หุ้นกับภัยพิบัติ พลวัต2015
เหตุวางระเบิดโดยเจตนาใจกลางกรุงเทพฯ ต้นสัปดาห์นี้ ช่วยเตือนสติคนไทยว่า ความเสี่ยงจากภัยพิบัตินั้น มีทุกหนแห่ง และเกิดได้ทุกเมื่อ ยากจะคาดเดาล่วงหน้า
เหตุวางระเบิดโดยเจตนาใจกลางกรุงเทพฯ ต้นสัปดาห์นี้ ช่วยเตือนสติคนไทยว่า ความเสี่ยงจากภัยพิบัตินั้น มีทุกหนแห่ง และเกิดได้ทุกเมื่อ ยากจะคาดเดาล่วงหน้า
สำหรับนักลงทุนในพอร์ตโฟลิโอที่ตลาดหุ้น ระเบิดดังกล่าวไม่ว่าจะกระทำโดยใคร มีผลสะเทือนต่ออนาคตการลงทุนเก็งกำไรมากกว่าระดับปกติเสมอ
คนที่มีตำแหน่งหน้าที่รับผิดชอบ หรือส่วนได้ส่วนเสียของตลาดหุ้น จะออกมาปลอบประโลมว่า ระเบิดดังกล่าว ส่งผลเสียหายในวงจำกัด และระยะสั้นๆ ซึ่งทุกคนที่ได้ฟังย่อมรู้ว่า เป็นแค่ความพยายามปลอบขวัญนักลงทุนไม่ให้ตื่นตระหนกเฉพาะหน้า หรือพูดเพราะเคยปากแบบนกแก้วนกขุนทอง ความจริงแล้ว คนที่พูดเองก็ยังคิดหรือจินตนาการไม่ออกด้วยซ้ำว่า ผลสะเทือนที่แท้จริงเป็นเช่นใด
สถานการณ์ยามนี้ นักสถิติบางคน ถือโอกาสนำเสนอสถิติย้อนหลังมาเทียบเคียงเพื่อค้นหา และตรวจสอบความรุนแรงของภัยพิบัติแต่ละชนิดที่นักลงทุนเคยแบกรับมาแล้ว สิ่งที่จะต้องทำความเข้าใจอยู่ที่ว่า แต่ละคนรู้เรื่องภัยพิบัติดีพอหรือไม่ และรู้ถึงผลสะเทือนของภัยพิบัติแต่ละประเภทที่มีต่อตลาดมากน้อยเพียงใด เพื่อจะรู้จักปฏิบัติอย่างมีจังหวะก้าวเพื่อลดความสูญเสียของตนเองให้น้อยลง
โดยทั่วไป ธรรมชาติของภัยพิบัติ มีหลายประเภท ได้แก่
–ภัยธรรมชาติ เช่นน้ำท่วม ไฟไหม้ แผ่นดินไหว สึนามิ พายุ หรือ ภัยแล้ง
–ภัยจากความแปรปรวนหรือล่มสลายทางเศรษฐกิจ ทั้งภายใน และภายนอก
–ภัยจากความขัดแย้งทางอำนาจ (รัฐประหาร การจลาจล การประท้วง สงครามกลางเมือง และสงครามระหว่างประเทศทั้งในแบบและนอกแบบ)
–ภัยจากโรคระบาด
–ภัยจากการเปลี่ยนแปลงนโยบายรัฐ หรือของประเทศอื่นๆที่สำคัญกะทันหัน
โดยข้อเท็จจริง การพิจารณาว่าภัยชนิดใดจะสร้างความเสียหายต่อนักลงทุนหรือตลาดมากที่สุด ตั้งบนพื้นฐานว่าภัยอย่างไหนที่ทำให้เกิดความเสียหายต่อผลกำไรของธุรกิจจดทะเบียนหรือหลักทรัพย์ในตลาดมากหรือน้อย และระยะสั้นหรือระยะยาว
ภัยพิบัติแต่ละชนิด มีส่วนทำให้เกิดความเสียหายทั้งสิ้น แต่ในมุมกลับ ภัยพิบัติบางชนิด แม้จะมีความเสียหายเกิดขึ้นในระยะแรก แต่ระยะยาวกลับทำให้เกิดผลดียาวนาน การประเมินความเสียหายที่ตลาดหุ้นหรือหุ้นรายตัวจะได้รับ จึงต้องพิจารณาในรายละเอียด ดังที่มีคนเคยพูดเอาไว้นานแล้วว่า “พระเจ้าหรือปีศาจ อยู่ในรายละเอียด” นั่นเอง
ภัยธรรมชาติ และภัยอื่นๆบางอย่าง แม้ทำให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินมหาศาล แต่ทำให้รัฐบาลต้องทุ่มเททรัพยากรออกมาฟื้นฟูความเสียหาย เป็นผลดีต่อธุรกิจวัสดุและก่อสร้าง ธุรกิจการเงิน และธุรกิจบริการมหาศาล
ภัยจากโรคระบาดที่ใดก็ตาม มีส่วนทำให้เกิดนวัตกรรมใหม่ในการผลิตยาหรือนวัตกรรมอื่นทางวิทยาศาสตร์ระดับโลก นอกเหนือจากถิ่นที่เกิดโรคระบาด ช่วยมนุษย์ยกระดับสุขภาพขึ้นสู่คุณภาพใหม่
ภัยพิบัติจากการเปลี่ยนแปลงนโยบายรัฐ หรือของประเทศอื่น ที่ส่งผลกะทันหัน เช่นกรณีการลดค่าเงินหยวนของจีน หรือการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารลางสหรัฐหรือ การควบคุมปริมาณไหลเวียนของทุน (ดังที่รัฐบาลกรีซ) หรือ ยึดกิจการเอกชนเป็นของรัฐ (กรณีเวเนซุเอลา) ฯลฯ เป็นภัยพิบัติที่มีผลรุนแรงในระยะสั้น แต่ในระยะยาวจะเป็นผลดี เพราะมิได้มีเป้าหมายที่มุ่งทำลายล้างถ่ายเดียว เพียงแต่ว่าจะสามารถจะควบคุมผลข้างเคียงได้มากน้อยแค่ไหน
ภัยจากความขัดแย้งทางอำนาจ และภัยจากความแปรปรวนหรือล่มสลายทางเศรษฐกิจ ถือเป็นภัยที่ส่งผลรุนแรงต่อตลาดรุนแรงและซึมลึกมากสุด อีกทั้งเป็นการเปลี่ยนกระบวนทัศน์ของผู้คนอย่างรอบด้าน และล้ำลึก เกิดผลพวงต่อเนื่องที่ตามมาค่อนข้างมาก
ยากที่จะบอกได้ว่า ภัยจากความขัดแย้งทางอำนาจ และภัยจากความแปรปรวนหรือล่มสลายทางเศรษฐกิจ อาจจะให้ผลลัพธ์ที่รุนแรงกว่า หรือยาวนานกว่ากัน เพราะภัยทั้งสอง มักจะเชื่อมโยงซึ่งกันและกัน หรือเป็นเหตุที่มา และผลลัพธ์ต่อกันลึกซึ้ง หรือเกิดพร้อมกันแบบคู่ขนาน บางสังคม ใช้เวลายาวนาน เช่นกรณี การแตกสลายของยูโกสลาเวีย 2 ทศวรรษก่อน หรือ ยูเครนในปัจจุบัน
ประวัติศาสตร์ของตลาดทุนทุกแห่งในโลก ตอกย้ำเสมอมาว่า ไม่ว่าภัยพิบัติประเภทไหน ล้วนกระตุ้นปฏิกิริยาจากนักลงทุนแตกต่างกัน และการปรับตัวรับมือกับผลสะเทือนทางลบหรือบวก ก็มีรายละเอียดต่างกันเสมอ
ปฏิกิริยาดังกล่าว อาจะจะมีสูตรสำเร็จที่เป็นแบบแผนตายตัว ได้แก่ ในระยะเริ่มแรกที่รับข่าวสาร ตลาดจะมีแรงขายถล่มออกมารุนแรง เป็นปฏิกิริยาที่เรียกว่า “เข่ากระตุก”
หลังจากนั้น ตลาดจะเริ่มตั้งสติได้ และเกิดปฏิกิริยาตอบโต้ตรงกันข้าม มีแรงซื้อกลับเฉพาะหน้าเพื่อตอบโต้แรงขายมากเกินขนาดขึ้น แสดงออกจากการตีกลับระยะสั้น ในรูปของ “แมวตายเด้ง” (dead cat bounce) ซึ่งอาจกินเวลาวันเดียวหรือหลายวัน
พ้นจากระยะแล้ว เมื่อความอลหม่านเริ่มเจือจางลง นักลงทุนและตลาดตั้งสติได้ สามารถประเมินความเสียหาย หรือผลต่อเนื่องอย่างมีสติ จะเกิดแรงเหวี่ยงตลาดรอบใหม่ใหม่ที่ชี้ว่า ความเสียหายจะเกิดมากหรือน้อย สั้นหรือยาว
กรณีวิกฤตฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์แตกของญี่ปุ่น ที่ทำให้สังคมญี่ปุ่นอยู่ในสภาพเงินฝืดและกับดักสภาพคล่องนานกว่า 20 ปี และดัชนีนิกเกอิไม่สามารถกลับไปที่ยอดสูงสุดเดิมในอดีตได้ เป็นตัวอย่างความล้ำลึกของปัญหา
ในขณะที่ดัชนีแนสแด็กใช้เวลา 15 ปีหลังฟองสบู่ดอทคอมแตก เพื่อกลับมาทำนิวไฮใหม่ ก็เป็นตัวอย่างที่น่าศึกษาถึงการกลับมารอบใหม่หลังภัยพิบัติ
ข้อสังเกตที่ต้องย้ำคือ ไม่เคยมีตลาดหุ้นที่ใดในโลก ไม่เคยผ่านมรสุมของภัยพิบัติทุกชนิดที่กล่าวมา แต่ความสำเร็จหรือล้มเหลวของการเผชิญภัยพิบัติแต่ละอย่าง แต่ละครั้ง สะท้อนคุณภาพของตลาดแต่ละแห่งได้ดี
สำหรับตลาดหุ้นไทยในยามที่เศรษฐกิจสุ่มเสี่ยงต่อวิกฤตเงินฝืดทุกขณะ และหลังระเบิดใหญ่กลางเมือง ก็เป็นบทพิสูจน์อีกครั้งว่า จะรับมือได้ดีเพียงใด