กุศลผลบาปพลวัต2015
การเบี้ยวหนี้เป็นบาปหรือไม่ สามารถถกเถียงกันไม่ยาก แต่การเบี้ยวหนี้อย่างถูกกฎหมาย และทำให้บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯที่ได้ชื่อว่า มีคะแนนธรรมาภิบาลเข้มงวด ทำกำไรมหาศาล เป็นสิ่งที่น่าภาคภูมิใจของผู้ถือหุ้นได้
การเบี้ยวหนี้เป็นบาปหรือไม่ สามารถถกเถียงกันไม่ยาก แต่การเบี้ยวหนี้อย่างถูกกฎหมาย และทำให้บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯที่ได้ชื่อว่า มีคะแนนธรรมาภิบาลเข้มงวด ทำกำไรมหาศาล เป็นสิ่งที่น่าภาคภูมิใจของผู้ถือหุ้นได้
กรณีนี้ หมายถึงบริษัท บางกอกแลนด์ จำกัด (มหาชน) หรือ BLAND ที่มีประธานกรรมการชื่อ อนันต์ กาญจนพาสน์ และมีทายาท 2 คนแบ่งกันบริหารอาณาจักรนี้ชื่อ ปีเตอร์ และ พอล กาญจนพาสน์ คือ บางกอกแลนด์ และบริษัท อิมแพ็ค เอ็กซิบิชั่น แมเนจเม้นท์ จำกัด ผู้ซึ่งรับเป็นผู้จัดการกองทรัสต์เพื่ออสังหาริมทรัพย์ (REIT) อิมแพ็คโกรท ที่สร้างอาณาจักรชานเมืองกทม.-นนทบุรี ชื่อเมืองทองธานี
วันที่ 14 สิงหาคมที่ผ่านมา อนันต์ในฐานะประธานกรรมการ BLAND ได้ส่งงบการเงิน พร้อมคำอธิบายผลการดำเนินงานของบริษัทที่มีกำไรสุทธิน่าชื่นใจสำหรับไตรมาสแรกของบริษัท (สิ้นงวด 30 มิถุนายน) ต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ ถึงกรณีที่มีกำไรงดงาม ซึ่งมีรายละเอียดน่าสนใจยกมาโดยสังเขปดังนี้ คือ
– กำไร รายได้จากอสังหาริมทรัพย์เพื่อขายอยู่ที่ 73 ล้านบาท ลดลง 18.9 % โดยที่มีรายได้จากการโอนโครงการไม่กี่รายการเท่านั้น ที่เหลือเป็นรายได้จากค่าเช่าและบริการ
– รายได้หลักของบริษัทลูก อิมแพ็ค เอ็กซิบิชั่น แมเนจเม้นท์ อยู่ที่ 878 ล้านบาท เป็นรายได้จากค่าเช่าและบริการที่เพิ่มขึ้น 44.6%
– กำไรสุทธิรวมของ BLAND ทั้งหมด (รวมทั้งส่วนของกอง REIT สูงถึง 2, 935 ล้านบาท มากกว่าระยะเดียวกันปีก่อนที่มีกำไรสุทธิเพียงแค่ 440 ล้านบาท โดยกำไรที่เพิ่มมากขึ้นนี้ มาจากกำไร “จากการกลับรายการหลักทรัพย์ประเภทหนี้ระยะยาว และ ดอกเบี้ยค้างจ่ายที่เกี่ยวข้อง” 2,944 ล้านบาท
ข้อมูลข้างต้น ระบุชัดเจนว่า กำไรปกติของ BLAND ติดลบ 9 ล้านบาท แต่กำไรพิเศษดังกล่าว เกิดจากการเบี้ยวหนี้เก่าเมื่อนานกว่า 20 ปีแล้ว ซึ่งหมดอายุความ
หนี้ดังกล่าว เกิดจากการออกหุ้นกู้แปลงสภาพสกุลเงินยุโรป หรือ ECB ก่อนเกิดวิกฤติต้มยำกุ้ง ในปี 2540 มีต้นทุนมูลหนี้สูงถึง 53,000 ล้านบาท ซึ่ง BLAND ออกขายให้กับเจ้าหนี้ในไทย เอเชีย และยุโรปจำนวนมากในช่วงปี 2535-2536 แต่เมื่อครบกำหนด ไม่สามารถชำระหนี้เมื่อเจ้าหนี้ต้องการให้เจ้าหนี้ไถ่ถอนได้
ผลสะเทือนดังกล่าว ทำให้ BLAND ถูกลดฐานะจากบริษัทอสังหาริมทรัพย์ชั้นนำของประเทศ กลายเป็นบริษัทที่มีหนี้ระดับหัวแถวของประเทศ อาณาจักรเมืองทองธานีที่มีที่ดินผืนงามมากถึง 4,000 ไร่ ตกเป็นลูกหนี้ที่เจ้าหนี้ระอากับการปรับโครงสร้างหนี้สารพัด ซึ่งมีทั้งที่ตกลงได้บางส่วน และตกลงไม่ได้
ส่วนที่ตกลงไม่ได้นี่แหละ เป็นที่มาของการฟ้องร้องเป็นคดีความกันมายาวนาน จนกระทั่งหมดอายุความ ทำให้ไม่ต้องชำระหนี้อีกต่อไป
แม้ว่าที่ผ่านมา BLAND จะค่อยๆ ฟื้นตัวอย่างช้าๆ จนเริ่มกลับมาทำกำไรต่อเนื่อง จนสามารถจ่ายเงินปันผลได้ทุกปี โดยอนันต์ การันตีที่ตัวเลขปันผลปีละ 0.02 บาทต่อหุ้น แต่ก็ไม่ได้มีฐานะกลับมาแข็งแกร่งเหมือนเดิม เพราะยังคงมีสภาพคล่องที่มีปัญหาต่อไป แต่ยังมีรายได้จากค่าเช่าพื้นฐานของบริษัทลูกอย่างอิมแพ็คฯ ซึ่งบริหารศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี ติดอันดับ 1 ใน 5 ของโลก
ที่น่าสนใจคือในช่วงเวลาที่เริ่มฟื้นตัวนี้ คนในตระกูลกาญจนพาสน์ ต่างทยอยกันเข้ามาเก็บหุ้น BLAND อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกลุ่มของนายอนันต์ที่นั่งบริหารอยู่ซึ่งได้เข้าซื้อหุ้น BLAND ในกระดานทั้งสิ้นหลายพันล้านหุ้นเข้าพอร์ต
จุดได้เปรียบของ BLAND ยุคใหม่ที่สามารถหาเครื่องมือทางการเงินใหม่เช่น เงินที่ได้จากกองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ อิมแพ็ค โกรท มูลค่า 20,000 ล้านบาท ทำให้บริษัทนี้ ไม่จำเป็นต้องสร้างหนี้เพื่อการเติบโตแบบในอดีต แต่หากพิจารณาจะเห็นได้ว่า ผลตอบแทนการลงทุนของบริษัท ยังไม่กลับมาโดดเด่น เพราะบางไตรมาสก็มีกำไรติดลบได้บ้าง
สิ่งที่น่าสนใจก็คือ แม้จะกลับมามีกำไรแล้ว แต่ภาระเก่าที่ผู้บริหารหรือผู้ถือหุ้นใหญ่ของ BLAND สร้างเอาไว้ ยังไม่ได้แก้ไขยังคงดำรงอยู่ และส่งผลให้ไม่มีใครรู้ว่า คดีความดังกล่าว จะส่งผลเสียหายอย่างไรต่อผู้ถือหุ้นหรือฐานะการเงินของบริษัทแค่ไหน
สิ่งที่ปรากฏหลายไตรมาสใน 2 ปีนี้คือ หนี้ที่ค้างชำระและเบี้ยวหนี้แล้ว ได้หมดอายุความ ทำให้มีการบันทึกกำไร “จากการกลับรายการหลักทรัพย์ประเภทหนี้ระยะยาว และ ดอกเบี้ยค้างจ่ายที่เกี่ยวข้อง” เป็นกำไรพิเศษให้เห็น
แม้ด้านหนึ่งการได้เห็นบริษัทมีกำไรไม่ใช่จากการดำเนินงาน แต่เป็นกำไรนอกการดำเนินงานโผล่มาค่อนข้างมาก อาจจะน่ายินดีที่ทำให้ตัวเลขผลประกอบการ และส่วนของผู้ถือหุ้นบริษัทดูดีขึ้นทางลัด แต่ที่มาของกำไรดังกล่าว ถือว่าเป็นกำไรที่ไม่ปกติ และเกิดจากการขาดธรรมาภิบาลของผู้บริหารโดยตรง ไม่ใช่สิ่งที่น่าพึงพอใจแม้แต่น้อย
ยิ่งกำไรที่เกิดขึ้นไตรมาสล่าสุด สามารถกลบเกลื่อนตัวเลขการขาดทุนของบริษัทด้วยแล้ว ยิ่งไม่น่ายินดีไปใหญ่ เพราะเท่ากับว่า บริษัทนี้ ซึ่งทำตัวเป็นเด็กเลว แต่กลับได้ดีเพราะสามารถเบี้ยวหนี้จำนวนหลายพันล้าน แล้วปล่อยให้หนี้ดังกล่าวหมดอายุความโดยไม่ยอมชำระ แล้วก็กลับมาบันทึกกำไรหน้าตาเฉย โดยไม่รู้สึกว่าผู้บริหารหรือผู้ถือหุ้นใหญ่มียางอายแม้แต่น้อย
หรือว่า คนมีเงินแล้ว ทำอะไรก็ไม่น่าเกลียด
ถ้าถือคติแบบนี้ ก็คงไม่มีปัญหาอะไร แต่คนที่ถือหุ้นบริษัทนี้ ที่ร่วมหัวจมท้ายกับการกระทำแบบ “ทำเลวได้ดี” จะมีความพึงพอใจมากน้อยแค่ไหน พึงทบทวนให้ดีว่า ตัวเองมีคุณธรรมมากมายเพียงใด กับการถือหุ้นในบริษัทนี้