากเลือกตั้งก็ต้องยอมรับระบอบโปลิตบูโร ให้สถาบันกองทัพ รัฐราชการ และชนชั้นนำอยู่เหนืออำนาจเลือกตั้งของประชาชนอย่างโจ่งแจ้ง ยิ่งกว่ายุคประชาธิปไตยครึ่งใบเมื่อ 30 กว่าปีก่อน

ทั้งที่จริงมันไม่ใช่หมูไปไก่มา แต่เลือกทางไหนก็เตะหมูเข้าปากอยู่ดีทั้งที่จริงมันคือการบังคับให้ประชาชนเลือกอย่างไม่แฟร์ เพราะถ้าประชาชนยิ่งอึดอัด กลัวเกิดวิบัติ หรือกระทั่งเบื่อหน่าย คสช. ไม่อยากฟังเพลง ไม่อยากดูรายการคืนความสุข ฯลฯ ก็จำต้องไปลงประชามติอยากให้มีเลือกตั้ง แต่กลายเป็นยอมรับร่างรัฐธรรมนูญที่ “ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ประชาธิปไตย”

Back to top button