คุณพ่อ(แบงก์ชาติ)รู้ดี

คงเคยได้ยินคำว่าหุ้นกู้ชั่วนิรันดร์ (Perpetual Bond) หรือหุ้นกู้ไม่กำหนดระยะเวลาไถ่ถอน ที่มีลักษณะคล้ายทุนนะครับ


ขี่พายุทะลุฟ้า : ชาญชัย สงวนวงศ์

คงเคยได้ยินคำว่าหุ้นกู้ชั่วนิรันดร์ (Perpetual Bond) หรือหุ้นกู้ไม่กำหนดระยะเวลาไถ่ถอน ที่มีลักษณะคล้ายทุนนะครับ

จริง ๆ แล้วก็ไม่ถึงกับจะไม่มีกำหนดระยะเวลาไถ่ถอนหรอก เมื่อครบกำหนดระยะเวลา 5 ปี ผู้ออกหุ้นกู้จะต้องหาแหล่งเงินมาไถ่ถอน ไม่เช่นนั้น อัตราดอกเบี้ยที่สูงอยู่แล้ว ก็จะสูง ๆ ๆ ขึ้นไปอีก อาจจะก่อภาระทางการเงินแก่เอกชนผู้ออกหุ้นกู้เป็นอันมาก

หุ้นกู้ชั่วนิรันดร์ที่กล่าวขานถึงกันมากในปีนี้ก็คือ หุ้นกู้บมจ.แสนสิริ มูลค่าไม่เกิน 3,000 ล้านบาท จ่ายดอกเบี้ยช่วง 5 ปีแรกในอัตรา 8.5% ต่อปี โดยจ่ายดอกเบี้ยทุกไตรมาส

ทริสเรทติ้งจัดอันดับความน่าเชื่อถือของบริษัทอยู่ที่ BBB+/negative และอันดับความน่าเชื่อถือของหุ้นกู้อยู่ที่ BBB- ซึ่งก็อยู่ในเกณฑ์น่าลงทุนของแบงก์ชาติ (Invesment Grade) ตามแพ็กเกจ อุ้มหุ้นกู้เอกชน” 4 แสนล้านบาทของแบงก์ชาตินั่นแหละ

แต่ก็ไม่ได้ และก็ต้องมาจ่ายดอกเบี้ยแพงหูฉี่ถึง 8.5% นั่นแหละ

หุ้นกู้ชั่วนิรันดร์อีกตัว ที่จ่ายดอกเบี้ยแพงกว่าแสนสิริเสียอีก นั่นก็คือหุ้นกู้บมจ.อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ มูลค่า 1,000 ล้านบาท จ่ายดอกเบี้ยช่วง 5 ปีแรกในอัตรา 9.5%

ทริสเรทติ้งจัดอันดับความน่าเชื่อถือหุ้นกู้อนันดาฯ ที่ BB+ ซึ่งต่ำกว่าเกณฑ์ต่ำสุดของแบงก์ชาติคือ BBB-ไปนิดหน่อย

ปัญหาสำคัญก็คือ ทำไมบมจ.แสนสิริ & บมจ.อนันดาฯ ต้องมาจ่ายดอกเบี้ยแพงเช่นนี้ ทั้ง ๆ ที่เป็นบริษัทอสังหาริมทรัพย์ชั้นนำที่มีชื่อเสียง และไม่เคยมีประวัติด่างพร้อยในการชำระหนี้

ถ้าทั้งสองบริษัทดังกล่าว มีซอฟต์โลนหรือสินเชื่อผ่อนปรนจากแบงก์ชาติเข้ามาช่วยจริง ก็จะช่วยประหยัดภาระต้นทุนทางการเงินได้เป็นอันมาก และราคาบ้านก็อาจจะถูกลง ทำให้ประชาชนได้มีบ้านในราคาที่พอเหมาะสมกับ “กำลังซื้อ” ได้มากขึ้น

ยิ่งพวกธุรกิจ SME ที่ได้รับผลกระทบรุนแรงจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ต้องจ่ายอัตราดอกเบี้ยในระหว่าง 12-15% กันทั้งนั้น

ผมไม่เข้าใจแบงก์ชาติยืมมือรัฐบาลให้ออกพ.ร.ก.ถึง 2 ฉบับ คือพ.ร.ก.ให้กู้ยืมเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมหรือที่เรียกว่า SME จำนวน 5 แสนล้านบาท และพ.ร.ก.อุ้มหุ้นกู้เอกชน” 4 แสนล้านบาทดังกล่าว

แต่ไม่ปรากฏว่าจะมีใครได้รับความช่วยเหลือเป็น ซอฟต์โลน” จากแบงก์ชาติสักรายเดียว แถมยังมีลักษณะผิดฝาผิดตัวคือส่วนที่ควรจะได้รับความช่วยเหลือ กลับไม่ได้รับ แต่ส่วนที่ไม่ต้องการความช่วยเหลือ แบงก์ชาติก็กลับจะไปช่วยเหลือเขา

อย่างหุ้นกู้บริษัทที่มีฐานะมั่นคง ได้รับการจัดอันดับเครดิตระดับสูงเช่น บมจ.ปตท.อย่างเนี้ย ฟิทช์ เรทติ้งส์ระดับโลก จัดอันดับความน่าเชื่อที่ระดับ AAA(tha) ออกหุ้นกู้ 2 รุ่น ประกอบด้วยหุ้นกู้อายุ 3 ปี ดอกเบี้ย 2.25% ต่อปี และหุ้นกู้อายุ 7 ปี ดอกเบี้ย 2.85% ต่อปี

หุ้นกู้บริษัทเอกชนที่มีฐานะมั่นคงเขาพึ่งเครดิตเรตติ้งตัวเอง ไม่มีความจำเป็นต้องพึ่งพาซอฟต์โลนจากแบงก์ชาติหรอก ไปคิดห่วงในสิ่งที่ไม่ควรจะห่วงทำไม

แบงก์ชาติ ควรจะห่วงบริษัทที่มีฐานะความมั่นคงระดับรองลงมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจ SME มากกว่า ซึ่งมาถึงวันนี้แล้วมันควรจะ “ดั๊มพ์” สินเชื่อ-อัตราดอกเบี้ยต่ำ เอากันให้มันสุด ๆ ไปเลย ก็จะเป็นการช่วยเหลือที่ถูกที่ถูกทางมากขึ้น

ผมเฝ้าดูวิธีคิดของผู้บริหารแบงก์ชาติมาหลายยุคหลายสมัย ก็เป็นอย่างที่เขาวิพากษ์วิจารณ์กันมาช้านานจริง ๆ  คือ คิดอะไรอยู่บนหอคอยงาช้าง” เสมอ

การจัดการปัญหาใด ๆ จึงมีลักษณะ คิดแทน” แบบคุณพ่อรู้ดีประจำ คือคิดแทนผู้ได้รับผลกระทบ โดยไม่ตั้งบนพื้นฐานความต้องการที่เป็นจริงเลย

อย่างเช่นจะไปช่วยหุ้นกู้เอกชนที่มีอันดับความน่าเชื่อถือระดับสูงอย่างเนี้ย ไปช่วยทำไม บริษัทเหล่านั้น ตัวเขาก็ไม่ต้องการ แต่ทีพวก SME ที่ต้องการให้ช่วย กลับไปตั้งกฎเกณฑ์ให้กู้ซะสูงปรี๊ด

ในที่สุดก็ไม่ได้ช่วยเหลือทั้งบริษัทมั่นคงและบริษัทปากกัดตีนถีบ

กรณีที่เกิดขึ้นกับตลาดทุนก็เช่นกัน แบงก์ชาติสั่งให้ก.ล.ต.และตลาดหลักทรัพย์ฯ ออกคำสั่งห้ามธนาคารพาณิชย์ ซื้อหุ้นคืน” และห้าม จ่ายปันผลระหว่างกาล”

ถามว่าแบงก์ชาติไปสั่งเขาทำไม นี่มันธนาคารพาณิชย์ ไม่ใช่ SME บ้านนอกที่มีระบบบัญชีโบราณและไม่ทันกาลนะ ผู้บริหารธนาคารพาณิชย์เขามอนิเตอร์และรู้ฐานะแบงก์ตัวเองตลอดแหละ ไม่เห็นความจำเป็นจะต้องมี “คุณพ่อรู้ดี” มาสั่งการแทนหรอก

ธนาคารไทยพาณิชย์ ก็ยังเคยเปลี่ยนมติบอร์ด ไม่ให้มีการซื้อหุ้นคืนเลยนี่

คุณพ่อรู้ดี สั่งการวันนั้น ตลาดหุ้นก็ร่วงกราวถึง 18 จุด หุ้นแบงก์แดงเถือกระเนนระนาด คอยดูมาตรการพักหนี้เพื่อ กลบขี้” ต่อไปเถอะ จะเป็นระเบิดเวลาประเทศลูกต่อไป

Back to top button