พาราสาวะถี
ผ่านพ้นไปเรียบร้อย ไม่มีปัญหาอะไรกับการที่มีสองม็อบนัดหมายในเวลาเดียวกัน สถานที่เดียวกันคือรัฐสภา แต่เคลื่อนไหวคนละเรื่อง หรือมองอีกด้านคืออยู่ฝ่ายตรงข้ามกันอย่างชัดเจน โดยกลุ่มคณะรณรงค์เพื่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนหรือครช. นำโดย อนุสรณ์ อุณโณ อาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ไปยื่นหนังสือผ่านฝ่ายค้านเป็นร่างพระราชบัญญัติประชามติ แสดงเจตจำนงให้ยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับไม่ใช่แก้ไขรายมาตรา
อรชุน
ผ่านพ้นไปเรียบร้อย ไม่มีปัญหาอะไรกับการที่มีสองม็อบนัดหมายในเวลาเดียวกัน สถานที่เดียวกันคือรัฐสภา แต่เคลื่อนไหวคนละเรื่อง หรือมองอีกด้านคืออยู่ฝ่ายตรงข้ามกันอย่างชัดเจน โดยกลุ่มคณะรณรงค์เพื่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนหรือครช. นำโดย อนุสรณ์ อุณโณ อาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ไปยื่นหนังสือผ่านฝ่ายค้านเป็นร่างพระราชบัญญัติประชามติ แสดงเจตจำนงให้ยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับไม่ใช่แก้ไขรายมาตรา
ขณะที่อีกฝั่งคือ กลุ่มแนวร่วมปกป้องสถาบันฯ นำโดย ศูนย์กลางประสานงานนักศึกษา อาชีวะ ประชาชน ปกป้องสถาบันฯ ยื่นเรื่องต่อ ชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ผ่าน แทนคุณ จิตต์อิสระ คณะทำงานประธานสภาฯ เพื่อแสดงจุดยืนให้ดำเนินการกับกลุ่มผู้ชุมนุมบางกลุ่ม และกลุ่มคนที่จาบจ้วงล่วงละเมิดสถาบันในโลกออนไลน์ หลังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ดำเนินการอย่างจริงจังละเลยให้บานปลาย โดยย้ำว่าจะล็อกเป้าพวกที่ก้าวล่วงและจะล็อกตัวมาเจรจากัน
แม้จะเป็นการส่งสัญญาณว่า ไม่มีการปะทะ แต่การรวมตัวกันของกลุ่มดังกล่าว แม้ในการเคลื่อนไหวจะมีจำนวนไม่มาก นั่นเป็นเรื่องของหน้าฉาก หลังฉากต่างรู้กันดีว่ามีใครชักใยอยู่ แน่นอนว่าเมื่อมีการขับเคลื่อนกันในลักษณะนี้ หากฝ่ายกุมอำนาจไม่แสดงท่าทีอย่างหนึ่งอย่างใด หรือเร่งรีบจัดการปัญหาให้เกิดความชัดเจน ปลายทางเกรงว่าจะเดินไปย่ำรอยประวัติศาสตร์เหตุการณ์ตุลาเลือด เพราะรูปรอยของขบวนการจัดตั้งมันเด่นชัดเป็นอย่างยิ่ง
ส่วนทางด้านของขบวนการคนหนุ่มสาวในนามของเครือข่ายนักเรียน นิสิต นักศึกษา ก็อย่างที่ได้เตือนมาโดยตลอด ต้องเคลื่อนไหวโดยย้ำในจุดแข็งของข้อเรียกร้อง 3 ประการ หากเดินล้ำเส้นหรือเกิดเลยจากประเด็นดังกล่าว ก็จะทำให้สุ่มเสี่ยงที่จะสูญเสียความชอบธรรมได้ ภาพที่ชัดเจนคือการปราศรัยของคนที่ไม่ใช่นิสิต นักศึกษา ถ้าไม่เบรกกันก็เกรงว่าจะพากันเข้ารกเข้าพงไปเสียฉิบ อย่าลืมเป็นอันขาดว่าขบวนการสืบทอดอำนาจและเครือข่ายอำมาตยาธิปไตยนั้นอำมหิตเกินกว่าที่เห็นและเป็นไป
การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ยิ่งนานวันยิ่งเห็นชั้นเชิงและเล่ห์เหลี่ยมของฝ่ายที่ไม่อยากสูญเสียผลประโยชน์จากการมีรัฐธรรมนูญฉบับเผด็จการสืบทอดอำนาจ ซึ่งได้ย้ำไปตั้งแต่แรกแล้วว่า ทั้งคนในฝั่งรัฐบาลและซีกส.ว.จะแบ่งบทกันเล่น เพื่อทำให้สังคมเห็นว่าทุกฝ่ายในองคาพยพแห่งขบวนการอำนาจสืบทอดนั้น มีความจริงใจต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และมองเห็นปัญหาว่าต้องนำไปสู่การแก้ไข เพียงแต่ว่าจะไม่ได้เป็นไปตามที่มีผู้เรียกร้องทั้งหมด
ช็อตแรกที่เห็นและจับอาการได้ว่านี่เป็นการเล่นละคร คงเป็นกรณีของ พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์ และแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ซึ่งอีกหัวโขนหนึ่งก็คือที่ปรึกษาของท่านผู้นำ ตั้งโต๊ะแถลงข่าวร่วมกับกรรมาธิการโดยเฉพาะแกนนำสำคัญของซีกฝ่ายค้านว่า ที่ประชุมมีมติที่จะตั้งต้นแก้ไขรัฐธรรมนูญเน้นไปที่มาตรา 256 เพื่อเปิดประตูการแก้ไขให้ทำได้โดยง่าย
คล้อยหลังจากนั้น ไพบูลย์ นิติตะวัน รองหัวหน้าพรรคสืบทอดอำนาจ ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ศึกษาแก้ไขรัฐธรรมนูญ ออกมาให้สัมภาษณ์อ้างว่าคุยกับพีระพันธุ์แล้วยืนยัน คณะกรรมาธิการยังไม่มีมติเกี่ยวกับการแก้ไขในมาตรา 256 แต่อย่างใด เมื่อประมวลเข้ากับท่าทีของระดับนำในพรรคสืบทอดอำนาจที่ไม่แสดงความชัดเจนต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ด้วยการอ้างว่ารอบทสรุปจากคณะกรรมาธิการ ก็เป็นบทพิสูจน์ว่า มีความจริงใจต่อการแก้ไขหรือไม่
ฟากของผู้มีส่วนได้เสียโดยตรงอย่างส.ว.ลากตั้ง ก็ไม่ต่างกัน คำนูณ สิทธิสมาน และ วันชัย สอนศิริ พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า หนุนให้แก้ไขในประเด็นยกเลิกอำนาจส.ว.ในการร่วมโหวตเลือกนายกฯ แต่ เสรี สุวรรณภานนท์ สวนทันควันเป็นความเห็นของส.ว.ส่วนน้อย และไม่ควรจะแตะในประเด็นดังกล่าว ไม่ต่างจาก พลเดช ปิ่นประทีป ที่ประกาศกร้าว ฝ่ายเรียกร้องไม่ต้องขู่ไม่มีใครกลัวใคร ไม่ต้องมาให้ส.ว.แก้ไขโน่นนี่นั่น เพราะถึงเวลาครบ 5 ปีส.ว.ก็ต้องไปเอง
แต่ลืมไปว่า 5 ปีที่กล่าวอ้างนั้น มันเท่ากับสองสมัยหรือแปดปีของสภาที่มาจากการเลือกตั้ง หมายความว่าพวกลากตั้ง ยังสามารถที่จะร่วมโหวตเลือกนายกฯ ได้อีกหนึ่งสมัยหากรัฐบาลสืบทอดอำนาจชุดนี้อยู่ครบวาระ ก็เท่ากับว่าจะสืบทอดกันต่อไปถึงเกือบ 10 ปี และยังไม่รู้ว่าจะมีลูกเล่น ลูกไม้อะไรในการที่จะหาเศษหาเลยต่ออีกหรือไม่ ซึ่งถือเป็นเกมวัดใจ เพราะนั่นเท่ากับว่า ผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจเชื่อมั่นว่าจะสามารถแก้ปัญหาปากท้องของประชาชนได้สำเร็จ
เมื่อหันกลับมาพิจารณาข้อเท็จจริงของสิ่งที่ปรากฏก็จะพบว่า มันช่างยากเย็นแสนเข็ญเสียนี่กระไร รายทางกับเหตุที่ต้องเผชิญภายนอกก็พบว่าหนักหนาสาหัส ปัญหาภายในก็ใช่ว่าจะสงบราบเรียบ ล่าสุด เหตุเกิดที่กระทรวงแรงงาน สุชาติ ชมกลิ่น เจ้ากระทรวงเด็กในคาถา พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ต้องให้นายไปไกล่เกลี่ยเรื่องแบ่งงานกันทำกับ นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยฯ ที่ระยะหลังเด่นชัดว่าเหมือนสายตรงจากทำเนียบฯ สุดท้ายจบลงที่ใช้ห้องทำงานกันคนละตึก จนตกเป็นขี้ปากของข้าราชการกระทรวงจับกัง
สิ่งนี้ สะท้อนให้เห็นว่าแม้การปรับครม.จะเรียบร้อย ราบรื่น แต่คลื่นลมหลังจากนั้น ไม่ได้นิ่งสนิทอย่างที่คิด ก็เหมือนอย่างที่ สมศักดิ์ เทพสุทิน ฐานะนักการเมืองผู้คร่ำหวอดออกปากเตือนก่อนหน้า แม้ว่าภายหลังจะติ๊ดชึ่งโยนเป็นความผิดของนักข่าว แต่นี้คือสัจธรรมและภาพสะท้อนความเป็นก๊วน ก๊กของการเมืองทุกยุคทุกสมัย ในสถานการณ์ที่รัฐนาวากำลังเผชิญกับคลื่นลมแรง การแก่งแย่ง ชิงดีชิงเด่นยังไม่หายไปไหนคงมองออกว่าบั้นปลายสุดท้ายจะเป็นอย่างไร
หากเลือกใช้ปัจจัยเป็นตัวแก้ปัญหา ก็ไม่รู้ว่าจะต้องจบและจ่ายต้นทุนกันอีกเท่าไหร่ อย่างไรก็ตาม หากมองย้อนกลับไปยังท่วงทำนองของคนบางคนที่เคยได้ชื่อว่าเป็นผู้เคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตย แล้วสุดท้ายมาจบลงที่การหมอบราบแทบเท้าเผด็จการสืบทอดอำนาจ ก็พอจะมองเห็นได้ว่าแนวโน้มของการต่อสู้กับขบวนการต่อต้านนั้นจบเดินไปในทิศทางใด ได้แต่ภาวนาว่าอย่าให้จบลงด้วยการนองเลือดก็แล้วกัน