โบรกฯ กับค่าคอมฯ

ล่าสุดมีแหล่งข่าวจากวงการบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) หรือ “โบรกเกอร์” ออกมาให้ข้อมูลเรื่อง “คอมมิชชั่น” อีกล่ะ


ลูบคมตลาดทุน : ธนะชัย ณ นคร

ล่าสุดมีแหล่งข่าวจากวงการบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) หรือ “โบรกเกอร์” ออกมาให้ข้อมูลเรื่อง “คอมมิชชั่น” อีกล่ะ

มีการระบุว่า ธุรกิจโบรกฯ กำลังกลับมา “ปั่นป่วน” อีกครั้ง

พร้อมกับ อ้างว่า “บล.” แห่งหนึ่งใช้วิธีดึงนักลงทุนเข้าพอร์ตด้วยการ “ลดค่าคอมมิชชั่น” ลงมาค่อนข้างมาก

ไม่เพียงเท่านั้น

ยังเปิดศึกด้วยการชิง “มาร์เก็ตติ้ง” แบบเสนอผลประโยชน์ต่าง ๆ ให้แบบยากที่จะปฏิเสธ

และเรื่องนี้ทางสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทยที่มี “พิเชษฐ สิทธิอํานวย” เป็นนายกฯ กำลังหารือกันอยู่

จะว่าไปแล้ว ปัญหาเรื่องค่าคอมมิชชั่น และการชิงมาร์เก็ตติ้งในวงการบริษัทหลักทรัพย์ มีมานานมาก ๆ

กระทั่งล่าสุดต้องมีการมานั่งจับเข่าคุยเคลียร์กัน

แม้จะไม่ได้มีการกำหนดว่า ค่าคอมฯ ควรอยู่ที่เท่าไหร่

แต่ก็มีการคุยกันว่า ไม่ควรต่ำเกินไปแบบ “น่าเกลียด”

ปัจจุบัน อัตราค่าธรรมเนียมการซื้อขายหุ้นของ บล.แต่ละแห่งจะคิดเป็นเปอร์เซ็นต์แตกต่างกันไป

ขณะเดียวกันค่าธรรมเนียมแต่ละบัญชี ก็จะแตกต่างกันด้วย เช่น บัญชี Cash Balance กับบัญชี Case Account จะคิดออกมาไม่เท่ากัน

หรือการซื้อขายหุ้นผ่านอินเทอร์เน็ต จะต่ำกว่า การส่งคำสั่งซื้อผ่านมาร์เก็ตติ้ง

ค่าธรรมเนียม หรือคอมมิชชั่นที่นักลงทุนจะต้องเสียจึงมีราคาหลากหลายรูปแบบ

ไม่เพียงเท่านั้น หากเป็นนักลงทุนรายใหญ่ ที่ส่งคำสั่งซื้อขายจำนวนมาก ทาง บล.เขาก็จะมีส่วนลดค่าธรรมเนียมให้กับนักลงทุนรายนั้นเป็นพิเศษด้วย

นี่ถือเป็นเรื่องปกติ

กลับมาเรื่องที่กำลังเป็นประเด็นกันต่อ

เพราะมีการระบุเกี่ยวกับ บล.รายดังกล่าว พร้อมกับยกตัวอย่าง เช่น  ปกติ TFEX จะมีค่าธรรมเนียมอยู่ที่สัญญาละ 40-50 บาท แต่ บล.รายนี้ “ลดราคา” ลงมาเหลือ 12 บาท

หรือแทบไม่เห็นกำไรเลย

คำถามคือ แล้วทำไปทำไมล่ะ

คำตอบคือ มีการตั้งข้อสงสัยไปว่า บล.รายนี้ อาจจะทำเหมือน Grab และ Uber ที่ปั้น User ให้ได้เยอะ ๆ

จากนั้นก็ขายต่อเหมือนที่เคยขายให้ บล. แห่งหนึ่ง เมื่อช่วงปลายปีก่อนหน้านี้

“โบรกเกอร์ (บล.) รายอื่น ถูกดึงตัวมาร์เก็ตติ้งไปเยอะ ส่วนค่าคอมฯ  ที่สมาคมโบรกฯ  เคยบอกว่า ไม่ให้ลดต่ำลงไปมาก ก็ไม่ทำตาม เพราะตัวเลขที่ลดลงมา แทบไม่มีอะไรจะเสีย เพราะหวังดึง User ไปขายต่อ แหล่งข่าว เขากล่าวอ้างมาแบบนี้ครับ

ประเด็นนี้ทาง “ข่าวหุ้นธุรกิจ”  ได้ตรวจสอบเรื่องไปยัง “ภัทธีรา ดิลกรุ่งธีระภพ” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด ในฐานะ ประธานคณะที่ปรึกษา สมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย

“ภัทธีรา” บอกว่า “ยังไม่ทราบเรื่องนี้”

แต่ก็ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า การจัดการปัญหาเรื่องการลดค่าคอมฯ ของโบรกเกอร์ “เป็นเรื่องที่ยาก”

เหตุผลเพราะต้องขึ้นอยู่กับโบรกเกอร์ว่าจะบริหารจัดการเรื่องรายได้ ค่าใช้จ่ายอย่างไร

และยังต้องขึ้นอยู่กับลูกค้าด้วยว่า ต้องการอะไร เช่น ถ้าต้องการค่าคอมฯ ราคาถูกก็อาจไม่มีบริการอื่น ๆ แต่หากมีบริการอื่น ๆ เข้ามาเพิ่มก็จะทำให้ค่าคอมฯ สูงขึ้นตามความเหมาะสม

แต่หากราคาต่ำทั้งหมดโบรกเกอร์เองก็จะอยู่ไม่ได้

ส่วนค่าคอมฯ ต่ำที่สุดนั้น ภัทธีรา ให้ข้อมูลว่า ส่วนมากจะเป็น “โบรกเกอร์ออนไลน์”

แต่ไม่แน่ใจเรื่องตัวเลข

“ทางสมาคมโบรกเกอร์ไม่ได้มีการกำหนดตัวเลขค่าคอมฯ แต่จะมี อัตราแนะนำ ซึ่งเป็นไปตามเกณฑ์ทั่วไป แต่จะคิดเท่าไหร่นั้นก็เป็นเรื่องของการบริหารจัดการของโบรกเกอร์เอง”

จริง ๆ เขียนมาแบบนี้ คนที่อยู่ในวงการตลาดทุน น่าจะพอนึกออกว่าเป็น โบรกเกอร์ หรือ บล.แห่งไหน

ส่วนตัวเลยโทรไปคุยกับผู้บริหารของ บล.ที่ถูกกล่าวอ้าง

ได้รับคำตอบมาว่า บล.ของเขานั้น ตอนนี้ ทำธุรกรรมหลายประเภท

ส่วนรายได้หลัก ๆ มาจากงาน IB (วาณิชธนกิจ)

และประเด็นค่าคอมฯ ต่ำ นั้น ก็ได้รับการยืนยันกลับมาว่า ของเขานั้นไม่ได้ต่ำสุดแน่นอน

มาถึงเรื่องของมาร์เก็ตติ้ง…?

เรื่องนี้ ก็ได้รับการยืนยันว่า ไม่ได้เปิดศึกชิงมาร์เก็ตติ้งมาจากค่ายอื่น

พร้อมกับได้รับการชี้แจงว่า เป็นการเปิดรับสมัครแบบ “ตามปกติ”

มาร์เก็ตติ้งทุกคนที่เข้ามา ยอมรับว่า มีทั้งมาจากค่ายอื่น และคนรุ่นใหม่ และเป็นการ “วอล์คอิน” เข้ามา

“มาร์เก็ตติ้งมีทั้งเด็กฝึกใหม่ คนมีประสบการณ์ ตอนนี้มีรวม ๆ กันอยู่กว่า 300 คน ดังนั้นเรื่องที่เราถูกกล่าวอ้าง ยืนยันว่าไม่เป็นความจริง”

นาน ๆ ที จะมีเรื่องวงการโบรกฯ

มาเล่าสู่กันฟัง

Back to top button