Internet of Things (IoT) และการแข่งขันทางการค้า (ที่อาจไม่เป็นธรรม)

IoT คือระบบที่มีความสามารถเชื่อมโยงเครื่องจักร อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ กับอุปกรณ์ดิจิทัล และมีการจัดให้อุปกรณ์เหล่านั้นสามารถระบุตัวตนได้ผ่านการติดตั้งหมายเลยของอุปกรณ์นั้น ๆ


Cap & Corp Forum

ในปัจจุบันเทคโนโลยีการสื่อสารหรืออินเทอร์เน็ตเข้ามามีบทบาทอย่างมากในชีวิตประจำวัน ผู้ประกอบการรวมถึงผู้ให้บริการต่าง ๆ ล้วนใช้เทคโนโลยีเหล่านี้ในการพัฒนาการผลิตและการให้บริการเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค ด้วยความสามารถของเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตนี้เอง

ทำให้ปัจจุบันผู้บริโภคได้รับความสะดวกสบายอย่างมากจากการใช้อุปกรณ์อัจฉริยะต่าง ๆ (Smart devices) โดยอุปกรณ์อัจฉริยะเหล่านี้มีปัจจัยสำคัญในการทำงานคือสามารถสื่อสารและแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ตัวอื่น ๆ ได้โดยอาศัยเทคโนโลยีที่เรียกว่า Internet of Things (IoT)

IoT คือระบบที่มีความสามารถเชื่อมโยงเครื่องจักร อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ กับอุปกรณ์ดิจิทัล และมีการจัดให้อุปกรณ์เหล่านั้นสามารถระบุตัวตนได้ผ่านการติดตั้งหมายเลยของอุปกรณ์นั้น ๆ (Unique identifiers, (UIDs)) เพื่อให้อุปกรณ์เหล่านั้นสามารถโอนหรือแลกเปลี่ยนข้อมูลที่จัดเก็บผ่านระบบเซ็นเซอร์ (Sensor) ระหว่างกันได้โดยไม่ต้องการส่วนร่วมจากมนุษย์ IoT ทำให้อุปกรณ์แต่ละชิ้นเชื่อมโยงและส่งข้อมูลถึงกันโดยใช้ระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต (Internet network)

นั่นหมายความว่าอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เหล่านั้นจะมีความสามารถในการเก็บ รวบรวม ประมวลผลข้อมูลต่าง ๆ นอกจากนั้นการเชื่อมโยงถึงกันผ่านระบบอินเทอร์เน็ตยังทำให้ผู้บริโภคสามารถสั่งการและควบคุมการใช้งานอุปกรณ์เหล่านั้นได้ผ่านทางสมาร์ตโฟนหรือแอปพลิเคชันได้ ซึ่งแตกต่างจากอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ในอดีตที่ผู้ใช้งานไม่สามารถสั่งการหรือควบคุมการใช้งานทางไกลผ่านทางระบบอินเทอร์เน็ตได้

การเก็บข้อมูลต่าง ๆ โดยมี IoT เป็นสื่อกลางนั้นทำให้ผู้ประกอบการที่เป็นผู้ผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เข้าถึงข้อมูลในด้านต่าง ๆ ของผู้บริโภคจำนวนมาก ซึ่งการเข้าถึงข้อมูลดังกล่าวนั้นถือว่าเป็นผลดีต่อผู้ประกอบการและภาคอุตสาหกรรมอย่างมากในการลดต้นทุนการผลิตและได้สินค้าที่มีคุณภาพสูงขึ้น เนื่องจากทำให้ผู้ประกอบการสามารถวิเคราะห์พฤติกรรมของผู้บริโภคได้แม่นยำ โดยอาศัยข้อมูลที่ได้จากการจัดเก็บผ่านอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ทำงานร่วมกับ IoT

โดยผู้บริโภคเองก็ได้ประโยชน์ในการรับบริการเช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น บริษัทคอนกรีตในประเทศสหรัฐอเมริกาได้พัฒนาอุปกรณ์เซ็นเซอร์เพื่อเก็บข้อมูลของการแข็งตัว อุณหภูมิ และความชื้นของคอนกรีต โดยใช้ตัวอุปกรณ์ฝังเข้าไปในคอนกรีต และนำข้อมูลที่ได้จากตัวเซ็นเซอร์ส่งผ่านระบบอินเทอร์เน็ตเข้าสู่แอปพลิเคชันเพื่อให้วิศวกรสามารถวิเคราะห์และแก้ไขคอนกรีตที่ก่อสร้างได้อย่างแม่นยำ อย่างไรก็ตามการที่ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงข้อมูลจำนวนมากของผู้บริโภคนั้นก็อาจส่งผลร้ายต่อผู้บริโภคได้เช่นกัน

มีรายงานว่าในยุโรปมีการใช้อุปกรณ์ Smart devices มากถึง 100 ล้านชิ้นในปี 2019 และอาจจะเพิ่มสูงขึ้นถึง 184 ล้านชิ้นในปี 2023 อุปกรณ์เหล่านี้รวมถึง ตู้เย็น โทรทัศน์ หลอดไฟ นาฬิกา ประตูอัจฉริยะ ตัวช่วยเรื่องเสียง (Voice assistants) ไม่ว่าจะเป็น Siri Google Assistant หรือ Amazon Alexa อุปกรณ์เหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งที่จะทำให้ผู้ประกอบการทราบถึงข้อมูลของผู้บริโภคได้เกือบทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นด้านสุขภาพ การกิน วิถีชีวิต ความคิดเห็นทางการเมือง ซึ่งการเข้าถึงข้อมูลเหล่านี้นี่เองทำให้การแข่งขันในอุตสาหกรรมดิจิทัลอาจอยู่ในความเสี่ยง

ปัจจัยหลักในการทำให้เกิดการผูกขาด (Monopoly) ในตลาดดิจิทัลในมุมมองของคณะกรรมาธิการยุโรป คือ “ข้อมูลมหัต” (Big Data) จากการที่อุปกรณ์อัจฉริยะมีความสามารถในการจัดเก็บข้อมูลในทุก ๆ ด้าน ด้วยสิ่งนี้เองจึงเป็นการเอื้อให้ผู้ประกอบการรายใหญ่สามารถได้เปรียบคู่แข่งและผู้ประกอบการรายอื่น ๆ โดยการนำเสนอสินค้าและบริการของตนโดยวิเคราะห์พฤติกรรมของผู้บริโภคจากข้อมูลที่ตนมี เช่น ผู้ผลิตสมาร์ตทีวี เห็นว่าแบตเตอรี่รีโมททีวีของลูกค้าใกล้จะหมดจึงทำการเสนอแบตเตอรี่ที่เป็นสินค้าของตนผ่านทางแอปพลิเคชันให้แก่ลูกค้ารายนั้น

ซึ่งในบริบทกฎหมายแข่งขันทางการค้าของสหภาพยุโรป พฤติกรรมนี้ถือเป็นผลเสียต่อการแข่งขันทางการค้า เนื่องจากเป็นการทำให้ผู้บริโภคมีตัวเลือกในการซื้อสินค้าและบริการจำกัดอีกด้วย

อีกหนึ่งประเด็นที่น่าสนใจที่ IoT จะเอื้อให้ผู้ประกอบการขนาดใหญ่สามารถผูกขาดตลาดดิจิทัลได้ก็คือความสามารถในการสื่อสารหรือรับส่งข้อมูลระหว่าง Smart device (Interoperability) การที่ผู้ผลิต Smart devices ออกแบบอุปกรณ์ต่าง ๆ ของตนให้สื่อสารหรือแลกเปลี่ยนข้อมูลได้จำกัดเฉพาะกับอุปกรณ์ที่อยู่ภายใต้บริษัทหรือผู้ประกอบกิจการรายเดียวกัน และไม่สามารถที่จะทำงานร่วมกับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ของผู้ผลิตรายอื่นได้

ย่อมหมายความว่าผู้บริโภคจะถูกจำกัดให้ซื้อสินค้าและบริการภายใต้ผู้ผลิตรายเดียว อาทิเช่น กล้องวงจรปิดและหลอดไฟอัจฉริยะแบรนด์ ก เจ้าของบ้านจะสามารถดูภาพผ่านกล้องและควบคุมการทำงานของหลอดไฟดังกล่าวได้ต่อเมื่อใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ที่ใช้ระบบของแบรนด์ ก เท่านั้น

คณะกรรมาธิการยุโรปเริ่มมีความกังวลเกี่ยวกับสินค้าและบริการที่มีการเชื่อมต่อกับระบบ IoT และพฤติกรรมการค้าที่ไม่เป็นธรรมมากขึ้น โดยได้มีการแถลงข่าวในวันที่ 16 กรกฎาคม 2563 ที่ผ่านมาว่า คณะกรรมาธิการยุโรปจะทำการแสวงหาข้อมูลและวิเคราะห์โครงสร้างการแข่งขันในตลาดสินค้าเพื่อผู้บริโภคที่เกี่ยวเนื่องกับ IoT (Consumer Internet of Things)

ทั้งนี้เพื่อควบคุมและกำกับการแข่งขันในตลาดดังกล่าวให้เป็นไปในทิศทางของการแข่งขันอย่างเสรีและเป็นธรรม โดยน่าจะมีการเผยแพร่รายงานการศึกษาเบื้องต้นได้ในปี 2021 และรายงานฉบับสมบูรณ์ปี 2022

ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันผู้บริโภคยังมีตัวเลือกและสามารถเลือกซื้อและใช้ Smart device ได้ค่อนข้างอิสระและไม่ต้องกังวลว่าอุปกรณ์แต่ละยี่ห้อที่เราใช้จะไม่สามารถทำงานเชื่อมต่อกันได้ แต่สองประเด็นดังกล่าวข้างต้นอันได้แก่ Big data และ Interoperability เมื่อผนวกกับการใช้เทคโนโลยี IoT ก็สามารถชี้ให้เห็นถึงความเสี่ยงในการผูกขาดทางการค้าอาจทำลายกลไกการแข่งขันได้อย่างชัดเจน

ดังนั้นจึงอาจถึงเวลาแล้วที่ภาครัฐอาจจะต้องพิจารณาเริ่มบังคับใช้มาตรการทางกฎหมายต่าง ๆ เพื่อควบคุมกำกับการผลิตและให้บริการในกลุ่มอุตสาหกรรมดิจิทัลเพื่อเป็นการสร้างกลไกลตลาดที่มีการแข่งขันอย่างเสรีและไม่สร้างการผูกขาดตัดตอนทางเศรษฐกิจโดยผู้ประกอบการรายใหญ่

เพื่อสามารถสร้างความมั่นใจให้กับผู้ประกอบการทุกขนาดในเรื่องโอกาสทางการแข่งขัน และสร้างสภาพแวดล้อมทางธุรกิจให้เอื้อต่อการพัฒนานวัตกรรมจากการใช้ IoT ทั้งนี้เพื่อให้ผู้บริโภคได้เข้าถึงนวัตกรรมที่ช่วยทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้นในราคาที่เข้าถึงได้ และมีโอกาสเลือกสินค้าและบริการอย่างเสรี

ศุภวัชร์ มาลานนท์

คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

ชิโนภาส อุดมผล

Optimum Solution Defined (OSDCo., Ltd.)

Back to top button