หุ้นแบงก์-ไฟแนนซ์
หลังหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์แจ้งงบการเงินไตรมาส 2/2563 ออกมากันครบ
ลูบคมตลาดทุน : ธนะชัย ณ นคร
หลังหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์แจ้งงบการเงินไตรมาส 2/2563 ออกมากันครบ
บรรดานักวิเคราะห์ต่างดีดลูกคิดทันที
เท่าที่เข้าไปอ่านดูล่าสุด
ส่วนใหญ่แนะนำให้ “เลี่ยงลงทุน”
หรือหากจะลงทุนจริง ๆ หากเป็นหุ้นแบงก์ขนาดใหญ่ ต่างยังแนะนำ แบงก์กรุงเทพ BBL
ส่วนแบงก์เล็กยังคงเป็น TISCO และ KKP
ทว่า ก็มีนักวิเคราะห์บางส่วนได้แนะนำให้เลี่ยงลงทุนออกไปทั้งกลุ่มฯ เลย
หรืออาจจะต้องรอเวลาอีกซัก 3-6 เดือนข้างหน้า เพื่อรอดูผลประกอบการไตรมาส 3 และ 4/2563 ด้วย
มีการประเมินกันว่า แบงก์ส่วนใหญ่ หรือเกือบทั้งหมดยังต้องเผชิญกับการตั้งสำรองหนี้ฯ ในระดับสูง ช่วงไตรมาส 3 และ 4 ค่อนข้างแน่นอน
จากหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ NPL จะเร่งตัวขึ้น
โดยเฉพาะกลุ่มลูกหนี้ที่ขอพักชำระหนี้ และไม่สามารถกลับมาชำระหนี้ได้ตามปกติ
รายได้ค่าธรรมเนียมของแบงก์ที่เคยเฟื่องฟู
จากข้อมูลที่ได้รับพบว่า “มีแนวโน้มลดลง”
สรุปแล้ว รายได้ทั้งจากดอกเบี้ย และที่ไม่ใช่ดอกเบี้ย (ค่าธรรมเนียม) ต่างร่วงลงทั้งหมด
จึงไม่ต้องแปลกใจที่หุ้นกลุ่มธนาคารเมื่อวานนี้ต่างพาเหรดลดลงถ้วนหน้า
ไล่ตั้งแต่ กสิกรไทย KBANK, แบงก์กรุงไทย KTB, แบงก์กรุงเทพ BBL, แบงก์ไทยพาณิชย์ SCB รวมถึงแบงก์ขนาดกลางและเล็กที่ราคาลงมาแบบพร้อมหน้า (ยกเว้น LHFG)
มีมุมมองจากนักวิเคราะห์ของ KGI ที่น่าสนใจ
มีการระบุว่า NPLs ของกลุ่มแบงก์ที่ออกมาล่าสุดนั้น
“ไม่ได้สะท้อนสถานการณ์จริง”
เหตุผลเพราะธนาคารส่วนใหญ่จัดชั้นหนี้มีปัญหาเป็นหนี้ที่เข้าร่วมโครงการผ่อนผันหนี้
ทำให้ NPLs ยังคงอยู่ระดับเท่ากับช่วงก่อนการระบาดของ COVID-19
SCB KBANK TMB และ KKP บอกว่า หนี้ที่เข้าโครงการผ่อนผันหนี้คิดเป็นประมาณ 40% ของสินเชื่อรวม
และส่วนใหญ่เป็นสินเชื่อ เอสเอ็มอี
และเมื่อดูข้อมูลของ TMB พบว่า 99% ของลูกหนี้เอสเอ็มอี เข้าร่วมโครงการผ่อนผันหนี้
ส่วนของ SCB เข้าร่วมประมาณ 60%
และของ KBANK ประมาณ 70% และมีลูกหนี้ประมาณ 30% ที่เข้าร่วมโครงการและมี “ความเสี่ยงด้านกระแสเงินสด” และต้องการให้มีการยืดมาตรการผ่อนผันออกไปอีก
การเปิดให้ลูกหนี้ที่ประสบปัญหาเข้าร่วมโครงการผ่อนผันหนี้
ทำให้ธนาคารต้องบันทึก “ดอกเบี้ยค้างรับ” ก้อนใหญ่
ตัวเลขตรงนี้ “เพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว” หากเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า
KGI มองด้วยว่า การช่วยเหลือลูกหนี้ ธนาคารต้องยอมเฉือน Yield
เหตุผลเพื่อ “รักษาคุณภาพสินทรัพย์” เอาไว้
และธนาคารน่าจะต้องยอมลดอัตราดอกเบี้ยค้างรับให้กับลูกค้าที่กลับมาชำระหนี้ด้วย
การลดหนี้จึงจะกดดัน Yield ของธนาคารตั้งแต่ไตรมาส 3 นี้ ไปจนถึงปี 2564 ตามการสิ้นสุดโครงการผ่อนผันหนี้
และจะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับธนาคารทุกแห่ง
นั่นคือที่มาของการปรับลดคำแนะนำลงทุนหุ้นกลุ่มแบงก์ จากการปรับลดคาดการณ์กำไรลง
ส่วนหุ้นกลุ่มไฟแนนซ์
แม้ว่าจะไม่ได้ตกอยู่ในสถานการณ์เช่นเดียวกับแบงก์
แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า จะเผชิญกับหนี้เสียเกิดขึ้น (เพิ่มขึ้น) ค่อนข้างแน่นอน
ขึ้นอยู่กับว่า ผู้ประกอบการแต่ละราย จะจัดการหรือแก้ปัญหาด้วยวิธีการใด
ราคาหุ้นกลุ่มไฟแนนซ์ เช่น SAWAD MTC KTC และ AEONTS แทบไม่วิ่งไปไหน เพราะนักลงทุนต้องการเห็นตัวเลข “หนี้เสีย” ว่าจะมีมากน้อยแค่ไหนกับหุ้นเหล่านี้
หุ้นไฟแนนซ์ ยังถูกแรงกดดันด้าน Policy risk หรือความเสี่ยงจากนโยบายของทางการด้วย
โดยเฉพาะอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อประเภทต่าง ๆ
เพราะไม่รู้ว่าจะถูกกดลงมาอีกหรือไม่
ใครที่จะซื้อหุ้นแบงก์กับไฟแนนซ์ คงต้องรอไปก่อน
เว้นแต่ว่าราคาลงมามากเกินไปนั่นแหละ