พาราสาวะถี
ย้ำกันให้ชัด ๆ ว่า รายชื่อรัฐมนตรีของครม.ประยุทธ์ 2/2 จะเสร็จไม่เกินกลางเดือนสิงหาคมนี้ ไม่ใช่พูดกันลอย ๆ แต่ยืนยันมาจาก พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา คนที่มีอำนาจดำเนินการเรื่องดังกล่าวแต่เพียงผู้เดียว แม้จะอุบไต๋ไม่บอกกล่าวกันว่า ใครจะสมหวังผิดหวังอย่างไร แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่น่าจะผิดพลาดคือ โผของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน จะหลุดจากมือของพรรครวมพลังประชาชาติไทยไปอยู่กับคนของพรรคสืบทอดอำนาจแน่นอน
อรชุน
ย้ำกันให้ชัด ๆ ว่า รายชื่อรัฐมนตรีของครม.ประยุทธ์ 2/2 จะเสร็จไม่เกินกลางเดือนสิงหาคมนี้ ไม่ใช่พูดกันลอย ๆ แต่ยืนยันมาจาก พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา คนที่มีอำนาจดำเนินการเรื่องดังกล่าวแต่เพียงผู้เดียว แม้จะอุบไต๋ไม่บอกกล่าวกันว่า ใครจะสมหวังผิดหวังอย่างไร แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่น่าจะผิดพลาดคือ โผของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน จะหลุดจากมือของพรรครวมพลังประชาชาติไทยไปอยู่กับคนของพรรคสืบทอดอำนาจแน่นอน
อย่างที่บอกไว้ตั้งแต่ต้น คนอย่าง สุเทพ เทือกสุบรรณ เมื่อเล่นบทก้มหัวให้ผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจเสียแล้ว ก็ต้องเดินตามแนวนี้ต่อไป ดังนั้น จึงไม่แปลกที่เทพเทือกจะออกมายอมรับตรง ๆ ว่า ท่านผู้นำยกหูหาขอเก้าอี้เสนาบดีกระทรวงจับกังไปให้พรรคของตัวเอง โดยแลกกับเก้าอี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ซึ่งน่าจะเป็นงานถนัดของ เอนก เหล่าธรรมทัศน์ ดีกว่าไปนั่งแรงงานให้เปลืองตัวเหมือนที่หม่อมเต่าไปเสียคนมาแล้ว
เมื่อเดินกันแบบนี้ก็หมายความว่า สุชาติ ชมกลิ่น เด็กในคาถาของพี่ใหญ่จะไม่พลาดเก้าอี้รัฐมนตรีแน่นอน ส่วนที่เดือดร้อนกลับไปตกอยู่กับพรรคชาติไทยพัฒนา ที่แว่วว่ามีการยกหูหาขอคืนเก้าอี้รัฐมนตรี 1 ตำแหน่ง ซึ่งชัดเจนว่าย่อมหนีไม่พ้นรัฐมนตรีช่วยเกษตรและสหกรณ์ของ ประภัตร โพธสุธน คนโตแห่งเมืองสุพรรณบุรี งานนี้อยู่ที่การเจรจาว่าจะมีอะไรมาแลกเปลี่ยนที่สมน้ำสมเนื้อกันหรือไม่ น่าเห็นใจกับความเคราะห์ที่ช่วยไม่ได้เมื่อคนบางคนถึงเวลาจะต้องใหญ่
ไม่ใช่ใครที่ไหนก็เจ้าของฉายาบิ๊กอายอย่าง นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกรัฐบาลนั่นปะไร เดิมทีคาดหมายว่าจะไปนั่งเป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แต่ด้วยคอนเนคชั่นและสายสัมพันธ์อันเหนียวแน่นของ สุวัจน์ ลิปตพัลลภ ที่ชงให้น้องชาย เทวัญ ลิปตพัลลภ ไขก๊อกในตำแหน่งรัฐมนตรีดังว่าเพื่อแสดงสปิริต แต่งานนี้ท่านผู้นำไม่ใจจืดใจดำ ยังคงให้กลับมารับตำแหน่งตามเดิม จึงต้องไปหาเก้าอี้อื่นมาให้เจ๊แหม่ม
หวยจึงไปออกที่พรรคปลาไหลใส่สเก็ต ซึ่งน่าจะเข้าใจได้ด้วยสัดส่วนของส.ส.ที่มีอยู่ในมือ เมื่อพรรคอื่นมีส.ส.เพิ่มแต่ไม่เรียกร้องตำแหน่ง พรรคที่มีจำนวนส.ส.น้อยอยู่แล้ว ก็ต้องเจียมเนื้อเจียมตัว แต่น่าสนใจว่า กับการจะให้โฆษกรัฐบาลไปนั่งเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งไม่เคยมีมาก่อนนั้น ท่านผู้นำมีวัตถุประสงค์อะไร หรือเห็นว่า วราวุธ ศิลปอาชา จากชาติไทยพัฒนาที่นั่งว่าการอยู่แล้วยังทำงานไม่เข้าตา
แต่ก็ไม่น่าจะใช่เพราะลูกท็อปก็ตั้งหน้าตั้งตาทำงานด้วยดีมาตลอด ไม่ได้อยู่ในโหมดรัฐมนตรีที่โลกลืม อย่างไรก็ตาม พอจะเข้าใจได้ ต้องหางานที่ไม่ยากจนเกินไปและเข้ากับความรู้ ความสามารถที่มีของคนที่ได้รับมอบหมาย การไปโผล่ในตำแหน่งดังว่านี้จึงน่าจะเหมาะสมที่สุดแล้ว ไม่ต่างจากรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหมที่ภารกิจหลักส่วนใหญ่ก็เป็นตัวแทนของท่านผู้นำคอยไปตอบกระทู้ถามของฝ่ายค้านในประเด็นที่เกี่ยวข้อง
ส่วนอีกพรรคอย่างประชาธิปัตย์ ดูท่าว่าวาจาของ จุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ จะไม่ศักดิ์สิทธิ์ เมื่อย้ำกับนักข่าวว่า จะไม่มีการปรับเปลี่ยนรัฐมนตรีในสัดส่วนของพรรค แต่ปรากฏว่ากลับมีแรงกระเพื่อมเกิดขึ้นต่อเนื่อง โดยเรียกร้องให้มีการสรุปผลประเมินการทำงานของรัฐบาลที่ในที่ประชุมของพรรคมอบหมายให้ เฉลิมชัย ศรีอ่อน แม่บ้านพรรคไปดำเนินการ เพื่อให้ทันต่อเดดไลน์ที่ท่านผู้นำประกาศว่าจะปรับครม.ให้จบภายในกลางเดือนหน้า
มีความพยายามที่จะเขี่ย คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช ให้พ้นจากความเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ด้วยเหตุผลที่ไร้ผลงานและไม่ได้ดูแลส.ส. สมาชิกอย่างที่ควรจะเป็น แต่ก็อีกนั่นแหละ พรรคนี้เขามีลักษณะเฉพาะสิ่งที่เห็นแม้จะดูเข้มข้นและดุเดือดเพียงใด แต่เมื่อมีการเรียกประชุมแล้วหาทางออกด้วยการลงมติ ทุกอย่างจะเงียบสนิททันทีทันใดที่จบการประชุมเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น นี่คือสิ่งที่ใครก็เลียนแบบยาก
ฟากภูมิใจไทยไม่ต้องพูดถึงทุกอย่างไม่มีการขยับ เมื่อมีจำนวนส.ส.เพิ่มถึง 10 เก้าอี้แต่ไม่เรียกร้องอะไรเพิ่ม ก็เป็นเหตุเป็นผลที่ท่านผู้นำจะต้องไม่ไปตอแยกับพรรคการเมืองนี้ ไม่ขอเพิ่มก็ต้องไม่เสียในส่วนที่มี ถือเป็นคาถาประจำของ อนุทิน ชาญวีรกูล และทีมงาน ตอนนี้ที่คิดหนักหน่อยคงเป็นประเด็นค่าโง่โฮปเวลล์ที่ศาลปกครองสูงสุดไม่รับเรื่องพิจารณาใหม่ อยู่ที่ว่าจะไปลุ้นกันกับการตัดสินของศาลแพ่งหรือจะหารือกับมือกฎหมายรัฐบาลว่าจะรอมชอม เจรจากับเอกชนกันอย่างไร
อย่างไรก็ตาม มีคำถามต่อว่าการประกาศโผครม.เรียบร้อยแล้วของท่านผู้นำนั้น คือเฉพาะในส่วนโควตาของตัวเองหรือทั้งหมด ซึ่งน่าจะเป็นอย่างแรกเสียมากกว่า เพื่อที่จะยืนยันให้เห็นว่า คนที่ตัวเองไปเจรจามานั้นแม้จะต้องผ่านกระบวนการที่ยากขนาดไหน แต่ยังทำสำเร็จได้ เพื่อให้ประเทศเดินหน้า ดังนั้น ฝ่ายการเมืองก็ไม่ควรจะมาลีลา ต่อรองอะไรกันให้มาก ที่แน่ ๆ การเข้าไปกรอกประวัติเพื่อตรวจสอบคุณสมบัติของคนที่จะได้เป็นรัฐมนตรีกับสำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ก็น่าจะทำให้เห็นภาพชัดขึ้นว่าไผเป็นไผ
ส่วนประเด็นที่ว่า ถ้าไม่ได้ดั่งใจแล้วจะเกิดเป็นแรงกระเพื่อมโดยฝ่ายการเมืองถือไพ่ว่าด้วยร่างพ.ร.บ.งบประมาณปี 2564 ที่ยังจะต้องรอเสียงโหวตจากสภาผู้แทนราษฎรในวาระสองและสามเป็นเครื่องมือในการต่อรองนั้น มีคนมองอีกมุมว่า ถ้าเป็นเช่นนั้นก็จะเข้าทางอีกด้านของท่านผู้นำและนักการเมืองเขี้ยวลากดินทั้งหลายแหล่
กล่าวคือ หากมีปัญหาเรื่องร่างพ.ร.บ.งบประมาณไม่ผ่านสภา โดยธรรมเนียมปฏิบัติที่ผ่านมาก็จะนำไปสู่การยุบสภา ซึ่งถ้าด้วยสถานการณ์ที่เป็นอยู่ผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจเกิดเบื่อหน่ายอย่าง สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ขึ้นมา ใช้การยุบสภาแล้วไม่ไปต่อ เพื่อจะได้วางมืออย่างสง่างาม แล้วเรื่องทางการเมืองหลังจากนั้นก็ปล่อยให้ฝ่ายการเมืองไปวัดดวงกันเอาเอง เช่นนี้ก็มีความเป็นไปได้อยู่เหมือนกันแม้ว่ามันจะน้อยก็ตาม แต่นี่คือการเมือง อะไรก็เกิดขึ้นได้เสมอ