ชาวสวนในตลาดหุ้นพลวัต2015
เหตุการณ์เกิดที่ตลาดหุ้นไทยเมื่อวานนี้ พิสูจน์ผลการต่อสู้ของความโลภกับความกลัวในตลาดเก็งกำไรได้ดีมาก
เหตุการณ์เกิดที่ตลาดหุ้นไทยเมื่อวานนี้ พิสูจน์ผลการต่อสู้ของความโลภกับความกลัวในตลาดเก็งกำไรได้ดีมาก
การก่อวินาศกรรมซึ่งเริ่มต้นที่แยกราชประสงค์เมื่อค่ำวานซืน มีเจตนาที่ทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเกิดความหวาดกลัวที่จะเดินทางมายังประเทศไทย ส่งผลให้เสาหลักของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยปีนี้ ซวนเซได้ง่ายมาก และก็เป็นเรื่องปกติที่ราคาหุ้นที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว โรงแรม และบริการ จะต้องร่วงแรง ดันดัชนีทรุดฮวบตามไปด้วย
คำถามใหญ่สำหรับนักลงทุนอยู่ที่ว่า จะปรับกลยุทธ์อย่างใดให้เหมาะสมสถานการณ์ ทั้งป้องกันการขาดทุนมากจนเกินไป และเผื่อว่าอาจจะทำกำไรในช่วงผันผวนกลับคืนได้บ้าง
เมื่อวานนี้ ดัชนีตลาดหุ้นไทยเปิดลบไป 37 จุด ที่แนวรับ 1,380 จุด จากนั้นก็มีแรงซื้อกลับขึ้นมาดันไปลบที่ระดับ 20 จุด เมื่อปิดตลาดเช้า แต่ระเบิดลูกที่สองที่ท่าเรือสาทร สะพานตากสิน ก่อนเปิดตลาดบ่าย ทำให้แรงขายจากต่างชาติอออกมาหนักขึ้นดันหลุดแนวรับลงไปต่ำกว่าเดิม ท้ายสุดปิดตลาดไปที่ลบไป 36.13 จุด ที่แนวรับ 1,372.61 จุด ด้วยมูลค่าซื้อขายเยอะมากเป็นพิเศษ 7.83 หมื่นล้านบาท แต่น่าจะขายเป็นหลักเพราะกองทุนรวมขายสุทธิ 1.2 หมื่นล้าน ต่างชาติขายสุทธิ 6.9 พันล้านบาท ส่วนรายย่อยซื้อสุทธิ 1.77 หมื่นล้านบาท
ปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นจะเห็นได้ชัดว่า นักลงทุนสถาบันและต่างชาติพากัน “หางจุกตูด” เผ่นหนีก่อนใครอื่น ปล่อยให้รายย่อย ที่เริ่มต้นด้วยปฏิกิริยาเข่ากระตุกทำการขายทิ้งไปก่อน จากนั้นก็เริ่มตั้งสติพิจารณาท่าที ว่าเหตุการณ์ร้ายจะตามมาหรือไม่ เมื่อไม่มีข่าวร้ายตามมาก็เป็นโอกาสได้ซื้อของถูก เกิดมุมมองใหม่ในการลงทุน
การตัดสินใจของรายย่อย (รวมทั้งพอร์ตโบรกเกอร์ที่การซื้อสุทธิวานนี้ เป็นการใช้กลยุทธ์ “ชาวสวน” ซึ่งเป็นพฤติกรรมของนักฉวยโอกาสจากหายนะของตลาดเก็งกำไรที่น่าสนใจ เพราะกลยุทธ์ชาวสวนนี้จะไม่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง แต่มักเลือกเกิดในช่วงเวลาที่สบช่องของสถานการณ์พิเศษเท่านั้น โดยเฉพาะในสถานการณ์การเมืองที่มีความรุนแรง
ตำนานโด่งดังสุด เริ่มต้นที่อมตะวจีของลอร์ดนาธาน ร็อธไชลด์ นักเล่นหุ้นระดับเซียนเหยียบเมฆในลอนดอนเมื่อสองร้อยกว่าปีก่อนในช่วงสงครามนโปเลียนที่วอเตอร์ลู ที่ว่า ให้ซื้อเมื่อเลือดนองถนน แม้ว่าเลือดนั้นจะเป็นของคุณเองก็ตาม ซึ่งถอดมาจากประโยคเต็มๆ ว่า “Buying when there’s blood in the streets, even if the blood is your own.”
ประโยคดังกล่าว ซ่อนความหมายที่ลึกซึ้งเอาไว้ว่า ในยามที่คนส่วนใหญ่หวาดกลัวต่ออนาคต พากันขายหุ้นทิ้งย่อมเป็นโอกาสของการได้ซื้อของถูกที่หาไม่ได้ง่ายๆ ซึ่งเป็นกลยุทธ์ที่เรียกว่า “ชาวสวน” (Contrarion Investing) ที่มีความเชื่อรากฐานว่าเมื่อตลาดเลวร้ายสุดๆ เป็นโอกาสดีที่จะทำกำไร
ประเด็นหลักของกลยุทธ์ดังกล่าวอยู่ที่หุ้นซึ่งมีคนต้องการมากในตลาด มักจะมีแนวโน้มราคาสูงเกินหรือ พี/อี สูงลิ่วดังที่วอร์เรน บัฟเฟตต์เคยบอกว่า “ในตลาดหุ้น คุณจะจ่ายในราคาแพงสำหรับหุ้นที่ทุกคนต่างก็ชื่นชอบ” ซึ่งผลลัพธ์คือโอกาสทำกำไรต่ำลง
พฤติกรรมแบบชาวสวนของนักลงทุน เป็นความพยายามที่จะทำสิ่งตรงข้ามกับพฤติรกรมโน้มเอียงของฝูงชนส่วนใหญ่ในตลาด นักลงทุนแบบชาวสวนจะตื่นเต้นอย่างมากเมื่อบริษัทพื้นฐานดีเยี่ยมราคาพุ่งดิ่งเหว พวกเขาจะว่ายทวนกระแสด้วยเชื่อว่าตลาดมีความผิดพลาด ทั้งการที่ราคาเหวี่ยงขึ้นลงผิดธรรมชาติในระยะสั้น ซึ่งหากมากเท่าไร ความผิดพลาดของตลาดก็ยิ่งมีมากขึ้น
นักลงทุนแบบชาวสวน ถือว่าช่วงเวลาดีเยี่ยมที่จะเข้าลงทุน จะเกิดขึ้นในขณะที่ตลาดสับสนอลหม่าน การก่อวินาศกรรมทำให้ตลาดหุ้นตกลงอย่างมาก ซ้ำแล้วซ้ำเล่า แม้จะไม่ต่อเนื่องมากนัก
วอร์เรน บัฟเฟตต์ สร้างชื่อจากช่วงเวลาตลาดวอลล์สตรีทซบเซาในระหว่างวิกฤติราคาน้ำมันครั้งแรกของโลก หลังจากสหรัฐฯยกเลิกข้อตกลงเบรตัน วูด เข้าลงทุนซื้อหุ้นหนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์ ที่ให้ผลตอบแทนมากกว่า 100 เท่า จากส่วนต่างของราคา (ยังไม่รวมเงินปันผล)
นักลงทุนอเมริกันกลุ่มหนึ่งที่เข้าซื้อหุ้นบริษัทผลิตเครื่องบินโบอิ้ง หลังตลาดหุ้นนิวยอร์กร่วงหนัก ภายหลังวินาศกรรม 11 กันยายน 2544 พบว่าอีก 1 ปีหลังจากเหตุการณ์นั้น ราคาหุ้นได้พุ่งขึ้นมากกว่า 4 เท่า
ตัวอย่างที่อ้างมา ไม่ได้หมายความว่าทุกๆ กลยุทธ์ชาวสวน จะปลอดจากความเสี่ยง เพราะบางกรณี การสวนกระแสตลาดก็อาจจะเผชิญกับการ “เอาไม่อยู่” ได้ ดังนั้น คนที่ประสบผลสำเร็จในกลยุทธ์นี้ ต้องมีความละเอียดรอบคอบ ค้นคว้าและวิเคราะห์อย่างจริงจัง ไม่ทำอะไรสุ่มสี่สุ่มห้า จนมั่นใจได้ว่าช่วงเวลานั้น ตลาดมีความผิดพลาด
ที่สำคัญ คนเหล่านี้ต้องเรียนรู้ที่จะรอคอยหาจังหวะในการเข้าซื้อ เพราะเมื่อหุ้นเริ่มดิ่งเหวลง จะยังไม่เข้าซื้อในทันทีทันใด แต่จะรอจนกระทั่งราคาได้ลงมาถึงระดับที่พอใจ และเริ่มมีสัญญาณสงบนิ่งเพื่อรอวันกลับขึ้นไปรอบใหม่
เสน่ห์ของการลงทุนเก็งกำไรแบบชาวสวน จึงอยู่ที่กระบวนการการเรียนรู้ที่จะบริหารความกลัวของนักลงทุนในตลาด พร้อมกับกับการบริหารความกล้าของตนเองอย่างมีจังหวะจะโคนในยามสถานการณ์ตลาดผันผวนรุนแรง
คนที่จะทำเช่นว่าได้ จะต้อง “ครบเครื่อง” เพราะต้องอาศัยทั้ง ทักษะ ปรัชญาและจิตวิทยาผสมผสานกัน เนื่องจากนอกจากต้องผ่านประสบการณ์มายาวนานพอสมควร ยังต้องมีจิตใจสงบนิ่งมากพอที่จะเสี่ยงกับอารมณ์ของตลาดในแต่ละช่วงเวลา นับแต่การซื้อเมื่อตลาดเป็นขาลง และขายเมื่อกำไรถึงเป้าหมายที่ต้องการ
กอร์ดอน เก็กโก้ ตัวละครในภาพยนตร์ WallStreet ก็พูดเตือนสติถึงการใช้กลยุทธ์บริหารความโลภและความกลัวไว้ว่า “ความโลภดีเสมอ ถูกต้องเสมอ และทำงานได้ผลดีเสมอ เพราะมันแผ้วถางทางสว่าง ตัดตอน และฉวยจังหวะที่เป็นสาระสำคัญของจิตวิญญาณผู้คนได้มากที่สุด ความโลภมีหลากรูปแบบ มันดำรงอยู่เพื่อชีวิต เพื่อความรัก เพื่อความรู้ และยกระดับคุณค่าของมนุษย์ และมันก็มีส่วนสร้างสหรัฐอเมริกาให้ยิ่งใหญ่”
ที่สำคัญและต้องจดจำให้ขึ้นใจคือ นักลงทุนที่เลือกเป็นชาวสวน ต้องพร้อมที่จะตัดขาดทุน เมื่อถึงเวลาจำเป็น ในยามที่กลยุทธ์ชาวสวนไม่สามารถทำงานเอาชนะตลาดได้