พาราสาวะถีอรชุน

หลายคนขีดเส้นใต้คำพูดของ สมหมาย ภาษี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่บอกถึง “ความเชื่อมั่นต่อตัวนายกรัฐมนตรี” ของนักลงทุนต่างชาติ ไม่ใช่ตัวรัฐมนตรีในรัฐบาลและอีกวลีทอง “นายกฯต้องตั้งสติให้ดีตอนนี้ยังไม่สาย แม้เหลือเวลาไม่มาก” หรือนี่จะเป็นการบ่งบอกว่าผลงานที่ผ่านมามีอุปสรรคและปัญหาเกิดจากสิ่งใด


อรชุน

 

หลายคนขีดเส้นใต้คำพูดของ สมหมาย ภาษี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่บอกถึง “ความเชื่อมั่นต่อตัวนายกรัฐมนตรี” ของนักลงทุนต่างชาติ ไม่ใช่ตัวรัฐมนตรีในรัฐบาลและอีกวลีทอง “นายกฯต้องตั้งสติให้ดีตอนนี้ยังไม่สาย แม้เหลือเวลาไม่มาก” หรือนี่จะเป็นการบ่งบอกว่าผลงานที่ผ่านมามีอุปสรรคและปัญหาเกิดจากสิ่งใด

ที่หลายคนติดใจในคำให้สัมภาษณ์ของสมหมายคงเป็นเรื่องการเมืองต้องนิ่ง  ถ้ายิ่งการเมืองคุกรุ่นกันมากขึ้นความเชื่อถือก็จบ ที่ผ่านมาจนถึงเวลานี้การเมืองในบ้านเรามันยังไม่นิ่งอีกหรือ โดยเฉพาะในมิติด้านความมั่นคงทั้งกฎหมายพิเศษและการปฏิบัติการที่ประกบตัวเป้าหมายอย่างใกล้ชิด สามารถสะกดแรงกระเพื่อมต่างๆ ได้อยู่หมัด

หรือในความหมายของขุนคลังจะส่งสัญญาณไปถึงพวกเดียวกันในองคาพยพแม่น้ำ 5 สาย ถ้าเช่นนั้นก็เป็นอีกเรื่อง เพราะหลายสิ่งที่เริ่มเสนอกันออกมาเวลานี้สะท้อนให้เห็นแล้วว่า แต่ละคนมีวาระอะไรซ่อนเร้นแอบแฝงในขณะที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ โดยเฉพาะรายของ บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ที่สวมหัวโขนทั้งประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญและรองประธานสปช.คนที่ 1

โดยบริบทหัวโขนของความเป็นประธานยกร่างกฎหมายสูงสุดของประเทศนั้น น่าจะดำเนินการทุกอย่างให้เบ็ดเสร็จเรียบร้อยในรัฐธรรมนูญที่เขียนกันขึ้นมา แต่ปรากฏว่าเจ้าตัวกลับมาเสนอให้มีคำถามประกบการทำประชามติในนามสมาชิกสปช.คือ ขอความเห็นประชาชนว่าเห็นด้วยหรือไม่ที่จะให้มีรัฐบาลปรองดองแห่งชาติมาบริหารประเทศเป็นระยะเวลา 4 ปี หลังรัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้

มันหมายความว่าอะไร ข้อเสนอนี้แสดงถึงความไม่มั่นใจของคนยกร่างรัฐธรรมนูญเองหรือไม่ ที่เห็นว่า ถ้าปล่อยให้กระบวนการเดินไปตามครรลองสุดท้ายจะได้รัฐบาลจากพรรคการเมืองแม้จะเป็นรัฐบาลผสม แต่จะสามารถบริหารประเทศไปได้ ซึ่งขัดกับความต้องการของผู้มีอำนาจที่อยากจะให้คนซึ่งไม่ผ่านกระบวนการเลือกตั้งเข้ามามีบทบาทนำในการบริหารประเทศ

สุดท้ายก็หนีไม่พ้น เป็นกับดักการวางยาเพื่อให้เกิดความขัดแย้งของพรรคการเมืองที่จะต้องรวบรวมเสียงกันให้ได้ 4 ใน 5 หรือ 360 จากจำนวนส.ส.ทั้งหมด 450 เสียง แน่นอนว่า โอกาสที่พรรคเพื่อไทยและประชาธิปัตย์จะเกิดการเกี่ยงงอนเล่นแง่ย่อมหนีไม่พ้น เมื่อเป็นเช่นนั้นก็เท่ากับการเกิดวิกฤติทางการเมือง ย่อมนำไปสู่กับดักต่อไปที่คณะกรรมาธิการยกร่างได้วางเอาไว้

อย่างแรกเลยก็คือ เมื่อส.ส.ตกลงกันไม่ได้จะเลือกใครเป็นนายกรัฐมนตรีก็หนีไม่พ้นจะต้องไปเชิญคนนอกเข้ามาทำหน้าที่ ถ้าเป็นสูตรนี้ผู้ที่มีอำนาจอยู่ในปัจจุบันย่อมอยู่ในข่ายจะได้รับการพิจารณามากที่สุด เพียงแต่ว่าจะเป็นน้องเล็กหรือพี่ใหญ่เท่านั้น แต่หากส.ส.ไม่ยอมที่จะยกสิทธิ์ให้กับคนนอก ก็จะเข้าล็อกต้องให้คณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการปฏิรูปและการปรองดองเข้ามาแก้ไข

เรียกได้ว่าหันซ้ายแลขวาก็จะเจอแต่กับดักอำนาจพิเศษหรือกระบวนการลากตั้งที่คณะกรรมการยกร่างฯชุดนี้วางไว้เต็มไปหมด ต้องยอมซูฮกว่าเนติบริกรของผู้มีอำนาจที่วางกันไว้ทั้งในรัฐบาล คสช. ไปจนถึงสนช. สปช.และกรรมาธิการยกร่างฯนั้นมาเหนือเมฆ วางแผนกันได้แยบยล นี่ยังไม่นับรวมองค์กรต่างๆ ที่จะผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด มองมุมไหนฝ่ายประชาธิปไตยหรือนักการเมืองที่แอบอ้างว่าสนับสนุนประชาธิปไตยจะขยับตัวกันได้ยากจริงๆ

อย่างไรก็ตาม เมื่อร่างสุดท้ายยังไม่ถูกส่งไปถึงมือสปช. ถ้ามองโลกในแง่ดีก็อาจจะมีการปรับแก้เพื่อไม่ให้เกิดอุปสรรคในภายภาคหน้าได้ แต่ในซีกของฝ่ายการเมืองดูเหมือนว่าจะไม่เชื่อใจกันอีกแล้ว แม้แต่คนของพรรคการเมืองที่ได้ชื่อว่าอิงแอบกับอำนาจเผด็จการมาโดยตลอด ยังเชื่อมั่นว่า นี่เป็นการร่างรัฐธรรมนูญเพื่อให้ถูกคว่ำหรือถ้าผ่านก็จะเป็นปัญหาให้เกิดความขัดแย้งกันอีกในอนาคต

คนการเมืองที่ไม่ค่อยเป็นข่าว แต่พอพูดดีก็มีประเด็นให้น่าคิดคือ  “เสี่ยหนู” อนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ที่ล่าสุดมีคนไปถามเรื่องคณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ คำตอบที่ได้น่าจะใกล้เคียงกับความเป็นจริงที่เกิดขึ้นทั้งในอดีตและปัจจุบันมากที่สุด ที่ผ่านมาประเทศไทยมีหลักการประชาธิปไตยอยู่แล้ว โดยที่หลักการประชาธิปไตยไม่ใช่สิ่งที่ทำลายบ้านเมือง

สิ่งที่ทำลายบ้านเมืองคือคนที่ไม่ให้ความเคารพกฎหมาย หลักการ กติกา จากนั้นก็ไปโทษกติกาว่าไม่ได้ แล้วลงท้ายด้วยการแก้ไขกติกา ดังนั้น ประเทศไทยจะอยู่ได้ก็ต้องทำให้คนในสังคมเคารพกติกา เคารพเสียงส่วนใหญ่ เมื่อเสียงส่วนใหญ่เป็นอย่างไรก็ต้องว่ากันไปตามนั้น แต่ที่ผ่านมามีแต่หลักกูที่ไม่ยึดหลักการ แทบไม่ต้องขยายความต่อก็พอจะมองกันออกมาในความหมายของเสี่ยหนูนั้นหมายถึงใครบ้าง

เมื่อเอ่ยถึงหลักการกับหลักกูแล้ว ก็ชวนให้คิดถึงกรณีความพยายามในการถอดถอนอดีต 248 ส.ส.ที่เพิ่งผ่านกระบวนการพิจารณาของสนช.ไปเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาไม่ได้ แม้ว่าคนที่ถูกกล่าวหาจะพยายามท้วงติงเรื่องอำนาจโดยชอบธรรมที่สามารถจะแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ในฐานะฝ่ายนิติบัญญัติและไม่ได้ทำผิดกฎหมาย แต่ฝ่ายที่อ้างว่าตัวเองมีอำนาจก็ยังคงดำเนินการและเป็นการทำงานที่เร่งรีบเอาเสียด้วย

ที่สำคัญคืออดีต 248 ส.ส.ย้ำมาโดยตลอดว่านอกเหนือจากความชอบธรรมตามกฎหมายแล้ว ผลจากข้อกล่าวหาที่เป็นการระบุว่ากระทำผิดตามรัฐธรรมนูญปี 2550 ซึ่งถูกฉีกทิ้งไปแล้วนั้น ก็ไม่น่าที่ฝ่ายองค์กรอิสระจะต้องดันทุรังกันต่อ แต่ก็มีการอ้างกฎหมายอื่นๆ มาประกอบ ยิ่งการไปแถลงปิดคดีที่ระบุถึงมติในการไม่ถอดถอนอดีต 38 ส.ว.จะใช้เป็นบรรทัดฐานไม่ได้นั้น ยิ่งทำให้เห็นอาการแถอย่างชัดแจ้งยิ่ง

ตรรกะที่เป็นหัวใจของประเด็นข้อกล่าวหาซึ่งองค์กรอิสระแห่งนี้ใช้มาเอาผิดทั้งอดีตส.ว.และส.ส.คือ การปรับเปลี่ยนร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่บอกว่าเป็นร่างปลอมนั้น เมื่อสนช.ลงมติไม่เอาผิดอดีตส.ว.ไปแล้ว ก็น่าที่จะไม่ต้องมาดำเนินการเอาผิดอดีตส.ส.ต่อ เพราะทั้งหมดเป็นการพิจารณาร่วมกันในการแก้ไขรัฐธรรมนูญปมที่มาส.ว. พอมาแถแบบนั้นเลยกลายเป็นว่า นี่เป็นการใช้ตรรกะวิบัติหรือเปล่า

จากกรณีนี้น่าจะเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่ผู้มีอำนาจควรจะทบทวนว่าองค์กรอิสระบางแห่งนั้น รักษามาตรฐานและให้ความเป็นธรรมกับทุกคนทุกฝ่ายหรือไม่ เพราะนี่คือปัจจัยสำคัญในการที่จะทำให้บ้านเมืองเกิดความปรองดองประสบความสำเร็จ บทเรียนที่ผ่านมาพิสูจน์แล้วว่า นอกเหนือจากฝ่ายการเมืองที่ขัดแย้ง แย่งชิงอำนาจกันแล้ว องค์กรเหล่านี้นี่แหละคือตัวซ้ำเติมให้เกิดความแตกแยกหนักขึ้นไปอีก

Back to top button