สื่อสิ่งพิมพ์ กับ กูเตนแบร์กใหม่

สถานการณ์สื่อสิ่งพิมพ์เมืองไทยคงมาถึงจุดพลิกผันสำคัญอีกครั้ง จากการตัดสินใจของผู้บริหารสื่อใหญ่รายวันอย่าง ไทยรัฐและเดลินิวส์ สองค่ายที่เคยเป็นยักษ์ใหญ่มายาวนานหลายทศวรรษ


พลวัตปี 2020 : วิษณุ โชลิตกุล

สถานการณ์สื่อสิ่งพิมพ์เมืองไทยคงมาถึงจุดพลิกผันสำคัญอีกครั้ง จากการตัดสินใจของผู้บริหารสื่อใหญ่รายวันอย่าง ไทยรัฐและเดลินิวส์ สองค่ายที่เคยเป็นยักษ์ใหญ่มายาวนานหลายทศวรรษ

ในอดีต หลายคนคงได้รับรู้สตอรี่ของตำนานการแข่งขันเพื่อแย่งชิงการนำเหนือส่วนแบ่งการตลาดระหว่างสองค่าย แต่วันนี้การแข่งขันดังกล่าวกำลังเปลี่ยนสภาพเป็นการ หนีตาย ว่าใครจะทำได้ดีกว่ากัน

ข่าวเมื่อสัปดาห์ก่อนที่ว่าสื่อยักษ์ใหญ่ อย่างไทยรัฐ ยักษ์ใหญ่หัวสีอันดับหนึ่งของเมืองไทยถึงคราวต้องเจอปัญหาด้วยการจ้างพนักงานออกถึง 50% ขณะที่ยักษ์ใหญ่อันดับ 2 อย่างเดลินิวส์ จะมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่

บริษัทวัชรพล จำกัด ที่เป็นเจ้าของหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ระบุว่ากำหนดส่งรายชื่อ พนักงานที่จะถูกจ้างออก ให้กับผู้บริหาร โดยจะมีการจ้างออก 50 % ของจำนวนพนักงานทั้งหมด หลังจากแนวโน้มการเงินมีโอกาสทรุดตัวทั้งจากการเฟื่องฟูของสื่อดิจิทัลและโควิด-19 ทำให้โอกาสที่จะขาดทุนเพิ่มมากกว่าปีก่อนที่เคยอยู่ที่ระดับ 36 ล้านบาท อาจพุ่งขึ้นรุนแรงเกินควบคุม

แม้รายละเอียดของการเจรจาระหว่าง ผู้บริหาร หัวหน้าโต๊ะ และพนักงาน เกี่ยวกับการกำหนดให้ใครจะได้ไปต่อ กับหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ พร้อมกับคำถามท้าทายที่รออยู่ข้างหน้า จะยังไม่ชัดเจนต่อกระแสของการลดจำนวนพนักงานที่เจ็บปวดดูเหมือนยากจะเลี่ยงได้พ้น เพราะอนาคตยังไม่สามารถตอบได้ว่าหากได้มีโอกาสไปต่อ จะสามารถประคับประคองธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์ได้อีกนานแค่ไหน

ทางด้านเดลินิวส์ของตระกูลเหตระกูล ที่มีการเปลี่ยนแปลงสำคัญจากการที่ นายประชา เหตระกูล จะลาออกจากตำแหน่ง บรรณาธิการบริหาร เปิดทางให้ นางสาวประภา เหตระกูล เข้ามาบริหารงานแทนเนื่องจากผลการดำเนินการประสบปัญหาดังเช่นสื่อสิ่งพิมพ์อื่น ๆ เช่นกัน ก็ส่งสัญญาณชัดเจนว่าการลดจำนวนพนักงานน่าจะตามมา

ปรากฏการณ์กับสองสื่อสิ่งพิมพ์หลัก ถือว่าได้จังหวะ แม้จะค่อนข้างช้า เพราะก่อนหน้านี้ เราได้เห็นการล้มหายตายจากของสื่อสิ่งพิมพ์ที่เป็นนิตยสารระเนระนาด ตามมาด้วยสื่อสิ่งพิมพ์รายวันหลายรายต่อเนื่อง

หุ้นสื่อสิ่งพิมพ์หลายบริษัทในตลาดหุ้นเป็นหุ้นที่ไร้อนาคต ราคาต่ำติดพื้น หลายรายเช่นสยามสปอร์ต ซินดิเคทถูก ก.ล.ต.สั่งถอนออกจากตลาดหลักทรัพย์ฯ ในไตรมาสแรกของปีนี้ หุ้น POST มีส่วนทุนร่อยหรือเกือบเหี้ยน ตกเป็นข่าวลือว่าจะถูกเทกโอเวอร์กิจการเป็นระยะ ๆ หุ้นสื่อการ์ตูนและหนังสือเล่ม SMM จำต้องเปลี่ยนชื่อเป็น STARK เมื่อถูกกลุ่มตั้งคารวคุณเข้าฮุบกิจการ

หุ้น MATI ต้องดิ้นรนสารพัด ถึงขั้นทิ้งกิจการโรงพิมพ์ในเครือทิ้งไป ขณะที่ค่าย “ผู้จัดการ ASTV” แทบจะไม่มีใครสนใจอีกต่อไป

ทั้งนี้คงไม่ต้องพูดถึงหุ้นอย่าง NMG ที่ขาดทุนเรื้อรังยาวนานจนไม่สามารถส่งงบการเงินในปี 2562 ได้และราคาหุ้นต่ำติดพื้น

สำหรับนักวิเคราะห์หุ้น หุ้นสื่อสิ่งพิมพ์ถือเป็นธุรกิจที่สุ่มเสี่ยงที่ไร้อนาคต ทำนองเดียวกับไดโนเสาร์ที่ปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไปไม่ได้ ข้อสรุปดังกล่าว แม้จะไม่ผิดเสียทีเดียว แต่จะบอกว่าถูกก็คงไม่ได้

สื่อสิ่งพิมพ์เติบโตมากับนวัตกรรมการพิมพ์ของกูเตนแบร์ก ที่ส่งผลให้ภูมิปัญญาของมนุษย์พัฒนาทั้งเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพมากมาย จากหนังสือเล่มพัฒนามาเป็นสื่อสิ่งพิมพ์อย่างนิตยสารวารสารและสุดยอดในสื่อหนังสือพิมพ์รายวัน

ความเฟื่องฟูของสื่อสิ่งพิมพ์ ทำให้เกิดคำนิยาม ข่าวสารข้อมูลคืออำนาจ ตามมา

เมื่อการเติบใหญ่ของสื่อสิ่งพิมพ์เริ่มสะดุดลงเมื่อถึงจุดสูงสุด  (ในระดับโลกคือช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 1960) ที่อิทธิพลของสื่อเคลื่อนย้ายจาก สื่อเย็น ไปสู่ สื่อร้อน (ตามนิยามของ มาร์แชล แมกลูฮัน)

นักคิดเชิงปรัชญาว่าด้วยสื่อชื่อดังอย่าง แมกลูฮัน เจ้าของนิยามโด่งดังว่า สื่อคือสาร (หรือ the medium is the message) เพื่อต้องการชี้ให้เห็นว่า สื่อกลาง (medium) หรือแพลตฟอร์มของตัวกลางนำเสนอ (ภาพ เสียง วิดีโอ) ล้วนมีความสำคัญเท่าเทียมหรืออาจจะมากกว่าตัว สาร เองด้วยซ้ำ

ความสำคัญของแพลตฟอร์มนี้เอง ทำให้อิทธิพลของสื่อแต่ละประเภทไม่เท่าเทียมกัน อิทธิพลดังกล่าวประจักษ์ได้จากรายได้ของสื่อนั่นเอง

การเคลื่อนย้ายของรายจ่าย จากสื่อสิ่งพิมพ์ที่มีข้อความและภาพนิ่ง ไปสู่สื่อวิทยุที่ให้เสียง และโทรทัศน์ที่ให้ภาพวิดีโอ เสียง และข้อความ ก่อนที่จะเคลื่อนตัวมาสู่สื่อดิจิทัลที่ให้ภาพเสียงและข้อความรวมทั้งการทบทวนย้อนกลับได้อีก เป็นไปตามปรัชญาสื่อคือสาร ของแมกลูฮันไม่ผิดเพี้ยน แต่ที่สำคัญคือสื่อดิจิทัลสามารถรับรู้ได้จาก ทุกที่และเวลาที่สื่อเดิมทำไม่ได้

เพียงแต่แมกลูฮันไม่สามารถมองล่วงหน้าจนถึงคำนิยามปัจจุบันคือ ผู้ผลิตและผู้ส่งสารนั่นแหละคือสารเอง ที่ลดอิทธิพลของ สื่ออาชีพ อย่างมีนัยสำคัญ

การล่มสลายของสื่อสิ่งพิมพ์อย่างรวดเร็วในรอบ 20 ปีมานี้ นอกจากจะยืนยันปรัชญาของแมกลูฮันแล้ว ยังสอดรับกับข้อเสนอเรื่องการทำลายล้างอย่างสร้างสรรค์ของโจเซฟ ชุมปีเตอร์ และ innovative disruption ของ เคลย์ตัน คริสเตนเซ่น อย่างเหมาะเจาะ

ยุคทองของสื่อสิ่งพิมพ์ปิดฉากลงไปในระดับโลกนานมาแล้ว แต่เมืองไทยกำลังปิดฉากอย่างเป็นทางการ เหลืออย่างเดียวคือ รอวัน ตอกตะปูปิดฝาโลง เมื่อใดเท่านั้น เพราะโอกาสที่สื่อสิ่งพิมพ์จะกลับฟื้นตัวมาอีกครั้งค่อนข้างยากมากถึงขนาดเป็นไปไม่ได้

แม้การล่มสลายของสื่อสิ่งพิมพ์จะเกิดขึ้น แต่ข้อเท็จจริงของมนุษย์ในฐานะสัตว์สังคม ความอยากรู้อยากเห็นของมนุษย์จะยังคงเรียกร้องและโหยหาข้อมูลข่าวสารในระดับที่เข้มข้นกว่าเดิม

การล่มสลายของสื่อสิ่งพิมพ์ในฐานะ ธุรกิจ ที่เกิดขึ้น ไม่ได้หมายความว่ามนุษย์ไม่ได้ปฏิเสธข้อมูลข่าวสาร เพียงแต่เรียกร้องหา อุปสงค์ใหม่ บนแพลตฟอร์มที่เหมาะสมที่จะสร้างให้เป็น ธุรกิจ ซึ่งคงต้องการเวลาสำหรับการปรับปรุงอีกพอสมควร

ตอนนี้จึงเป็นช่วงเวลาที่ ตอบยาก ว่า อุปทานใหม่ จะเป็นแบบใดเท่านั้น

ใครคิดค้นขึ้นได้ จะเป็น กูเตนแบร์กใหม่ แน่นอน

Back to top button