พาราสาวะถี

อารมณ์ดีกันทั้งก๊วนไม่ว่าจะเป็น สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ และทีมงาน 4 กุมาร หลังจากที่เด็กในคาถาพากันตั้งโต๊ะแถลงข่าวไขก๊อกพ้นจากความเป็นสมาชิกพรรคสืบทอดอำนาจ เป็นเพราะไม่ต้องมีพันธนาการของความเป็นพรรคการเมืองที่จะถูกนักการเมืองพวกเดียวกันมากดดันรายวัน หรือด้วยความเชื่อมั่นว่าเมื่อเลือกวิธีที่ไม่มีหัวโขนในพรรคการเมืองแล้ว การปรับครม.ที่จะเกิดขึ้นอย่างน้อยก็น่าจะมีตัวแทนของกลุ่มซัก 1 คนได้อยู่ร่วมรัฐบาลประยุทธ์ 2/2 ต่อไป


อรชุน

อารมณ์ดีกันทั้งก๊วนไม่ว่าจะเป็น สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ และทีมงาน 4 กุมาร หลังจากที่เด็กในคาถาพากันตั้งโต๊ะแถลงข่าวไขก๊อกพ้นจากความเป็นสมาชิกพรรคสืบทอดอำนาจ เป็นเพราะไม่ต้องมีพันธนาการของความเป็นพรรคการเมืองที่จะถูกนักการเมืองพวกเดียวกันมากดดันรายวัน หรือด้วยความเชื่อมั่นว่าเมื่อเลือกวิธีที่ไม่มีหัวโขนในพรรคการเมืองแล้ว การปรับครม.ที่จะเกิดขึ้นอย่างน้อยก็น่าจะมีตัวแทนของกลุ่มซัก 1 คนได้อยู่ร่วมรัฐบาลประยุทธ์ 2/2 ต่อไป

หรือเป็นเพราะว่าการถูกปรับพ้นจากความเป็นทีมเศรษฐกิจภายใต้การนำของผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจนั้น เท่ากับเป็นการปลดโซ่ตรวนความรับผิดชอบที่แบกหนักอึ้งมาตลอดระยะเวลากว่า 6 ปีที่ผ่านมา นั่นหมายความว่า หลังจากนี้เฮียกวงและทีมงาน 4 กุมาร ก็จะไม่ต้องมาทนต่อกระแสเสียงเสียดสี เย้ยหยันว่าไร้ความสามารถ ไม่มีฝีมือ อย่างน้อยก็ได้แจกและสร้างความประทับใจให้กับประชาชนได้บ้างจากการจ่ายเงินเยียวยา 5 พันแม้จะมีเสียงด่ามากกว่าเสียงชมก็ตาม

การที่ไม่มีหัวโขนในฐานะทีมเศรษฐกิจอีกต่อไปนั้น อาจจะถือเป็นความโชคดีเนื่องจากนาทีนี้ไม่มีใครมองได้ว่า หลังสถานการณ์โควิด-19 หรือแม้แต่ในสถานการณ์ที่ยังดำเนินอยู่ เศรษฐกิจของประเทศจะเป็นอย่างไร การที่จะมีคนใหม่เข้ามาเพื่อกอบกู้ ฟื้นฟูโดยเฉพาะสร้างชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นให้กับประชาชนนั้น ไม่ใช่เรื่องง่าย ยังมีคำถามตัวโตรออยู่ว่าจะใช้มาตรการใดในการดำเนินการ เพราะการปรับครม.หลังจากที่ร่างงบประมาณปี 2564 ผ่านสภาไปแล้วนั้น ยังมองไม่ออกว่าคนที่เข้ามาจะวางทิศทางกันอย่างไร

แต่ปัจจัยสำคัญ นายแพทย์สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี แกนนำกลุ่มแคร์ได้ให้สัมภาษณ์ไว้เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมาอย่างน่าสนใจยิ่ง ครม.น่าจะปรับตั้งนานแล้ว เพราะปัญหาเศรษฐกิจหรือแม้แต่ปัญหาอื่น ๆ มันหนักมาก ต้องยอมรับว่า แม้แต่ทีมเศรษฐกิจที่อยู่ในปัจจุบัน และมีข่าวว่ากำลังจะถูกปรับออก ก็ต้องยอมรับว่าชื่อชั้นทางเศรษฐกิจก็ไม่ธรรมดา แต่การรับมือเศรษฐกิจในช่วง 2-3 ปีก็ยังไม่สามารถจะทำได้อย่างที่อยากจะเห็น ฉะนั้น ไม่ต้องพูดถึงมือเศรษฐกิจที่จะเข้ามา ที่มีชื่อชั้นด้อยกว่าและประสบการณ์น้อยกว่า

การมารับผิดชอบเศรษฐกิจในช่วงต่อไปคงน่าจะยากมาก โจทย์สำคัญในมุมมองของหมอเลี้ยบก็คือ ทีมเศรษฐกิจใหม่ที่จะเข้ามาต้องทำให้ท่านผู้นำเข้าใจปัญหาอย่างแท้จริง ต้องรับฟังปัญหาจากคนทุกกลุ่ม เพราะในประเด็นโควิด-19 ยังมีความเห็นที่แตกต่างกันของแพทย์ที่รับผิดชอบเรื่องนี้ แพทย์จากกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ก็ไม่ได้เห็นด้วยกับแนวทางที่สุดโต่ง แต่ถามว่าหาข้อเสนอที่เป็นข้อมูลเชิงวิชาการที่ให้มีการดำเนินการดูแลโควิด-19 อย่างปลอดภัย โดยใช้วิธีเดินทางสายกลางได้หรือไม่

ปัญหามันอยู่ที่ว่า หากมีใครชี้นิ้วแล้วบอกว่าถ้าเกิดเรื่องอะไรขึ้นมาคนนั้นจะต้องเป็นแพะรับบาป คงไม่มีใครกล้าเสนอ หากท่านผู้นำสนใจแต่เพียงเรื่องการสร้างความกลัว ความปลอดภัยในการดำเนินชีวิตโดยที่ไม่ได้คำนึงถึงด้านอื่นไม่ว่า คนที่ตกงาน บัณฑิตที่กำลังจะตกงาน คนที่กำลังไร้อนาคต หรือแม้แต่ภาคธุรกิจเอสเอ็มอีที่กำลังล้มละลายกันเป็นหลักล้านราย เรื่องเหล่านี้คนที่เป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลต้องชั่งน้ำหนักให้ดี

ปัญหาจึงไม่ได้อยู่ที่ว่ารองนายกฯ ฝ่ายเศรษฐกิจคนไหน จะเก่งมากแค่ไหน แต่อยู่ที่ว่าสามารถโน้มน้าวให้ท่านผู้นำจัดสมดุลเรื่องการเดินหน้าต่อไป โดยที่ปลอดภัยจากโควิด-19 ด้วย และสนใจเรื่องเศรษฐกิจด้วยได้หรือไม่ ถ้าทำไม่ได้ก็คงจะไม่ประสบผลสำเร็จ ประเด็นนี้ทำให้คนที่ถูกทาบทามให้มาเป็นรองนายกฯ ฝ่ายเศรษฐกิจ หรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ต้องคิดหนักว่า ตัวเองจะมีบทบาทอย่างไรในการที่จะสามารถเข้ามาช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจได้ เพราะว่าความสำเร็จไม่ได้อยู่ที่ตัวเองแต่อยู่ที่ตัวท่านผู้นำ

สิ่งที่หมอเลี้ยบมองอย่างเข้าใจต่อสมคิดก็คือ ในฐานะรองนายกฯ ฝ่ายเศรษฐกิจคงอยากให้เกิดการกระตุ้นทางเศรษฐกิจมากกว่านี้ แต่พอเจอข้อทักท้วงเรื่องโควิด-19 ทำให้ข้อเสนอต่าง ๆ เกิดขึ้นได้ยาก ดังนั้น จึงไม่เกี่ยวข้องกับความใหญ่ของปัญหา แต่เป็นเรื่องของปัญหาในเรื่องการจัดสมดุล และการจะทำให้ท่านผู้นำเชื่อตัวเองได้หรือไม่ หากไม่เชื่อบอกว่าจะเดินหน้าปิดเมืองต่อไป ใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินต่อไป หรือต้องไม่มีผู้ป่วยในประเทศ ให้รอไปจนกว่าจะมีวัคซีน การฟื้นฟูเศรษฐกิจก็จะทำไม่ได้เลย

ดังนั้น ความคาดหวังต่อครม.เศรษฐกิจชุดใหม่จึงไม่น่าจะมีผลใด ๆ เพราะสุดท้ายแล้วอนาคตเศรษฐกิจของประเทศจะเป็นอย่างไรอยู่ที่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เพราะเป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ ในเรื่องของการเตรียมรับมือกับมหาวิกฤติเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นในเดือนตุลาคมนี้ เป็นเรื่องที่ไม่เหมือนกับวิกฤติเศรษฐกิจครั้งที่ผ่านมา ที่เป็นเรื่องของปัญหาทางเศรษฐกิจอย่างเดียว แต่ในครั้งนี้เป็นวิกฤติเศรษฐกิจที่ผูกพันกับวิกฤติสุขภาพคือไวรัสโควิด-19 ด้วย

ความสมดุลของการจัดการเรื่องโควิด-19 กับการฟื้นฟูและกระตุ้นเศรษฐกิจ หรือแม้แต่การทำให้เศรษฐกิจเดินหน้าต่อไปได้ คนตัดสินใจไม่ใช่อยู่ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง หรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน หรือแม้แต่รองนายกฯ ฝ่ายเศรษฐกิจ แต่อยู่ที่ตัวท่านผู้นำแต่เพียงผู้เดียว ที่ต้องชั่งน้ำหนักว่าจะฟังแพทย์ที่บอกว่าให้ปิดประเทศต่อไป ให้กลัวต่อไป หรือสนใจที่จะฟังคนที่ให้ข้อมูลเรื่องเศรษฐกิจว่าจะต้องกระตุ้นต่อไปอย่างไร

ในประเด็นเรื่องการสร้างความสมดุลนั้น นายแพทย์ธนรักษ์ ผลิพัฒน์  รองอธิบดีกรมควบคุมโรค ก็ได้กล่าวในการเสวนาของกลุ่มแคร์แต่ก็ไม่รู้ว่าฝ่ายผู้มีอำนาจที่บอกมาตลอดว่าฟังข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขเป็นด้านหลักนั้น ได้คิดและวางแผนในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไว้อย่างไร โดยที่หมอรายนี้บอกว่า ต้องสร้างสมดุล ด้านการเดินทางเข้าประเทศเพื่อการท่องเที่ยวคิดว่าทำได้ในการจัดการความเสี่ยงให้ต่ำที่สุด ถ้ามีระบบการจัดการที่ดีเน้นการท่องเที่ยวที่ปลอดภัยและส่งเสริมสุขภาพ สามารถทำได้ในระดับหนึ่ง

แน่นอนว่า สิ่งที่รัฐบาลพยายามทำอยู่ในเวลานี้ยังไม่ตอบโจทย์ของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ เห็นได้อย่างชัดเจนว่าเงินกู้ 1.9 ล้านล้านบาท นอกจากการจ่ายเพื่อเยียวยาแล้ว มาตรการในการฟื้นฟูยังขยับกันไปไม่ถึงไหน ถ้าเทียบกับช่วงระยะเวลาที่พ.ร.ก.กู้เงินมีผลบังคับใช้มาแล้ว ต้องบอกว่าเชื่องช้าจนไม่ทันการณ์ ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใด แต่ในมุมของกลุ่มคนที่ได้รับความเดือดร้อนย่อมมองได้อย่างเดียวว่า ทีมเศรษฐกิจรัฐบาลไร้ฝีมือ ไม่มีศักยภาพในการบริหารจัดการภาวะวิกฤติแม้แต่น้อย

Back to top button