ข่าวลือเรื่องรัฐประหาร
แล้วข่าวที่นักลงทุนต่างชาติไม่ชอบก็เริ่มหนาหูมากขึ้น
พลวัตปี 2020 : วิษณุ โชลิตกุล
แล้วข่าวที่นักลงทุนต่างชาติไม่ชอบก็เริ่มหนาหูมากขึ้น
จะมีอะไรเสียอีก ก็การรัฐประหารโดยกองทัพ นั่นแหละ
ข่าวดังกล่าวเริ่มส่อเค้าความจริงมากขึ้นเมื่อ นายวันชัย สอนศิริ สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ออกมาต่อจิ๊กซอว์ให้สังคมเห็นว่า ไพ่ใบนี้อาจมีอยู่จริงในเกมการเมือง ด้วยการบอกใบ้ว่า “มันชัดเจนอยู่แล้ว ตอนนี้เท่าที่ดูและรู้อยู่ (ว่ามีแผนทำรัฐประหาร)”
เหตุผลของการที่กองทัพบกนำโดยพลเอกอภิรัชต์ คงสมพงษ์ ซึ่งกำลังจะเกษียณอายุสิ้นกันยายนนี้ จะลงมือทำรัฐประหารตามข่าวลือ คือเพื่อตัดปัญหาม็อบเยาวชนดาวกระจายไปทั่วประเทศ เกินกำลังที่ฝ่ายรัฐบาลจะหยุดยั้งได้
เรื่องดังกล่าวไม่เกินคาด เพราะเหตุผลในการทำรัฐประหารนั้นอาศัยสถานการณ์ที่มีการออกมารวมตัวชุมนุมของนักศึกษาและเยาวชน ซึ่งมีการต่อต้านอำนาจเผด็จการและสถาบันทหาร ตลอดจนมีการวิพากษ์วิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์อย่างเปิดเผยต่อหน้าสาธารณชน อีกทั้งยังประจวบเหมาะกับช่วงที่ พลเอกอภิรัชต์ออกมา เปิดหน้าด่าพวกชังชาติ ว่าเนรคุณแผ่นดิน
แม้สว.รายดังกล่าวยังโพสต์เฟซบุ๊ก กล่าวโจมตีผู้ที่คิดจะทำรัฐประหารในช่วงเวลานี้ ระวังตัวจะอยู่ไม่ได้ แต่ก็คงจะยากห้ามข่าวลือได้
คำถามคือ รัฐประหารแล้วจะมีการเสียเลือดเนื้อเยาวชนที่ออกมาต่อต้านมากน้อยเพียงใด และจะซ้ำเติมความเลวร้ายให้กับเศรษฐกิจไทยมากน้อยแค่ไหน
คำตอบคงไม่มีในความคิดของคนที่คิดและลงมือทำรัฐประหาร
สิ่งที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้นคือหากเกิดการรัฐประหารขึ้นจริง คณะรัฐประหารย่อมมีโอกาสสูญเสียความชอบธรรมได้โดยง่าย เพราะกระแสการลุกฮือขึ้นมาของเยาวชนครั้งนี้ มีความแตกต่างจากการลุกฮือของฝูงชนในอดีต
หากมองในภาพรวม การลุกฮือครั้งนี้ มีลักษณะเฉพาะที่แตกต่างจากครั้งก่อน ๆ นั่นคือ
– กลุ่มแกนนำที่เน้นหนักในกระแสนี้ ไม่มีความเชื่อมโยงกับกลุ่มเคลื่อนไหวก่อนหน้านี้
– เป้าหมายที่ชัดเจนคือการลุกฮือ มิใช่เพื่อยึดอำนาจรัฐเก่า สร้างอำนาจรัฐใหม่ แต่ต้องการท้าทายและตั้งคำถามเกี่ยวกับการใช้อภิสิทธิ์ของคนกลุ่มน้อยที่มีแนวโน้ม “ทำอะไรไม่เคยผิด” อาทิ
– คณะทหารเสวยสุขจากค่าเช่าส่วนเกินทางเศรษฐกิจอย่างไร้ยางอายไม่มีที่จบสิ้น
– กลุ่มคนจำนวนน้อยตั้งตนเป็นรัฏฐาธิปัตย์กำหนดยุทธศาสตร์ประเทศ 20 ปี โดยไม่ได้ผ่านกระบวนการคัดสรรของประชาชน
– พ่อค้ายาเสพติดเคยถูกจำคุกในต่างประเทศ ได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีร่วมรัฐบาลอย่างไร้ยางอาย
– ลูกเศรษฐีขับรถชนตำรวจตายกลางเมืองอย่างสะเทือนขวัญ มีเจ้าหน้าที่รัฐพาหนีคดีอย่างเปิดเผย ท้ายสุดสั่งไม่ฟ้อง
– เศรษฐีใหญ่ล่าสัตว์ในเขตรักษาสัตว์โดยเปิดเผย มีความผิดเพียงเล็กน้อย เทียบกับครอบครัวคนยากจนเข้าป่าเก็บเห็ดถูกลงโทษหนัก
-อดีตนายทหารระดับรองนายกรัฐมนตรีในรัฐบาล สวมนาฬิกาหรูโอ่อวดความร่ำรวย ไม่เคยถูกตรวจสอบความผิดปกติหลังจากอ้าง “ยืมเพื่อนที่ตายแล้วมาสวม”
– ผู้พิพากษา สร้างบ้านพักรับรองในเขตป่าสงวนที่เชียงใหม่อย่างอุกอาจโจ๋งครึ่มบนเนื้อที่นับร้อยไร่
– พรรคการเมืองที่สนับสนุนรัฐบาลทหารที่แอบอาศัยกระบวนการเลือกตั้งจอมปลอมสืบทอดต่ออำนาจ และนักการเมืองในพรรคเหล่านี้ ทำอะไรไม่เคยผิด ตรงข้ามกับพรรคที่คนรุ่นใหม่เลือกมาอย่างท่วมท้น ทำอะไรก็ผิดจนถึงขั้นถูกยุบพรรคด้วยข้อกล่าวหาและเหตุผลข้าง ๆ คู
– ผู้ที่คิดต่างจากคณะทหารและอำนาจรัฐเผด็จการ ถูกคุกคามเสรีภาพในหลากรูปแบบ
ท่ามกลางความมืดมนของสังคม กลุ่มเยาวชนในคราบของนักเรียน-นักศึกษา ได้เริ่มต้นท้าทายและตั้งคำถามที่ว่าทำไมพวกเขาจะต้องยอมทนรับ “แอก” ของความอยุติธรรมทางสังคมเช่นนี้ต่อไปไม่มีจบสิ้น
การลุกฮือในลักษณะ “แฟลชม็อบ” ที่มีการจัดตั้งในรูปแบบและสาระที่แตกต่างในอดีต ที่เริ่มต้นด้วยการที่พวกเขาถูกปรามาสว่าเป็น “ม็อบมุ้งมิ้ง” จนเริ่ม “จุดติด” เป็นกระแสทั่วประเทศ จนเกิดมุมมองว่ากระแสการลุกฮือที่แพร่กระจายรวดเร็วกว่าไฟลามทุ่ง กำลังจะกลายเป็น “การปฏิวัติทางสังคม” ทำนองเดียวกันกับขบวนการนักศึกษาจีน “4 พฤษภาคม ค.ศ. 1919” และ “การลุกฮือของนักศึกษาฝรั่งเศส ค.ศ. 1968”
ความสำเร็จเบื้องต้นในการลุกฮือเพื่อท้าทายและตั้งคำถามถึงการดำรงอยู่ของสังคมที่มีชนชั้นอภิสิทธิ์ที่ “ทำอะไรก็ไม่เคยผิด” ทำให้คนที่ผ่านการต่อสู้กับเผด็จการในอดีตจำนวนไม่น้อยพากันกังวลล่วงหน้าว่า ส่อเค้าว่าจะถูกปราบปรามลงในเวลาอันแสนสั้น เนื่องจากการเลือกประเด็นส่วนหนึ่ง “เปราะบางอย่างยิ่ง” โดยเฉพาะการพาดพิงถึงพระมหากษัตริย์
ถ้ากองทัพเลือกทำการรัฐประหารเป็นทางออกอย่างง่าย ๆ ก็จะมีคำถามว่ากองทัพกำลังต้องการพิทักษ์ปกป้องสังคมที่มีคนกลุ่มน้อยที่สถาปนาตนเองเสมือนเป็นชนชั้น อภิสิทธิ์ ที่ “ทำอะไรก็ไม่ผิด” ซึ่งรวมถึงการกระทำของกองทัพเองโดยปริยาย
ชนชั้นอภิสิทธิ์ไทยที่สถาปนาขึ้นมา หลังการรัฐประการ 2557 โดยคสช. ที่มีสมาชิกในสังกัดประกอบด้วยบรรดาอภิสิทธิ์ชน ทุกสาขาอาชีพ ทั้งหลายทั้งที่เป็นทางการมีกฎหมายรองรับ และไม่เป็นทางการไม่มีกฎหมายรองรับ
ชนชั้นนี้ กระจุกตัวเป็นคนกลุ่มน้อยที่ทำตัวเหนือกฎหมาย หรือเป็นคนกำหนดหรือตีความกฎหมายเสียเอง แต่มักจะอ้างเสมอว่าทุกคนอยู่ใต้บังคับของกฎหมาย
ที่สำคัญสมาชิกของชนชั้นนี้ ทำอะไรก็ไม่เคยผิด ถึงผิดในบางครั้งก็จะเกิดกระบวนการที่ทำให้ไม่ผิด หรือไม่ต้องถูกลงโทษ อย่างใดอย่างหนึ่งหรือทุกอย่าง
พฤติกรรมของชนชั้นอภิสิทธิ์ไทยล่าสุดนี้ ไม่ต่างจากพฤติกรรมของพวกพาทริอาร์คในยุคสาธารณรัฐและจักรวรรดิโรมัน กับชนชั้นซามูไรในยุคโตกุกาวะของญี่ปุ่น…ซึ่งถือว่าพ้นยุคไปแล้ว
หากการทำรัฐประหารโดยกองทัพเกิดขึ้นจริง เชื่อแน่ว่าโศกนาฏกรรมทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมครั้งมโหฬารจะต้องเกิดขึ้น ยากจะคาดเดาว่าเลวร้ายแค่ไหน
ถึงเวลานั้นอย่าถามเลยว่า ดัชนี SET จะมีแนวรับที่จุดใด…แต่ควรถามว่า เรามาถึงจุดนั้นได้อย่างไรมากกว่า