ตื่นตระหนกระยะสั้น
เกิดการตื่นตระหนกขายหุ้นกลุ่มไฟแนนซ์เป็นการใหญ่ ด้วยเหตุกังวลว่า “มาตรการช่วยลูกหนี้รายย่อยที่ได้รับผล กระทบจากโควิด-19 (ระยะที่ 2)” ที่เริ่มมีผลตั้งแต่ 1 ส.ค. 63 ที่ผ่านมา เป็นมาตรการที่ใช้ต่อเนื่องเป็นการถาวร..ไม่ใช่เพียงแค่มาตรการชั่วคราวอย่างที่เข้าใจกันมาก่อนหน้านี้..!!
พลวัตปี 2020 : สุภชัย ปกป้อง (แทน)
เกิดการตื่นตระหนกขายหุ้นกลุ่มไฟแนนซ์เป็นการใหญ่ ด้วยเหตุกังวลว่า “มาตรการช่วยลูกหนี้รายย่อยที่ได้รับผล กระทบจากโควิด-19 (ระยะที่ 2)” ที่เริ่มมีผลตั้งแต่ 1 ส.ค. 63 ที่ผ่านมา เป็นมาตรการที่ใช้ต่อเนื่องเป็นการถาวร..ไม่ใช่เพียงแค่มาตรการชั่วคราวอย่างที่เข้าใจกันมาก่อนหน้านี้..!!
นั่นทำให้ 2 หุ้นรูดปรื๊ดอย่างบริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTC และบริษัท บริษัท อิออน ธนสินทรัพย์ (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) หรือ AEONTS ถูกเทขายออกมาอย่างหนักและอีก 3 หุ้นไฟแนนซ์อย่าง บริษัท เมืองไทย แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ MTC บริษัท ศรีสวัสดิ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ SAWAD และบริษัท ซิงเกอร์ ประเทศไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SINGER ถูกเทขายออกมาหนักด้วยเช่นกัน
สาระสำคัญของมาตรการช่วยลูกหนี้ที่ว่า คือมีการปรับลดเพดานดอกเบี้ยสำหรับลูกหนี้บัตรเครดิตจาก 18% เหลือ 16% สินเชื่อส่วนบุคคลจาก 28% ลดเหลือ 25% สินเชื่อจำนำทะเบียนรถจาก 28% ลดเหลือ 24% เริ่มมีผลตั้งแต่ 1 ส.ค. 63 และเพิ่มวงเงินบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล ประเภทวงเงินหมุนเวียนหรือที่ผ่อนชำระเป็นงวด สำหรับลูกหนี้ ที่มีความจำเป็นต้องใช้วงเงินเพิ่มเติม และมีพฤติกรรมชำระหนี้ที่ดีเป็น 2 เท่าของรายได้ เริ่มมีผลตั้งแต่ 1 ส.ค. 63- 31 ธ.ค. 64
รวมถึงการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ด้วยการขยายระยะเวลาการชำระหนี้ เปลี่ยนสินเชื่อจากระยะสั้นเป็นระยะยาว เลื่อนการชำระค่างวด ลดดอกเบี้ย การคิดดอกเบี้ยในอัตราที่ต่ำกว่าอัตราตลาดและกรณีลูกหนี้ได้รับผลกระทบจนเป็น NPLs ให้พิจารณาชะลอการยึดทรัพย์ และต้องจัดให้มีช่องทางหรือกลไกแก้ไขหนี้ไปด้วย
หากดูจากประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เหมือนชัดเจน แต่ปัญหามันติดอยู่ที่การสื่อสารหรือไม่ แต่มันก็น่าทำให้ตีความเป็นอย่างอื่นไปได้ เพราะคำว่า “มาตรการช่วยลูกหนี้รายย่อยที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19” นั่นหมายถึงหากโควิด-19 คลี่คลาย..มาตรการนี้ควรยกเลิกไปใช่หรือไม่
กลับมาที่ผลกระทบเชิงลบ 5 หุ้นข้างต้น เริ่มจาก 2 หุ้นบัตรเครดิตอย่าง KTC และ AEONTS ถือว่ากระทบตรง ๆ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เนื่องจากเพดานดอกเบี้ยทั้งบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลถูกปรับลงมาต่ำกว่าอัตราที่จัดเก็บกันอยู่ นั่นทำให้มาร์จิ้นลดลง..แต่ไม่ได้เลวร้ายถึงขั้นทำให้ต้องขาดทุนแต่อย่างใด
ขณะที่ 3 หุ้นไฟแนนซ์อย่าง MTC-SAWAD-SINGER พอร์ตสินเชื่อส่วนใหญ่ผูกกับสินเชื่อจำนำทะเบียนรถเป็นหลัก และแม้ปรับลดเพดานอัตราดอกเบี้ยลงมา แต่ยังถือว่าสูงกว่าอัตราเฉลี่ยที่จัดเก็บอยู่ในปัจจุบัน ดังนั้นในเชิงเซนทิเมนต์ดูเป็นเชิงลบ แต่ในเชิงปัจจัยพื้นฐานการปรับลดเพดานดอกเบี้ย..แทบไม่มีผลกระทบเลยก็ว่าได้
ปรากฏการณ์กระหน่ำขายหุ้นจากเรื่องดังกล่าว อาจดู “แพนิกเกินเหตุ” ก็ว่าได้ เพราะด้วยอัตราดอกเบี้ยขาลงเช่นนี้ ย่อมหมายถึงต้นทุนการเงินของกลุ่มนอนแบงก์ลดลงตามไปด้วย
จุดที่น่าสนใจ..จึงอยู่ที่กำลังซื้อที่หดหาย การขยายฐานลูกค้าที่หดตัว และความสามารถในการชำระหนี้ถดถอย ตรงนี้ดูจะเป็นเรื่องน่าห่วงมากกว่า เพราะนั่นบ่งบอกถึงทิศทางการเติบโตหรือถดถอยได้อย่างชัดเจน และเชื่อว่าโจทย์เหล่านี้ผู้ประกอบการแต่ละรายรู้ซึ้งเป็นอย่างดี
เพียงแต่ว่าใครจะปรับตัวหรือปลีกตัวจากความเสี่ยงนี้ได้มากน้อยกว่ากันเท่านั้นเอง..!!!