จุดจบของแดนสนธยา

เมื่อสามปีเศษก่อน ตอนที่นายเขมทัตต์ พลเดช กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) หรือ MCOT แสดงวิสัยทัศน์ตอนที่เข้ารับตำแหน่งใหม่ ๆ ราคาหุ้นของรัฐวิสาหกิจที่ครบเครื่องที่สุดทางด้านสื่ออยู่ที่ระดับเหนือกว่า 13.00 บาท โดยมีบุ๊กแวลูที่ระดับ 9.96 บาท แม้จะเริ่มขาดทุนให้เห็นมากขึ้น


พลวัตปี 2020 : วิษณุ โชลิตกุล

เมื่อสามปีเศษก่อน ตอนที่นายเขมทัตต์ พลเดช กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) หรือ MCOT แสดงวิสัยทัศน์ตอนที่เข้ารับตำแหน่งใหม่ ๆ ราคาหุ้นของรัฐวิสาหกิจที่ครบเครื่องที่สุดทางด้านสื่ออยู่ที่ระดับเหนือกว่า 13.00 บาท โดยมีบุ๊กแวลูที่ระดับ 9.96 บาท แม้จะเริ่มขาดทุนให้เห็นมากขึ้น

แต่วันนี้ในยามที่ นายเขตทัตต์ เหลือเวลาอีกไม่เกิน 3 เดือน จะครบวาระการดำรงตำแหน่งสิ้นเดือนสิงหาคม 2563 ราคาหุ้นของ MCOT ร่วงลงมาอยู่ที่ระดับใกล้ 5.00 บาท แต่ยังมีโอกาสแกว่งตัวลบลงไปใต้ 5.00 บาทได้ไม่ยาก เมื่อเทียบกับบุ๊กแวลูที่ระดับ 3.37 บาท เมื่อสิ้นไตรมาสที่ 1

สถานการณ์ของราคาหุ้น MCOT ที่มีแนวโน้มถดถอยลง เกิดจากสภาพ สนิมเกิดแต่เนื้อในตน” อย่างชัดเจน ยิ่งมีเค้าว่าอาจจะเข้ามอบตัวจากสถานการณ์ทางการเงินที่เลวร้ายคล้ายกับบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ THAI และ ขสมก.ยิ่งไม่ถือเป็นเรื่องที่ดีเลย

ช่วยกันลืมวิสัยทัศน์เมื่อเกือบสี่ปีก่อนของนายเขมทัตต์ไปได้เลย หากต้องการข้อเท็จจริงและทางออกของรัฐวิสาหกิจทางด้านสื่อ ที่เคยมีฉายาและยังคงมีต่อไปในแดนสนธยาแห่งนี้

เหตุผลเพราะตัวเลขไม่เคยโกหก

โดยข้อเท็จจริงทางบัญชี MCOT ประสบภาวะขาดทุนต่อเนื่องมา 5 ปีรวดตั้งแต่ปี 2559 โดยที่ผลประกอบการล่าสุด ไตรมาส 1/2563 มีรายงานขาดทุนสุทธิ 877 ล้านบาท โดยปัจจัยหลักมาจากการลดลงของรายได้ในธุรกิจหลักและการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่าย ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการด้อยค่าของสินทรัพย์

การขาดทุนยาวนาน ทำให้ล่าสุดเมื่อสิ้นไตรมาสแรกปีนี้ ตัวเลขขาดทุนสะสมของ MCOT พุ่งขึ้นไปที่ระดับ 2.8 พันล้านบาทเศษ แซงหน้าส่วนผู้ถือหุ้นที่ลดลงมาเหลือแค่ 2.2 พันล้านบาทเศษ

ตัวเลขขาดทุนสุทธิและสะสมที่พุ่งแรง แม้ในไตรมาสแรกนี้จะยังมีรายได้พิเศษนอกเหนือผลประกอบการจริงเข้ามาช่วย โดยที่มีรายได้สัมปทานจากบริษัท บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ จำกัด (ช่อง 3) จำนวน 101 ล้านบาท เข้าช่วยลดความขี้เหร่ลง แต่รายได้พิเศษนี้จะหดหายไปหลังจากที่เป็นรายได้ก้อนสุดท้ายเพราะสัญญาสัมปทานได้สิ้นสุดลงแล้ว ซึ่งก็จะยิ่งทำให้โอกาสการสร้างรายได้ในอนาคตลดลงมากขึ้น

เหตุผลที่ถูกนำมาอธิบายสั้น ๆ ง่าย ๆ คือเพราะเกิดภาวะ disruption ในวงการสื่อ…แต่นั่นเป็นคำอธิบายแบบกำปั้นทุบดินเท่านั้น

ไม่มีใครในองค์กรรัฐวิสาหกิจแห่งนี้ออกมาบอกเลยถึงความล้มเหลวของวิสัยทัศน์ผสมกับความด้อยสมรรถนะในการแข่งขันทางธุรกิจ

ปัจจุบัน โครงสร้างรายได้ของ MCOT มาจากธุรกิจวิทยุ 29% ธุรกิจโทรทัศน์ 24% ธุรกิจร่วมดำเนินการ (สัมปทาน) 22% ธุรกิจให้บริการโครงข่ายโทรทัศน์ระบบดิจิทัล (BNO) และธุรกิจเช่าช่องสัญญาณโทรทัศน์ดาวเทียม 19% ธุรกิจใหม่ (สื่อออนไลน์) 1% และรายได้อื่น ๆ 5% (เปลี่ยนจากเดิมเมื่อ 5 ปีก่อนที่สัดส่วนโทรทัศน์ 49% วิทยุ 30% และอื่น ๆ เช่นค่าสัมปทาน กับค่าลิขสิทธิ์ต่าง ๆ ในส่วนที่เหลืออีก 21%) โดยรายได้ของทุกกลุ่มธุรกิจหดตัวทั้งหมด

ความพยายาม ขายฝัน” กับที่ดิน 2 แปลงใหญ่เพื่อทำโครงการอสังหาริมทรัพย์ ใจกลางเมืองแถวถนนรัชดาภิเษก ซึ่งนักขายฝันคนเดิมอย่างนายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณทิ้งเอาไว้เมื่อ 14 ปีก่อน ก็ยังไม่ถือเป็นคำตอบสำหรับโจทย์ใหม่ของสื่อรัฐรายนี้

มีคำถามว่า เมื่อ MCOT ยังมีส่วนผู้ถือหุ้นอยู่มาก สถานการณ์ทางการเงินจะเลวร้ายตาม 2 รัฐวิสาหกิจที่ล่วงหน้าไปก่อน หรือ ว่าเป็นแค่การ ตีปลาหน้าไซ” ธรรมดาของคนจนตรอกที่ต้องการหาทางต่ออายุยืดการใช้หนี้ให้เนิ่นนานเกินกว่าระดับปกติ

คงต้องยกคำถามนี้ให้กับบรรดากรรมการที่ส่วนใหญ่เป็นกรรมการอิสระ (มีนายทหารใหญ่นั่งเก้าอี้เป็นประธาน)ของ MCOT ที่นั่งหัวโด่เป็นพระอันดับทำทองไม่รู้ร้อน ในยามที่องค์กรกำลังเดินเข้าสู่หายนะเป็นคนตอบ เพราะผู้ถือหุ้นรายอื่น ๆ นั้น ไม่มีสิทธิปลดกรรมการเหล่านี้อยู่แล้ว

Back to top button