พาราสาวะถีอรชุน
น่าสนใจเป็นอย่างยิ่งต่อท่าทีของ ทักษิณ ชินวัตร ที่มีคลิปโผล่ทางยูทูบว่าด้วยประเด็นการร่างรัฐธรรมนูญทำประเทศล้าหลังและเป็นฉบับฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ประชาธิปไตย ตามมาด้วยการโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊คของ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ขอใช้สิทธิในการเสนอความเห็นเรื่องการร่างรัฐธรรมนูญบ้าง เพราะเป็นช่วงที่สปช. รัฐบาลและคสช.จะตัดสินใจ โดยหลายฝ่ายได้แสดงความห่วงใยและกังวลใจ
น่าสนใจเป็นอย่างยิ่งต่อท่าทีของ ทักษิณ ชินวัตร ที่มีคลิปโผล่ทางยูทูบว่าด้วยประเด็นการร่างรัฐธรรมนูญทำประเทศล้าหลังและเป็นฉบับฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ประชาธิปไตย ตามมาด้วยการโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊คของ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ขอใช้สิทธิในการเสนอความเห็นเรื่องการร่างรัฐธรรมนูญบ้าง เพราะเป็นช่วงที่สปช. รัฐบาลและคสช.จะตัดสินใจ โดยหลายฝ่ายได้แสดงความห่วงใยและกังวลใจ
ความเห็นของอดีตนายกรัฐมนตรีหญิงนั้น รัฐธรรมนูญต้องเป็นประชาธิปไตยและยึดโยงกับประชาชน ถ้ารัฐธรรมนูญมีเนื้อหาสาระที่รับใช้และยึดโยงกับประชาชน ก็ไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องมีคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ เพื่อมีอำนาจเหนือรัฐบาลและฝ่ายนิติบัญญัติในการตัดสินใจแทนแม้ในยามวิกฤติ
นอกจากนั้น ยังมองว่าสิ่งที่ดีที่สุดในระบอบประชาธิปไตยที่ทั่วโลกยอมรับคือ ความเชื่อมั่นในประชาชนและใช้การคืนอำนาจการตัดสินใจกลับไปให้ประชาชนเป็นทางออกของประเทศ ดังนั้น ผู้มีอำนาจจึงควรเร่งผลักดันการสร้างกติกาที่ยุติธรรมป้องกันการทุจริตและเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย เพื่อให้สภาวะปกติกลับคืนสู่สังคมไทยโดยเร็ว การคืนสิทธิในการตัดสินใจคือศักดิ์ศรีของประชาชนในระบอบประชาธิปไตย
ก่อนที่จะตบท้ายในฐานะเคยเป็นอดีตผู้บริหารประเทศ ด้วยความห่วงใยว่า ประเทศเราได้รับผลกระทบ เกิดความเสียหายมามากพอแล้ว จึงขอให้ทุกคนที่เกี่ยวข้องลำดับความสำคัญ เร่งฟื้นฟูความเชื่อมั่นให้ความเสมอภาค ความยุติธรรมอย่างทั่วถึง ผลักดันให้บ้านเมืองกลับคืนสู่ภาวะปกติโดยเร็วที่สุด ยิ่งยืดเวลาให้ทอดยาวออกไป ไม่น่าจะเป็นผลดีโดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อเศรษฐกิจ ปากท้องที่เป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องแก้ปัญหาในขณะนี้
ท่วงทำนองของสองพี่น้องชินวัตรล้อไปกับการขยับของพรรคเพื่อไทยโดย สามารถ แก้วมีชัย อดีตส.ส.เชียงรายและมือกฎหมายประจำพรรคนำคณะไปยื่นหนังสือเป็นข้อเสนอและความเห็นต่อคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งมี 3 ประเด็นหลักที่ไม่เห็นด้วย เรื่องแรกคือ ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีจะต้องมาจากส.ส.เท่านั้น
ประการต่อมาคือส.ว.จำนวน 200 คนต้องมาจากการเลือกตั้งของประชาชนและสุดท้ายเป็นความกังวลต่อการกีดกันบุคลากรทางการเมืองบางคน บางส่วน บางพรรคที่เคยถูกถอดถอน เคยถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง อันจะทำให้บุคลากรส่วนหนึ่งไม่ได้มีโอกาสที่จะต่อสู้ด้วยความเป็นธรรม ซึ่งร่างรัฐธรรมนูญก็ร่างให้ตัดสิทธิ์ทางการเมืองตลอดชีวิต ซึ่งเป็นการไม่สอดคล้องกับหลักนิติรัฐนิติธรรม
แต่ที่ดุเดือดที่สุดคงเป็นการให้สัมภาษณ์ของ จตุพร พรหมพันธุ์ ประธานนปช.ที่มองว่า การร่างรัฐธรรมนูญในลักษณะนี้ของ บวรศักดิ์ อุวรรณโณและคณะ เป็นการเจตนาที่จะเขียนเพื่อให้มีการคว่ำอยู่แล้ว เพราะเป็นร่างรัฐธรรมนูญที่เลวร้ายที่สุด ไม่ได้มีการอธิบายถึงความหลักแหลม เป็นการวางรัฐประหารไว้ล่วงหน้า
การตั้งกรรมการยุทธศาสตร์ฯขึ้นมาควบคู่ในการบริหารประเทศและมีการนำนายกรัฐมนตรี แม่ทัพนายกองไปเป็นกรรมการนั้น ในความเป็นจริงจะทำให้ไม่สามารถบริหารประเทศได้ เป็นการคิดแบบผิดหลักการ การร่างรัฐธรรมนูญ ผิดหลักการบริหารประเทศแบบชัดเจน เช่นเดียวกับการปฏิรูปที่เห็นว่าไม่มีวันที่จะทำได้และจบลงด้วยคนเพียงคนเดียว
เพราะการปฏิรูปคือการเปลี่ยนแปลงอย่างไม่มีวันจบ เช่นเดียวกับปัญหาของประเทศ ที่ไม่มีรัฐบาลใด จะสามารถแก้ไขปัญหาของประเทศได้จบ ดังนั้น การพูดเรื่องการปฏิรูปประเทศจึงเป็นเพียงวาทกรรมที่จะใช้เพื่อสร้างความชอบธรรมเพื่อการอยู่ในอำนาจต่อไปเท่านั้น ซึ่งความเป็นจริงในฐานะผู้มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ไม่จำเป็นต้องลับ ลวง พรางขนาดนั้น
ปัญหาสำคัญวันนี้ไม่ได้อยู่ที่ว่ารัฐบาลคสช.จะบริหารประเทศต่อไปอีกนานเท่าไหร่ การแก้ไขความขัดแย้งนาทีนี้คนส่วนใหญ่ก็เห็นว่าไม่จำเป็นอีกต่อไป เมื่อเทียบกับความเดือดร้อนจากปัญหาปากท้องที่กำลังเผชิญอยู่ อันสะท้อนจากผลโพลล่าสุดที่ต้องการให้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ปรับครม.โดยเร็วและ 3 กระทรวงที่อยากให้มีการปรับเปลี่ยนมากที่สุดคือ คลัง พาณิชย์และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
ทั้งสามกระทรวงที่มีเสียงเรียกร้องนั้นล้วนแล้วแต่มีนัยสำคัญทางการเมืองทั้งสิ้น หากเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งป่านนี้คงจะมีม็อบออกมาเคลื่อนไหวยั้วเยี้ยไปหมดแล้ว ซึ่งตรงนี้จะนำไปสู่อีกหนึ่งปัจจัยที่แม้รัฐบาลจะใช้อำนาจเด็ดขาดอยู่ในตำแหน่งต่อไป แต่ต้องอาศัยความสุจริต โปร่งใสมาเป็นเกราะกำบัง เพราะเป็นธรรมชาติของผู้มีอำนาจยิ่งอยู่นานปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่นยิ่งจะตามมา
ล่าสุด ผาสุก พงษ์ไพจิตร คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯได้ปาฐกถาพิเศษจะต่อสู้คอร์รัปชั่นอย่างไรดี ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยมีมุมมองที่น่าสนใจคือ ระบอบการเมืองต้องมีระบอบที่เอื้อกับการสู้คอร์รัปชั่น เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญที่สุดเพราะเป็นโครงสร้างใหญ่และเป็นปัจจัยที่กำหนดความสำเร็จในระยะยาว
ระบอบประชาธิปไตยที่มีหลักนิติธรรม หลักการความเสมอภาค หลักสิทธิเสรีภาพ จะเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในระบอบประชาธิปไตยเท่านั้นที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน จะตรวจสอบการใช้เงินทุกหน่วยงานอย่างเต็มที่ รัฐประหารไม่สามารถแก้คอร์รัปชั่นได้ หลายครั้งที่มีการอ้างว่ารัฐประหารเพื่อแก้คอร์รัปชั่นแต่แก้ไม่ได้สักครั้ง
เราอาจเห็นความพยายามแต่ล้วนเป็นมาตรการระยะสั้น และรัฐบาลรัฐประหารมักปรับแปลงสถาบันสำคัญต่างๆ เป็นระบบปิดที่เอื้อต่อการคอร์รัปชั่นของรัฐ ส่งผลให้การแก้คอร์รัปชั่นยิ่งยากเข้าไปอีก ดังนั้น อย่าไปเชื่อวาทกรรมเรื่องการแก้คอร์รัปชั่นได้โดยรัฐประหาร มันแก้ไม่ได้แน่นอน นี่คือเส้นทางของผู้มีอำนาจเบ็ดเสร็จที่ต้องเจอเมื่อคิดจะอยู่ยาว ถ้าขจัดการทุจริตได้เด็ดขาดทำให้ประชาชนอยู่ดีกินดีได้ จะอยู่นานเท่าไหร่คงไม่มีใครว่า