Apple และการกำหนดค่าส่วนแบ่งการจัดจำหน่าย

App Store เปรียบเสมือนตลาดซื้อขายที่ Apple เป็นผู้ผูกขาดและกำหนดเงื่อนไขการทำธุรกรรมต่างๆ บนแพลตฟอร์มของตนเองแต่เพียงผู้เดียว


Cap & Corp Forum

ผ่านพ้นไปเรียบร้อยสำหรับงาน WWDC 2020 หรือ World Wide Developer 2020 ของ  Apple ที่ในปีนี้ Apple ปล่อยไม้เด็ดด้านการพัฒนาซอฟต์แวร์ออกมามากมาย รวมถึงรูปแบบการจัดงานที่เปลี่ยนแปลงไปในช่วงสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ผมในฐานะผู้ใช้บริการของ Apple ทั้งซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์ในหลาย ๆ อุปกรณ์ก็อดตื่นเต้นกับฟีเจอร์ใหม่ ๆ ที่ Apple จะปล่อยออกมาในปีนี้แทบไม่ไหว

แต่ท่ามกลางความน่าสนใจและเรื่องดี ๆ ดังกล่าว อีกเรื่องหนึ่งที่น่าสนใจไม่แพ้กันคือการที่คณะกรรมาธิการยุโรปซึ่งกำกับดูแลเรื่องการแข่งขันทางการค้า ได้เริ่มกระบวนการพิจารณาและตรวจสอบพฤติกรรมทางการค้าของ Apple ว่าเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนกฎหมายแข่งขันทางการค้าของสหภาพยุโรปหรือไม่

Apple เป็นเจ้าของ App Store ซึ่งเป็นช่องทางปกติเพียงช่องทางเดียวของนักพัฒนาแลผู้ใช้บริการอุปกรณ์เคลื่อนที่ของ Apple ทุกประเภทในการจำหน่ายและดาวน์โหลดแอปและคอนเทนต์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเพลง ภาพยนตร์ ละคร หนังสือภาพหรือหนังสือเสียง App Store จึงเสมือนตลาดซื้อขายที่ Apple เป็นผู้ผูกขาดและกำหนดเงื่อนไขการทำธุรกรรมต่าง ๆ บนแพลตฟอร์มของตนเองแต่เพียงผู้เดียวและเงื่อนไขที่ Apple กำหนดสำหรับนักพัฒนาหรือผู้ให้บริการหรือผู้จัดจำหน่ายรายอื่น ๆ บน App Store ที่อาจเป็นปัญหาสำคัญในแง่ของการแข่งขันคือ

1) การกำหนดมาตรการบังคับให้ผู้ให้บริการ/นักพัฒนาต้องใช้ระบบ in-app purchase system หรือ “IAP” เท่านั้น เป็นช่องทางในการชำระค่าบริการสำหรับ Digital content ต่าง ๆ ที่มีการเรียกเก็บค่าบริการ (Subscription fees) โดย Apple กำหนดค่าส่วนแบ่งการจัดจำหน่ายในอัตราร้อยละ 30

2) กำหนดห้ามมิให้ผู้ให้บริการ/นักพัฒนาแจ้งแก่ผู้บริโภคเพื่อทราบว่าอาจมีช่องทางการสมัครสมาชิก/หรือการจ่ายค่าบริการที่ถูกกว่าการชำระบน App Store ผ่านระบบ IAP ของ Apple ซึ่งช่องทางการสมัครสมาชิกดังกล่าวอาจจะกระทำผ่านเว็บไซต์ของผู้ให้บริการ/นักพัฒนาก็ได้

ตัวอย่างเช่นค่าธรรมเนียมการสมัครสมาชิกของ The Wall Street Journal ใน App Store จะมีค่าบริการเดือนละ 36.99 USD แต่หากสมัครและชำระค่าธรรมเนียมผ่าน  wsj.com จะมีค่าธรรมเนียมรายเดือน 9.99 USD ซึ่งเงื่อนไขการเข้าถึงบริการและเนื้อหาต่าง ๆ ของช่องทางการจัดจำหน่ายทั้งสองช่องทางอาจมีความแตกต่างกันในรายละเอียด แต่สิ่งที่ Apple กำหนดคือต้องไม่มีการแจ้งช่องทางการชำระหรือสมัครสมาชิกในแอปที่ทำงานบนอุปกรณ์นั้น ๆ โดยผมเข้าใจว่า Apple ไม่ได้มีข้อห้ามเรื่องการทำราคาแตกต่างกันระหว่างช่องทางการจัดจำหน่ายต่าง ๆ

ในมุมมองของกฎหมายสหภาพยุโรป ถ้า Apple เป็นเพียงเจ้าของช่องทางการจัดจำหน่ายก็อาจไม่มีผลกระทบต่อการแข่งขันมากนัก แต่อย่างที่ท่านผู้อ่านทราบกันดี นอกจาก Apple จะเป็นเจ้าของช่องทางการจัดจำหน่ายแต่เพียงรายเดียวแล้ว Apple ยังเป็นผู้ให้บริการ/นักพัฒนาในอีกหลาย ๆ แอปที่จัดจำหน่ายบน App Store ด้วย อาทิ Apple Music และ Apple Books เป็นต้น ซึ่งข้อกำหนดที่ Apple กำหนดข้างต้น โดยเฉพาะส่วนแบ่งร้อยละ 30 ย่อมส่งผลกระทบต่อผู้ให้บริการรายอื่น ๆ ที่ต้องแข่งขันกับ Apple มีความเสียเปรียบด้านราคาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

จากความได้เปรียบในฐานะเจ้าของตลาดดังกล่าวของ Apple ทำให้คู่แข่งของ Apple ได้ร้องเรียนต่อคณะกรรมาธิการยุโรปว่าพฤติกรรมการค้าของ Apple ขัดต่อกฎหมายแข่งขันทางการค้า โดยเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2563 ที่ผ่านมา คณะกรรมาธิการยุโรปได้เริ่มกระบวนการสอบสวนการกระทำความผิดของ Apple จำนวน  2 คดี กล่าวคือ

1) Case numberAT.40437 (Apple – App Store Practices – music streaming)

2) Case numberAT.40652 (Apple – App Store Practices – e-books/audiobooks)

ในคดีแรกนั้น Apple ถูกร้องเรียนโดย Spotify ผู้ให้บริการ Music streaming เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2562 ว่าข้อตกลงและสัญญาที่ Apple ทำกับ Spotify นั้นส่งผลกระทบต่อการแข่งขันในธุรกิจการให้บริการ Music streaming ซึ่งภายหลังการได้รับคำร้องดังกล่าวและการพิจารณาเบื้องต้นแล้วคณะกรรมาธิการยุโรปมีความเห็นว่าการกระทำของ Apple อาจเป็นการทำลายการแข่งขันในการให้บริการดังกล่าวได้ เนื่องจากการที่ Apple กำหนดเงื่อนไขในการได้รับส่วนแบ่งร้อยละ 30 จากราคาจำหน่าย ทำให้ Spotify หรือผู้แข่งขันรายอื่น ๆ ในการให้บริการดังกล่าวมีทางเลือกเพียงสองประการคือต้องกำหนดราคาให้สูงขึ้นหรือไม่มีการเรียกเก็บค่าบริการไปเลย นอกจากนี้การที่ Apple สามารถเข้าถึงข้อมูลต่าง ๆ ของ Spotify และผู้ใช้บริการยังอาจทำให้ Apple สามารถนำข้อมูลทางการค้าเหล่านั้นมาใช้ประโยชน์ในการแข่งขันได้อีกด้วย

ส่วนในคดีที่สอง Apple ถูกร้องเรียนโดยกลุ่มผู้จัดจำหน่ายหนังสือภาพและหนังสือเสียง (คดีนี้ไม่ปรากฏตัวและรายละเอียดผู้ร้อง) ที่ต้องแข่งขันกับ Apple ที่จัดจำหน่ายหนังสือภาพและหนังสือเสียงผ่าน Apple Books เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2563 ว่าพฤติกรรมและเงื่อนไขทางการค้าของ Apple เป็นการทำลายการแข่งขันในลักษณะเดียวกับที่เกิดขึ้นในข้อร้องเรียนของ Spotify

ทั้งสองคดีข้างต้นอาจจะใช้ระยะเวลาอีกหลายปีกว่าที่คณะกรรมาธิการยุโรปจะมีคำวินิจฉัย รวมถึงอาจยืดเยื้อต่อไปในชั้นศาลอีกด้วย แต่แน่นอนว่าผลแห่งคดีย่อมส่งผลกระทบต่อรูปแบบพฤติกรรมทางการค้าของ Apple ในอนาคตอย่างแน่นอนรวมถึงผู้บริโภคชาวไทยด้วยเช่นกัน

ว่าแต่ค่าคอมมิชชั่นร้อยละ 30 เหมือนจะมีการใช้ในประเทศไทยในหลาย ๆ กิจการเหมือนกันนะครับ

ศุภวัชร์ มาลานนท์

คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

Back to top button