แพนิกหุ้นไฟแนนซ์

เมื่อวานนี้ (5 ส.ค.) ราคาหุ้นในกลุ่มไฟแนนซ์ลงมาค่อนข้างมาก


ลูบคมตลาดทุน : ธนะชัย ณ นคร

เมื่อวานนี้ (5 ส.ค.) ราคาหุ้นในกลุ่มไฟแนนซ์ลงมาค่อนข้างมาก

ปัจจัยมาจาก “แพนิก” หรือการตื่นตกใจกับประเด็นลดอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อบัตรเครดิต บุคคล และจำนำทะเบียนรถ ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

ประเด็นนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่

แต่ที่ตื่นตกใจกันมาจาก “ความเข้าใจผิด”

เพราะเดิมอาจคิดว่า ดอกเบี้ยที่ปรับลงมาเป็น “มาตรการชั่วคราว”

ทว่ากลับได้รับการยืนยันจากทาง ธปท.ว่าเป็น “มาตรการถาวร”

นั่นหมายความว่า ดอกเบี้ยบัตรเครดิตที่ลงจาก 18% เหลือ 16% รวมถึงดอกเบี้ยสินเชื่อบุคคล ลงจาก 28% เหลือ 25% และ และจำนำทะเบียนรถจาก 28% เหลือ 24%

และมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค.ที่ผ่านมา

ดอกเบี้ยใหม่ที่ถูกปรับลงทั้งหมดนี้ จะถูกนำมาใช้ตลอดไป

หรือจนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงจาก ธปท. อีกครั้ง

ทันทีที่ได้รับการยืนยัน ส่งผลให้ หุ้น บมจ.บัตรกรุงไทย หรือ KTC ลดลง 1.00 บาท มาที่ 30.00 บาท เปลี่ยนแปลง -3.23%

หุ้น บมจ.อิออน ธนสินทรัพย์ (ไทยแลนด์) หรือ AEONTS ลดลง 4.75 บาท มาที่ 99.25 บาท เปลี่ยนแปลง -4.57%

หุ้น บมจ.ศรีสวัสดิ์ คอร์ปอเรชั่น หรือ SAWAD ลดลง 3.25 บาท มาที่ 46.25 บาท เปลี่ยนแปลง -6.57%

และหุ้น บมจ.เมืองไทย แคปปิตอล หรือ MTC ลดลง 2.25 บาท มาที่ 49.00 บาท เปลี่ยนแปลง -4.39%

การที่ราคาหุ้นปรับลงมาอีก (หลังเคยร่วงมาแล้วจากข่าวเดียวกัน)

เพราะนักลงทุนคิดไปว่า ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากดอกเบี้ยถูกปรับลง

จะส่งผลเชิงลบเพียงแค่สิ้นปีนี้เท่านั้น

และพอมาถึงปี 2564

ดอกเบี้ยเดิมที่เคยถูกปรับลงไป จะถูกกลับนำมาใช้ตามปกติ

แต่เมื่อไม่ได้เป็นเช่นนั้น จึงมีการคาดเดากันไปว่า เมื่อเป็นแบบนี้ ย่อมอาจจะกระทบกับกำไรของหุ้นเหล่านี้ทั้งหมด

ในมุมมองของนักวิเคราะห์ต่างออกมาวิเคราะห์เรื่องดังกล่าวทันที

ในส่วนของ KTC กับ AEONTS ถูกประเมินว่า จะได้รับผลกระทบมากสุด เพรามีสินเชื่อบัตรเครดิต และสินเชื่อบุคคลอยู่ในพอร์ตค่อนข้างมาก

แต่หากถามว่า จะทำให้ถึงกับขาดทุนเลยหรือเปล่า

คำตอบคือ “ไม่”

นักวิเคราะห์ต่างประเมินว่า กำไรอาจปรับลดลงบ้าง (แค่นั้นเอง)

แต่ยังเชื่อว่าผู้บริหารของทั้ง KTC และอิออนฯ น่าจะหาแนวทางแก้ปัญหา ด้วยการหารายได้เพิ่มทางอื่น ๆ

หรือปรับลดรายจ่ายลงมา เพื่อรักษาอัตรากำไรสุทธิเอาไว้

ส่วนหุ้น SAWAD และ MTC นั้น

ส่วนใหญ่เป็นพอร์ตสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ

และอัตราดอกเบี้ยที่นำมาใช้จะต่ำกว่าเกณฑ์ของธปท.อยู่แล้ว หรือระหว่าง 19-22%

ส่วนเกณฑ์ ธปท.อยู่ที่ 24%

ในส่วนของ SAWAD นั้นมีสินเชื่อบางประเภทที่คิดดอกเบี้ยเกินกว่าเกณฑ์ (ใหม่) ของ ธปท.

แต่ได้รับการยืนยันจากผู้บริหาร SAWAD ว่า สินเชื่อประเภทนี้มีสัดส่วนไม่มากนัก หรือไม่ถึง 5% ของสินเชื่อรวม

แนวทางแก้ปัญหา คือ จะลดพอร์ตสินเชื่อประเภทนี้ออกไป

จึงไม่ได้รับผลกระทบอะไรมากนั่นเอง

SAWAD วันนี้ (6 ส.ค.) ขึ้นเครื่อง XD เพื่อจ่ายเงินปันผล 1.40 บาทต่อหุ้น พร้อมกับแถมใบสำคัญแสดงสิทธิ หรือ Warrant  อัตราส่วน 25 : 1 (25 หุ้นเดิม ต่อ 1 วอแรนต์)

เงินปันผลนี้ จ่ายสำหรับงวดดำเนินงาน 1 ม.ค.-31 ธ.ค. 62  และจากกำไรสะสม

นักวิเคราะห์มองกันว่า หุ้นอย่าง SAWAD และ MTC ที่ปรับลง

เป็นโอกาสดีที่ทยอยสะสมเข้าพอร์ต

แม้ช่วงไตรมาส 2 อัตรากำไรจะเติบโตถดถอยบ้าง

แต่เชื่อว่าในไตรมาส 3 และ 4 อัตรากำไรจะกลับมาเติบโตตามปกติได้

Back to top button