หมาเห่าไม่กัด

มีนักวิเคราะห์ที่มองโลกในแง่ลบรุนแรง วิพากษ์เอาไว้ค่อนข้างแหลมคมว่า การค้นหาหุ้นเทิร์นอะราวด์ในตลาดหุ้นที่มีความเสี่ยงสูง เปรียบได้กับกรณี “หมาเห่าเก่ง ไม่ชอบกัด” ซึ่งหากพิจารณากันถ่องแท้แล้ว หมกไม่ถูก ก็ไม่ถือว่าผิด


พลวัตปี 2020 : วิษณุ โชลิตกุล

มีนักวิเคราะห์ที่มองโลกในแง่ลบรุนแรง วิพากษ์เอาไว้ค่อนข้างแหลมคมว่า การค้นหาหุ้นเทิร์นอะราวด์ในตลาดหุ้นที่มีความเสี่ยงสูง เปรียบได้กับกรณี หมาเห่าเก่ง ไม่ชอบกัด ซึ่งหากพิจารณากันถ่องแท้แล้ว หมกไม่ถูก ก็ไม่ถือว่าผิด

สามวันก่อนข่าวลือเรื่อง มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด ร่วมกับนักวิจัยบริษัท AstraZeneca ค้นพบวัคซีนแก้โควิด-19 สามารถทำให้เกิดระบบภูมิคุ้มกันแบบคู่ (Dual Immune Action) ได้ และอาจเริ่มผลิตมาใช้ได้เร็วที่สุดคือภายในเดือนกันยายน นี้เลย

ผลลัพธ์ทันทีคือ ราคาหุ้นของบริษัท AstraZeneca ดีดขึ้นทันที 10% แล้วมีผลทำให้หุ้นบริษัทผลิตวัคซีนในสหรัฐฯ จีน เยอรมนีและออสเตรเลีย วิ่งบวก พร้อมส่งผลทางจิตวิทยาให้ตลาดหุ้นทั่วโลกโดยรวมดีขึ้นไปสองวัน ก่อนที่แรงขายทำกำไรจะกลับมาครอบงำอีกครั้ง

การขายทำกำไร ทำให้ข่าวดีถูกฝังกลบอีกครั้ง สอดรับกับคำกล่าวเก่าแก่ที่ว่า 1 ใน 86 ประโยคโกหก ในตลาดหุ้นนั้นยังคงใช้การได้เสมอ นั่นคือ ราคาหุ้นจะวิ่งกลับคืนสู่จุดที่สูงกว่าเดิมก่อนวิกฤตซึ่งมีบททดสอบที่พิสูจน์มาแล้วว่าไม่เคยเป็นความจริง

หุ้นเทิร์นอะราวด์ นั้นส่วนใหญ่เป็นแค่การเทิร์นอะราวด์บางส่วนเท่านั้น และมักจะเป็นการเทิร์นอะราวด์เทียมเสียมากกว่า

โดยเฉพาะหุ้นเทิร์นอะราวด์ที่เป็นข่าวในหน้าสื่อสิ่งพิมพ์หรือออนไลน์ทั้งหลาย หรือที่ปรากฏในเสียงเชียร์ของนักวิเคราะห์หุ้นที่ออกมากันจนเกร่อ เสมือนหุ้นเป็นสินค้าแบกะดิน

มีนักลงทุนหลายคนที่มีประสบการณ์โชกโชน ยืนยันว่า หุ้นที่ราคาพร้อมจะเทิร์นอะราวด์นั้น มักจะอยู่นอกความสนใจของ คุณตลาด คือมักจะไม่มีข่าวหรอก เพราะราคามักจะวิ่งนำข่าวไปก่อนที่สื่อทางด้านหุ้น หรือนักวิเคราะห์จะทันสังเกต แต่บรรดาพวก ขาใหญ่ รีบเก็บกันเงียบ ๆ ไม่ต้องออกข่าว

ทันทีที่มีข่าวหรือบทวิเคราะห์ออกมา บรรดา ขาใหญ่ จะถือว่า เป็นจังหวะเวลาขายแล้ว นี่เป็นตรรกะง่าย ๆ ที่ ใคร ๆ รู้ดี เข้าใจง่าย แต่ทำยากมาก

เหตุผลหลักก็เพราะว่า บางครั้งหุ้นเทิร์นอะราวด์มีโจทย์ให้นักลงทุนต้องทำการบ้านเยอะแยะ ทั้งปรับโครงสร้างหนี้ เพิ่มทุน หรือความสามารถทำกำไร ทำให้มีประเด็นต้องระวังมากกว่าปกติ

คำถามหลักของหุ้นเทิร์นอะราวด์ อยู่ที่ความสามารถทำกำไร ว่าจะทำได้ดีกว่าเดิมก่อนเกิดวิกฤตหรือไม่ โดยเฉพาะกำไรต่อหุ้น (เปรียบเทียบปีต่อปี) และอัตราการเติบโตของความสามารถทำกำไร (วัดจากค่า PEG ratio)

ยามนี้ เราจะเห็นว่า หุ้นธนาคารกลายเป็นหุ้นที่นักวิเคราะห์บอกว่าจะเป็นหุ้นเทิร์นอะราวด์ ทั้งที่ไตรมาสสองหรืองวดกลางปีเป็นช่วงที่ทำกำไรต่ำกว่าปีก่อนค่อนข้างมาก

หุ้น SCB และ KKP คือกรณีศึกษาหุ้นที่นักวิเคราะห์พากันถือว่าเป็นหุ้นที่แนะนำให้ซื้อเพราะเทิร์นอะราวด์ เพราะขาลงของธุรกิจเริ่มเลยจุดต่ำสุดมาแล้ว

ทั้งสองหุ้นนี้ เป็นหุ้นที่มีกำไรลดลง และมีประเด็นเรื่อง NPL เพิ่มขึ้นมาก แต่ยังไม่เลวร้ายถึงขั้นหุ้นขาดทุนหนัก ราคาร่วงลงมาเป็นหุ้นต่ำกว่า 1.00 บาท ที่สำคัญราคาต่ำกว่าบุ๊กแวลู

นักวิเคราะห์มองว่า การที่ SCB ประกาศกำไรสุทธิไตรมาส 2/63 อยู่ที่ 8.4 พันล้านบาท ลดลง 24% เมื่อเทียบจากปีก่อน และ 10% เมื่อเทียบจากไตรมาสก่อน ซึ่งดีกว่าที่ตลาดและนักวิเคราะห์คาด

ส่วน KKP มีกำไรสุทธิไตรมาสสอง เท่ากับ 1.2 พันล้านบาท ลดลง 20% ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์และตลาดคาดไว้ที่ 1.5 พันล้านบาท แต่มีประเด็นน่าสนใจคือมีตัวเลขขาดทุนทางเทคนิค ตั้งสำรองส่วนเกินจากการที่มีการปรับใช้ตัวเลขทางบัญชีระบบใหม่ TFRS 9 ที่ข้ามมาจากปีก่อนที่เพิ่มขึ้นถึง 22% YoY ตามการชะลอตัวทางเศรษฐกิจและเพื่อรองรับความไม่แน่นอนที่อาจจะเกิดขึ้นจากผลโควิด-19 แต่มีข้อเด่นคือสินเชื่อเติบโต ค่อนข้างดี 6.3 % จากระยะเดียวกันปีก่อน

ที่สำคัญมีตัวเลขทางด้าน NPL ลดลงเป็น 3.7% จาก NPL ในส่วนลูกค้ารายย่อยต่ำลง และเกณฑ์ผ่อนคลายธปท.ทำให้สินเชื่อบางก้อนยังไม่ถูกจัดชั้นเป็น NPL ดังนั้นทำให้มี Coverage ratio เพิ่มเป็น 129% ซึ่งเพียงพออาจจะไม่ต้องตั้งสำรองอีก

ประเด็นก็คือการปรับเป้าราคาหุ้นทั้งสอง ที่เพิ่มขึ้นมาก ประมาณ 20% จะเป็นการประเมินที่ถูกต้องแค่ไหน หรือจะเป็นแค่ หมาเห่าเก่ง กัดไม่เก่ง

คำตอบไม่ได้อยู่ที่นักวิเคราะห์ แต่อยู่ที่นักลงทุนและคุณตลาดว่าจะมองอนาคตเป็นเช่นใด

Back to top button